วงเสวนาชำแหละ!รางวัลจราจรทำให้เกิดการยัดข้อหา เสนอให้ศาลเป็นผู้ปรับสะกัดอภิสิทธิ์ชนขอใบสั่ง ชี้ด่านตรวจเพิ่มต้นทุนค่าขนส่งต้องจ่ายยิบย่อย

วงเสวนาชำแหละ!รางวัลจราจรทำให้เกิดการยัดข้อหา เสนอให้ศาลเป็นผู้ปรับสะกัดอภิสิทธิ์ชนขอใบสั่ง ชี้ด่านตรวจเพิ่มต้นทุนค่าขนส่งต้องจ่ายยิบย่อย

เพื่อนโชค

วงเสวนาเห็นพ้อง รางวัลจราจรทำให้เกิดการยัดข้อหา  พงส.ไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจให้เหมาะสมกับการกระทำผิดและฐานะของบุคคล  ตร.เป็นผู้กำหนดทั้งหมด ทั้งที่แต่ละพื้นที่เศรษฐกิจแตกต่างกัน  การปรับมากได้มาก เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดรธน. ต้องปฏิรูปให้ศาลเป็นผู้ปรับ  การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาค  ตำรวจทหาร คนรวย ต้องไม่มีอภิสิทธิ์ “ขอใบสั่ง” ได้  หรือจ่ายต่ำกว่าประชาชนคนยากจน เพียง 100 บาท!ด่านตรวจสารพัดมากมายมากเป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่ง  เพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย  ทุกวันนี้อยู่กันแบบ “สู้ไป จ่ายไป”  ถ้าไม่จ่าย จะมีปัญหาตามมามากมาย ต้องจ่ายกันยิบย่อยแม้กระทั่ง  “ค่าน้ำหยด”  รัฐไม่เคยเหลียวแลปัจจุบันหาคนขับรถบรรทุกยากเย็น เพราะเบื่อ ถูกมองเป็นผู้ร้าย ต้องจ่ายส่วยตลอดทาง!                             

 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “เพื่อนโชค” กับปัญหาตำรวจปิดกั้นถนน ตั้งด่านตรวจค้นตรวจใบขับขี่ประชาชน ทำได้เพียงใด? จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (IJR) ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) วิทยากรประกอบด้วย ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ,ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ” , นายบุญถาวร ปัญญามณีโชติ ทนายความ ,นายเกรียงไกร ไทยอ่อน (จเรโป๊งเหน่ง) ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านการตั้งด่านผิดกฎหมาย โดยร ผศ.ดร.ร.ต.อ.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ม.บูรพา อย่างไรก็ตามสตช.ไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วม  ขณะที่นายเกรียงไกร ถูกตำรวจสภ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นำตัวส่งอัยการสั่งฟ้องในคดีหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ในวันดังกล่าวพอดี จึงไม่สามารถมาร่วมได้

 

ในวงเสวนาได้ถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์ “เพื่อนโชค”บนฐานความเป็นจริงว่าใครคือผู้ถูกตำหนิและควรแก้ไขปัญหาที่จุดใด สังคมยังเข้าใจผิดอะไรอีกมากมาย  เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างอดีตตำรวจ นักวิชาการ ทนาย และตัวแทนสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย  โดยวงเสวนา ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.การขนส่งฯ เป็นอย่างมาก

 

นายบุญถาวร ปัญญามณีโชติ    ทนายความอิสระผู้มีประสบการณ์ว่าความคดีที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน กล่าวว่า    กรณี “เพื่อนโชค” ซึ่งก็คือท่านอธิบดีศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบภาค 8 มีปัญหาในการขอตรวจดูใบขับขี่ของตำรวจ มีการถ่ายคลิปไปเผยแพร่ในรายการต่างๆ  และวิพากษณ์วิจารณ์ว่าอธิบดีใช้อภิสิทธิ์  ในการบังคับใช้ กม.ของตำรวจ ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด   ถ้าไม่มีข้อใดบัญญัติให้อำนาจไว้  ตำรวจก็ทำไม่ได้  ส่วนคำถามว่าตำรวจมีอำนาจเอาคลิปไปเผยแพร่เป็นการประจานหรือไม่ กรณีนี้เอาให้เพื่อนดูแล้วไปปล่อยในกลุ่มไลน์ และสื่อเอาไปเผยแพร่ต่อ ถือเป็นการละเมิด  และผู้กระทำเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย  เหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว อธิบดีผู้พิพากษาฯ คงไม่มีเวลาอธิบายกฎหมายให้สิบตำรวจตรีเข้าใจ  จึงมีปากเสียงกันเล็กน้อย  แล้วถามว่า “ผมไปได้หรือยัง ผมเป็นเพื่อนโชค”

ถ้าตรวจพบความผิดแล้ว  ก็ต้องดำเนินคดีอธิบดีไม่มีข้อยกเว้น  แต่ตามข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีอะไร นั่นแสดงว่าไม่ได้พบการกระทำผิดที่จะขอตรวจดูใบขับขี่ได้     ทราบมาว่าทางอธิบดีเองก็ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว เรื่องการตั้งด่านนั้นก็มีปัญหาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่   ไม่มีกฎหมายฉบับใดระบุถึงการตั้งด่านไว้  จึงถามว่าตำรวจมีอำนาจตามบทกฎหมายฉบับหรือมาตราใด ประชาชนเราต้องรักษาสิทธิเรา  สิทธิเสรีภาพของประชาชนย่อมได้รับการคุ้มครองตาม รธน. ดังนั้นการตั้งด่าน ไม่ว่าจะดูในกฎหมายฉบับใด พรบ.จราจรทางบก และพรบ.ตำรวจ 2547 ก็ไม่มีบัญญัติไว้ ตำรวจปฏิบัติกันโดยไม่มีกฎหมายรองรับ

เพื่อนโชค
นายบุญถาวร ปัญญามณีโชติ

 

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล กล่าวว่า ตำรวจอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชน จะทำอะไรต้องมีกฎหมายให้อำนาจ เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม โซเซียลมีเดียก็พิพากษาแล้วว่าท่านอธิบดีผู้พิพากษาฯทำผิด แต่ถ้ามองกันลึกๆเมื่อฝุ่นจางลงมันอาจจะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ กลายเป็นว่าการที่ท่านไปเผยแพร่คลิปนั้นเป็นความผิดทั้ง พรบ.คอม และผิดทั้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรื่องนี้คงต้องดูกันต่อไป ทั้งนี้เป็นการเตือนสติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำอะไรต้องมีกฎหมายรองรับเสมอ

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  กล่าวว่า อันที่จริงการตั้งด่านบนถนนมันไม่มีในกฎหมายใดเลยไม่ว่าจะเป็น พรบ.ทางหลวง ป.วิอาญา ไม่มีทั้งนั้น   ด่านเป็นคำชาวบ้านแต่โบราณเมื่อหลายร้อยปี  เช่น ด่านสิงขร ด่านแม่ละเมา ฯลฯ คอยกักคน ตรวจคนตามชายแดน  คำว่าด่านบนถนนจึงเป็นคำที่ผิดกฎหมาย  อาจมีด่านตรวจคนเข้าเมือง ตาม พรบ.ตรวจคนเข้าเมือง หรือ พรบ.ศุลกากร  แต่ในพื้นที่ทั่วไปไม่มี  เราสร้างถนนสายแรกขึ้นมาเพียงร้อยกว่าปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 5  ชื่อถนนเจริญกรุงซึ่งไม่ทราบว่าตอนนั้นมีการตั้งด่านหรือเปล่า?

สมัยก่อนรัฐจะทำอะไรต่อประชาชนก็ได้เพราะไม่มีประชาธิปไตย   แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย พ.ศ. 2475  รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ใน มาตรา 39  ว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทาง โดยรัฐจะจำกัดเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อย               ต่อมา ป.วิ อาญา มาตรา 93  ได้บัญญัติให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจตรวจค้นบุคคลในที่สาธารณะได้เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง ต่อมาการตรวจค้นคนและรถยนต์บนถนนกับมันปนกันไปหมดระหว่างการใช้อำนาจตาม ป.วิอาญา กับกฎหมายจราจร  มีการปิดกั้นถนน ไปขอดูใบขับขี่มันกระทบกับคนส่วนใหญ่   ในกรณีเพื่อนโชคทำให้คนเข้าใจผิดว่าตำรวจมีอำนาจขอตรวจใบขับขี่โดยไม่ได้มีเหตุกระทำผิดกฎหมายอะไร

นอกจากนั้น คำว่าเหตุควรสงสัยตาม ป.วิ อาญา  ต้องมาจากการกระทำที่เกิดขึ้น  ไม่ใช่ตำรวจนึกคิดเอาเอง   เช่นเห็นว่าคนๆ นั้นมีลายสักเต็มตัว หรือตัวผอม  จะอ้างว่าเป็นเหตุอันควรสงสัยไม่ได้  รวมทั้งการขอตรวจใบขับขี่ก็ต้องมีเหตุทำผิดกฎหมายจราจรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเท่านั้น  จะขอดูเพื่อประดับความรู้หรืออ้างเพื่อป้องกันอาชญากรรมไม่ได้    ส่วนประชาชนคนใดจะสละสิทธิยอมทำตามหรือให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจโดยมิชอบนั้นก็เป็นอีกเรื่องนึง และอำนาจในการตรวจก็ไม่เกี่ยวกับยศ  จ่าดาบหรือนายสิบก็ขอตรวจตรวจได้ทุกคน  หากมีเหตุอันควรสงสัย  ส่วนการขอดูใบขับขี่ คนจะมีอำนาจก็คือคนเป็นเจ้าพนักงานจราจรและเมื่อการกระทำผิดกฎหมายจราจราแล้วเท่านั้น  และมีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบ

เพื่อนโชค
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ทางหลวงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตของประเทศ  ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เดินทางสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย  มีการบัญญัติ พรบ.ทางหลวง พ.ศ. 2535  ที่มีโทษสูง มาตรา  39  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ทาง  โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินซึ่งคืออธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้รับมอบอำนาจ   ตามกฎหมายตำรวจจึงไม่สามารถเอากรวยหรือแผงเหล็กอะไรมาวางขวางกั้นถนนได้   ปัญหาดังกล่าว  จะเห็นได้ชัดเมื่อมีเหตุรถชนกัน  ขอถามว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ  คงไม่พ้นตำรวจคนที่นำสิ่งกีดขวางนั้นมาวาง  ส่วนผู้บังคับบัญชาคนที่สั่งให้ตั้งด่านคอยรับส่วนแบ่งเงินค่าปรับก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร  ผมแปลกใจมากว่าอธิบดีกรมทางหลวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมปล่อยให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมายแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  เพราะในความเป็นจริงเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมากมาย  เช่นถนนมิตรภาพสี่ช่องทาง ถูกปิดกั้นเหลือสองหรือหนึ่งช่อง  เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือM

กรณีเพื่อนโชคนั้น  ถ้าไม่พูดถึงความเป็นอธิบดีผู้พิพากษา หรือเป็นเพื่อนโชคก็คงไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น แม้แต่จจริยธรรมตุลาการ   ถ้าอธิบดีถามว่า คุณมีอำนาจอะไรมาขอตรวจใบขับขี่ ผมได้ทำผิดอะไร จะดีกว่ามาก  หากตำรวจจะบอกว่าเขามีอำนาจเต็ม  ก็ควรจะพูดว่าคุณไม่มีอำนาจนะ เพราะผมไม่ได้ทำผิดกฎหมายจราจรอะไร  แล้วขอขับรถออกไป แต่ประชาชนส่วนใหญ่เมื่อถูกเรียกตรวจขอดู  ก็จะตกใจ  ควักใบขับขี่ให้ไป เพื่อจะได้รีบไป ถ้าคิดกันแบบนี้ก็เป็นขี้ข้าเป็นเบี้ยล่างเขาไปเรื่อยๆ

 

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  กล่าวว่า ปกติคำว่าด่านมันมีการละเมิดสิทธิอยู่ในตัวของมันเอง อันที่จริงมีคำว่าด่านอยู่ใน พรบ.การทางพิเศษ มีด่านเก็บตั้งระหว่างเมืองแต่นอกจากนั้นก็ไม่มี    ในต่างประเทศเช่นมาเลเซียตำรวจขี้เกียจมากไม่ตั้งด่านเลย แต่ในหลายเส้นทางของไทยตั้งด่านถี่มากโดยเฉพาะตอนกลางคืนยิ่งขยันตั้งด่าน แต่ก็มีวาทะกรรมที่แย้งมาว่าถ้าไม่มีด่านก็จะมีผู้ร้ายเต็มเมืองนะ หรือเราให้ตำรวจดูใบขับขี่แค่นี้จะเป็นอะไรไป แต่เราต้องรู้จักใช้สิทธิเพื่อให้สังคมมันมีดุลยภาพมันเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

ดร.ทองอยู่ คงขันธ์   ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของผู้ประกอบการขนส่งทั่วประเทศในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ ยอมรับว่าเรื่องอะไรๆก็มาตกที่ประชาชนและผู้ประกอบการหมด  โดยหลักการเราต้องรู้กฎหมายเพราะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว   แต่เราไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายเรื่อง ผู้ประกอบการรถบรรทุกมีกว่าสี่แสนราย มีรถเป็นล้านๆคันเป็นการอยู่ในคนหมู่มาก มีทั้งคนที่ทำผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย  เราถูกบังคับใช้กฎหมายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหลากหลายมาก เราไม่เข้าใจเรื่องการตั้งด่าน เราได้รับผลกระทบ ตอนนี้เราพนักงานขับรถ logistic ก็หายไปสี่แสนกว่าราย เราขาดแคลนคนขับรถ เราอยากได้ smart drivers แต่ก็หายาก หลายคนเบื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ต้องสู้ไป จ่ายส่วยไป  ถ้าเราไม่จ่ายก็อยู่ไม่ได้

เพื่อนโชค
ดร.ทองอยู่ คงขันธ์

เป็นการจ่ายเพื่อความสะดวก ต้องการความปลอดภัย หรือการคุ้มครอง ปัจจุบันการตั้งด่านมีผลกระทบกับผู้ประกอบการสูง มีการตั้งด่านซ้ำซ้อน มีด่านมั่นคง ด่านแอลกอฮอล์ ด่านสิ่งแวดล้อมควันดำ  การจ่ายเงินด่านทำให้เกิดต้นทุนแฝงในภาคการขนส่งLogistic เมื่อการแข่งขันแบบนี้มีต้นทุนสูง ก็ทำให้มีการขาดทุน เมื่อเรามีสหพันธ์และสมาคมร่วมมือกันทั้งประเทศ ก็มีการลงนาม MOU เต็มไปหมด กับกระทรวงคมนาคม และอีก 17 หน่วยงาน แต่เรายังไม่เห็นความร่วมมือภาครัฐ ยังไม่มีความเป็นธรรม  กฎหมายก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 14 และ 15 ปี 2561 ให้ติด GPS เริ่มจากรถบรรทุกโดยสาร มาเป็นป้ายเหลืองแล้วป้ายดำ

รถบรรทุกมันวิ่งได้ไม่เกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง เราต้องมาคุยเรื่องการติด GPS กันใหม่ ต้องทบทวนการตั้งรางวัลนำจับการตรวจจับความเร็ว มันมีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน การตั้งระบบ GPS เพื่อให้การบริหารขนส่ง มีประสิทธิภาพ แต่ GPS ก็กลายเป็นสิ่งที่หันมาทำลายเราเอง และการตัดแต้ม ตัดคะแนน ที่ใช้ดุลยพินิจ ยึดใบอนุญาต ใบขับขี่ตลอดชีวิต ผมว่ามันแรงไป

การตั้งด่านมากมายทำให้เกิดค่าใช้จ่าย รถต้องเบรก ต้องชะลอ เกิดมลภาวะ เบรกสึกหรอ และต้องใช้เวลา แค่ตั้งสองด่านก็ทำให้รถใช้เวลาเดินทางมากขึ้นกว่าจะตรวจเสร็จ รถใหญ่ๆกว่าจะเคลื่อนตัวออกจากแต่ละด่านล้วนใช้เวลาทั้งสิ้น การตั้งด่านบนทางหลวงมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ทำให้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในเรื่องอุบัติจราขจรประสบความสำเร็จ

การต่อใบอนุญาตใบขับขี่รถบรรทุกก็ไม่ง่าย ล่าช้า  มีการตรวจประวัติอาชญากรรมผู้ประกอบการ หรือคนขับ รถพวกนี้ต้องต่อใบอนุญาตตลอด และเรื่องไปกั๊กอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอีก อีกเรื่องหนึ่งคือการไม่เคยได้รับการอบรมจากภาครัฐ มันก็จะทำให้คนหายไปเรื่อยๆ เมื่อมีกฎหมายแรงขึ้นทำให้มีระบบส่วยตามมา เราพยายามแก้ไข ส่วยทางหลวง ส่วยท่าเรือคลองเตยเป็นต้น

เมื่อเราจะใช้ระบบอีเลกโทรนิกส์ การตั้งด่านต้องเลิก ทุกวันนี้เงินค่าปรับก็เข้าหลวงไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การปรับที่นำเงินส่วนหนึ่งไปเป็นรางวัลการจับก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน  ปรับมากก็ได้มาก  เป็นการสร้างแรงจูงใจในการจับโดยหวังส่วนแบ่งค่าปรับ  ปรับมากได้มาก   ในต่างประเทศไม่มีแบบนี้

 

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  กล่าวว่า น่าสนใจว่าต้นทุนแฝงทำให้ภาระไปตกอยู่ที่ประชาชน ปัญหาที่ตามมาก็คือความไม่เท่าเทียมมันมาจากแรงจูงใจที่มีรางวัลนำจับ ถ้าเป็นผมออกระเบียบเองก็จะให้มีรางวัลนำจับเยอะๆมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพราะเป็นผลประโยชน์ที่สำนักงานไหนที่ออกระเบียบในการตัดแต้ม ในการนำจับ ออกใบอนุญาตบ่อยๆ ก็จะได้ประโยชน์มาก

ดร.ทองอยู่   กล่าวว่า อำนาจในเรื่องการตรวจสอบประวัติ กรมการขนส่งไม่มีฐานข้อมูล มีแต่ใบขับขี่ของทุกคน ประวัติมันอยู่ที่ สตช.เมื่อทำกันเรื่อยมาก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เวลาจะต่อใบอนุญาตขับขี่ต้องไปที่ สตช.ด้วย มีค่าธรรมเนียม 200 บาท

 

ดร.วิเชียร  กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า    ดังนั้นเมื่อมี 3 ล้านคนคูณ 200 บาทก็จะได้ 600 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มาก ไม่ทราบว่ามันหายไปไหน เพราะในที่สุดก็ไปลงกับประชาชนกลายเป็นต้นทุน logistic  และการเซ็น MoU ยิ่งเซ็นมากก็ยิ่งยุ่งมาก ไม่เซ็นเลยจะดีกว่า และเมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้วก็น่าจะทำให้เป็นระบบออนไลน์ได้ดีขึ้น และที่น่าสนใจอีกเรื่องคือเราหาคนขับรถยากขึ้น

 

ดร.ทองอยู่  กล่าวอีกว่า คือคนที่จะขับรถ 8 ล้อได้ 10 ล้อ 14 ล้อได้มันต้องมีความชำนาญเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ง่ายๆ แต่คนพวกนี้หายไปเพราะถูกคำพิพากษาตาม พรบ.ทางหลวงหรือ พรบ.รถยนต์ เมื่อโดนความผิดแล้วรอลงอาญา พวกเขาก็ไม่กล้าขับและกลัวการทำผิดซ้ำ ที่ต้องโดนเพิ่มโทษสองในสามเขาก็ไม่อยากขับ ประการที่สองพวกนี้ไม่อยากทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจอตั้งด่านมากๆ ไม่อยากเจอ พรบ.ต่างๆ ไม่มีสิ่งจูงใจ และประการสุดท้ายพวกเขาอยากทำงานอิสระ ขับวินมอเตอร์ไซด์ กลับบ้านเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ดีกว่า ปัญหาคือทุกวันนี้รถบรรทุกเพิ่มขึ้นแต่คนในระบบมันไม่เพิ่ม และกฎหมายขับ 4 ชั่วโมงพักครึ่งชั่วโมงตาม พรบ.แรงงาน ถ้าขับเกินต้องมีข้อตกลง มันไม่มีแรงจูงใจ  ยิ่งถ้าเจอการตั้งด่าน การส่องกล้องก็ไม่ต้องพูดถึง

 

เพื่อนโชค

ช่วงท้าย นายบุญถาวร กล่าวว่า เรื่อง พรบ.จราจรทางบกฉบับใหม่ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากขึ้นนั้น  หลังจากการเลือกตั้งก็มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพิ่มเติมเข้าไปจากที่เป็นเจ้าหน้าที่ ก็แก้ใหม่ให้เป็นตำรวจ มีอำนาจในการเรียกดูใบขับขี่ได้เลยตามมาตรา 31/1 เป็นเรื่องที่ทุกคนวิตกคือการกำหนดความเร็วที่ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิ คนที่ขับรถความเร็วสูงไม่สามารถชี้แจงว่าเหตุใดจึงขับเร็ว และอาจจะถูกยึดใบขับขี่ได้อย่างง่ายดาย จากนี้ไปจะเกิดอะไรหากตำรวจต้องการทำยอด ในช่วงที่เร่งรีบ จะจับเท่าไหร่ก็ได้ ควรแก้ไขใหม่ให้ขับได้เร็วขึ้น ไม่ควรกำหนดอัตราความเร็วที่ต่ำห้ามเกิน 90 กม.ต่อชั่วโมงมันล้าสมัยเดี๋ยวนี้ถนนดีขึ้นแล้ว สะดวกแล้ว กำหนดแบบเดิมวิ่งกี่ชั่วโมงจากหนองคายถึงจะถึงกรุงเทพฯ เสียน้ำมันไปเท่าไหร่ และวิ่งสี่ชั่วโมงพักครึ่งชั่วโมง และตอนนี้มีการตรวจจับด้วยเครื่องอีเล็กทรอนิกส์ โต้แย้งไม่ได้ อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่เจ้าพนักงาน คำสั่งอุทธรณ์ถือว่าสิ้นสุด ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิอย่างยิ่ง เราต้องกลับไปดูรัฐธรรมนูญตามมาตราที่ 8 ระบุชัดเจนเรื่องบุคคลต้องมีสิทธิเสรีภาพในร่างกาย และทรัพย์สิน การค้นต้องมีหมายค้น

 

ดังนั้นต้องยกรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมาเปรียบเทียบแก้ไข  ถ้าผู้ประกอบยังนิ่งเฉยก็ยิ่งทำให้ไม่มีใครอยากจะขับรถให้ เพราะกลัวการใช้กฎหมายเผด็จการ ประชาชนส่วนมากไม่รู้ แต่เมื่อประกาศแล้วจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้  ผู้ประกอบการต้องรวมตัวกันคัดค้าน ยื่นคำร้องต่อนายกฯให้แก้ไข ไม่เช่นนั้นคนขับรถต้องจ่ายเงินถึง 500 ถึง 1000  บาทต่อหนึ่งใบสั่ง (ไม่ใช่ 200 บาทอีกต่อไป) เราต้องร่วมลงชื่อห้าหมื่นชื่อยื่นแก้ไข เราไม่ได้ต่อต้านกฎหมาย แต่เป็นการหาทางออกเพื่อคุ้มครองสิทธิร่วมกัน และอยากจะบอกว่าใบสั่งที่ออกมาทั้งหมดควรถือว่าเป็นโมฆะ หากให้มีคำสั่ง 22 กันยายน 2562 ออกมาใช้แล้ว

 

ดร.วิเชียร กล่าวว่า  กฎหมายฉบับนี้ผ่านสนช.เรียบร้อยแล้ว ขอยกตัวอย่างเมืองนอกที่กำหนดความเร็วแปรสภาพตามวิศวกรรมจราจร บางช่วง 130 บางช่วง 110 กำหนดไว้ไม่เท่ากัน ที่เยอรมันไม่ได้กำหนด แต่ถ้ากำหนดไว้ที่ 90 มันน้อยไป ทำให้ได้ปรับกันมากมายได้เงินทุกวัน แต่ยังไม่เห็น พรบ.ฉบับใหม่พูดถึงการยกเลิกรางวับนำจับ

 

พ.ต.อ.วิรุตม์    กล่าวว่า ขอเรียนว่า กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมที่สุดก็คือกฎหมายจราจร  ไม่เป็นธรรมในหลายมิติ การมีรางวัลการจับมันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์  มีสาเหตุมาจาก ปัญหาตำรวจไม่รักษากฎหมายเลยต้องมีรางวัลการจับ   การให้สินบน   ระยะแรกบางสถานีเบิกเงินทั้งสองแบบได้เงินเดือนละเป็นล้านบาทก็มี เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างยิ่ง  ทำให้มีการแจ้งข้อหาเกินจริง  ไม่มีการว่ากล่าวตักเตือนเพราะเจ้านายไม่ชอบ

ในความเป็นจริงตำรวจผู้น้อยจะได้รางวัลนำจับน้อยไม่เกินเดือนหนึ่งหมื่น  ส่วนใหญ่ได้ประมาณ 5000 บาท  ในทางพฤตินัย  ผู้กำกับจะได้มากที่สุดทั้งที่ไม่มีสิทธิได้   ให้เฉพาะผู้ปฏิบัติงาน ตำรวจผู้น้อยนั้นไม่อยากตั้งด่าน  แต่เป็นความต้องการของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ การตั้งด่านจะทำให้ตำรวจมีอำนาจและอิทธิพล  จะเรียกรถคันไหนตรวจหรือขอดูใบขับขี่ใครก็ได้   เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนที่เสียค่าปรับส่วนใหญ่มักเป็นพลเมืองดี  คนจนๆ ต้องจ่ายตามที่กำหนดเป็นพันบาท ส่วนพลเมืองร้าย  คนมีเส้นสายมีอิทธิพลไม่ไปจ่าย  นักข่าว ญาติพี่น้อง แฟนตำรวจจ่ายในราคาพิเศษร้อยบาทเป็นที่รู้กัน                ต้องเข้าใจว่าคนทำผิดกฎหมายจราจรไม่ใช่คนชั่วเป็นอาชญากร  ทุกคนทำผิดได้ทั้งนั้น บางครั้งก็ไม่มีเจตนา  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้

การมีเรื่องรางวัลจากการจับและปรับ  ทำให้ตำรวจ ไม่อยากว่ากล่าวตักเตือน เพราะมันไม่ได้เงิน  ต่อไปควรใช้ AI ให้หมด  เพราะซื่อสัตย์ดี  ไม่ต้องใช้คนเพราะมักขี้โกง  แม้กระทั่งใช้เทคโนโลยีแล้ว ในความเป็นจริงก็สามารถลบข้อมูลหรือคัดออกทำเพิกเฉยได้                  ถ้าจะทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์และกำหนดโทษปรับสูง  ก็ต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคต่อทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นลูกนายก คนใหญ่คนโต  ตำรวจทหาร ก็ต้องโดนปรับอัตราเท่ากันกับประชาชน   พฤติกรรมที่เรียกกันว่า “ขอใบสั่ง” หรือการลบข้อมูลต้องกระทำไม่ได้

งานจราจรแท้จริงไม่ใช้งานของตำรวจผู้มีหน้าป้องกันอาชญากรรม  อาจเรียกว่าเป็นงานลูกเสือก็ได้  ไม่ต้องมีการฝึกหลักสูตรสารพัดแบบตำรวจ ฝึกแม้แต่การกระโดดร่ม  แล้วมาเป็นเจ้าพนักงานจราจรโบกรถรถเขียนใบสั่ง  ฝึกกันไปให้เสียเวลาและไม่สอดคล้องจำเป็นต่อการทำงานทำไม?                 การปรับทุกวันนี้ พนักงานสอบสวนไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชจนได้  มีคำสั่งจากส่วนกลางให้ปรับอัตราเดียวกันทั่วประเทศ  ปรับเด็กขี่รถไปโรงเรียน ปรับคนจน เท่ากับคนรวย  เช่นชาวนาจังหวัดยโสธรถูกปรับในอัตราเดียวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือเศรษฐีในจังหวัดภูเก็ตหรืออาจจ่ายต่ำกว่าด้วยซ้ำ  เพราะรู้จักตำรวจ

นอกจากนั้น  ในต่างจังหวัดชนบท  หลายตำบลหมู่บ้าน ไม่มีรถประจำทาง  พ่อแม่ก็ต้องซื้อรถจักรยานยนตร์ให้ลูก เด็กอายุ 14 ปีเดินไปก็ไม่ปลอดภัย เด็กหญิงอาจถูกข่มขืน หากเอากฎหมายจราจรไปจับมากๆ เด็กจะไปโรงเรียนกันอย่างไร  ต้องคิดด้วย น่าสงสารคนจน  การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เหมาะสมกับพฤติการณ์กระทำผิดและเศรษฐกิจและเหตุผลความเป็นของแต่ละบุคคลจึงมีความสำคัญ  ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการใช้อำนาจควบคุม

 

ดร. ทองอยู่   กล่าวว่า การใช้ พรบ.ฉบับใหม่ จะทำให้เกิด รถติด  เพราะมันต้องทำความเร็ว พวก express จะตายกันหมด และจะ  เกิดภาวะชะงักงัน เด็กมอเตอร์ไซด์ที่อยู่ต่างจังหวัดไม่มีใบขับขี่ ทำให้ไม่มีฐานข้อมูล และก็วิ่งเร็วกันเหมือนเดิม   เมื่อยึดใบอนุญาตขับขี่ ก็จะขึ้นไปขับรถบรรทุกไม่ได้  เมื่อยึดไปตัดแต้มด้วยทำให้เราไม่รู้สถานะของรถเรา แล้วหากคนขับลาออก ทำให้ต่อภาษีไม่ได้ ต้องจ่ายค่าปรับ ทำให้เกิดปัญหามากมาย ดังนั้นหลังจากนี้ก็จะโดนปรับกันหมด และเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 142/8 ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออก ให้ไปที่ รมต.คมนาคม ทำให้ไม่ต้องทำอะไร บางมาตราในกฎหมายจราจรฉบับใหม่ (มีผลบังคับใช้ 22 กันยา 2562)  เป็นการใช้ยาแรง ให้อำนาจของ ผบ.ตร บางมาตราเป็นอำนาจของอธิบดีกรมทางหลวง การตัดแต้มจะมาจากข้อมูลของตำรวจเท่านั้น ที่น่ากลัวมากคือมาตรา 15 วรรคท้ายที่บอกว่าถ้าไม่มาเสียค่าปรับภายใน 30 วันจะโดนปรับ 5 เท่า ยิ่งมีรถมากก็จะเสียมาก

 

ในช่วงเปิดให้แสดงความเห็นผู้เข้าร่วมเสวนา จากกาญจนบุรี กล่าวว่า ในกฎหมายใหม่จะเห็นว่าค่าปรับจะเป็นปัญหาหนักมาก  มันน่าจะมีให้ยื่นถึงฎีกาที่ประชาชนควรจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ผมเห็นว่าโลกโซเซียลด่าอธิบดีเพื่อนโชคหนักเกินไป รับไม่ได้ แต่ก็ดีใจที่มี พรบ.การลงโทษหนักขึ้น เราต้องช่วยกันให้มีการแก้ปัญหา

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวว่า การกระทำที่ทำให้เกิดการกีดขวางเราไปฟ้องเองไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อเราไปแจ้งความ คนที่สอบเรื่องแจ้งความมันก็คือพวกเดียวกัน  มันจะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุ  ฟ้องอาญา ฟ้องแพ่ง แต่คนไทยส่วนใหญ่มักไม่เอาเป็นธุระ มีการกล่อม ขอโทษ ไม่ให้มีเรื่อง

เพื่อนโชค
นายอภิชาต ไพรรุ่งเรือง

นายอภิชาต ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประกอบการรถบรรทุก กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ เรื่องของเพื่อนโชค เราไม่ทราบว่ามันมีการยั่วยุอะไรก่อนหน้านั้น แล้วนายมีนายมาตาสีตาสายิ่งไม่ต้องพูดถึงในอดีตตำรวจไม่มีส่วนแบ่ง มันเกิดมาจากพวกผมที่ไปร้อง ผบ.ตร.ไปร้องให้ตำรวจที่ไม่พอกิน ตำรวจเลยไปกล้าตายออกไปโบกรถให้หยุด ใครจะหยุดได้ขนาดนั้น เรื่องควันดำ เราจะเห็นว่าเครื่องตรวจมันไม่มีประสิทธิภาพ ไส้กรองมันเป็นของจีนไม่มีคุณภาพ ตรวจกี่ครั้งก็เกินหมด ที่บางบอนและเทียนทะเลมักมีการตั้งด่านตรวจควันดำ เพราะรถมันจอดที่นั่นทั้งหมด ที่พระรามสอง

การให้เราออกไปต่อสู้ดังที่เคยปิดถนนที่บางนาตราด ประท้วงให้รถที่ออกจาก กทม. ตร.มันจะตั้งด่านทำไม ทำให้มลพิษเกิดขึ้นมากมาย  ถ้ารัฐสามารถผลิตน้ำมันยูโร 5 ได้เมื่อไหร่ผมจึงจะซื้อใช้  น้ำมันเราก็แพง    ตลอดเวลา 5 ปี รัฐบาลไม่เคยเชิญพวกเรา รถบรรทุกทราย ไปพูดเลย เราต้องการทำถูกกฎหมาย  แต่ก็ต้องคอยเคลียร์น้ำหยด ที่น้ำมันหยด

ผมทำเรื่องนี้มา 22   ปีแล้ว แต่ทำไปแล้วก็กลายเป็นผู้กระทำผิด ตอนนี้ต้องไปเคลียร์  เราต้องซื้อสติ๊กเกอร์ 4000   ต่อเดือน  ถ้า คป.ตร.ทำให้กฎหมายมันไม่เลือกปฏิบัติ นายก รมต.ต้องการให้จีนมีทัวร์เข้าไทยแต่ต้องไปเจอด่านมากมาย จะทำอย่างไร  จะให้สู้อย่างท่านเกรียงไกร ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว  เราทำต้องลงไปสู้ที่ถนน ส่วนเรื่องที่ต้องมี  safety belt ก็เช่นกัน เป็นเรื่องหากินของ ตร. เราก่อตั้งสมาคมขึ้นมา เพราะอยากทำเรื่องที่ถูกกฎหมาย  เราทำเพื่อส่วนรวมแม้กระทั่วรถพวกผมเป็นล้านคันหยุดให้คนไปเที่ยวในเทศกาลต่างๆอย่างสะดวก

ดังนั้นถ้าจะทำอะไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย คป.ตร.ต้องฟังพวกผม เพราะเราพยายามทำถูกต้องกฎหมาย แต่ตำรวจบอกว่า ถ้ามึงไม่เคลียร์กับกู มืงก็ไม่ต้องวิ่ง  ผมก็ทำจริงและไม่กลัว เพราะเราทำในสิ่งที่มีกฎหมายรองรับอยู่  เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ทำดี ส่วนที่ไม่ดีต้องขจัดออกไป

 

นายสุรพล จันทร์ประภานนท์  กรรมการบริหารสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า   ตอนนี้จ่า ดาบทั้งหลายจะออกโรง แต่จะส่งพวกร้อนวิชามาตั้งด่าน ยืนผึ่ง ออกแรงกัน บางทีเราต้องพูดถึงหน่วยงานของรัฐด้วย  วิ่งมาจากทางไกลต้องเจอหลายสิบด่าน เส้นทางสายเอเชียซึ่งไม่มี ควรมีศาลจราจร ให้ไปรับสารภาพกับศาล จะได้เจอปรับกระทงเดียว เงินเข้ารัฐ  แต่ ตร.ตอนนี้ไม่ได้นำเงินค่านำจับเข้ารัฐทั้งหมดมีการแบ่ง 70:30, 80:20  การปรับอาจใช้ดุลอำนาจได้ คนที่มาจากกาฬสินธุ์เข้า กทม.บางทีไม่รู้เส้นทาง และมีเงินน้อย 800 บาท ถ้าศาลเห็นมีเงินน้อยก็อาจจะปรับแค่ 100 หรือ 200 บาท

เพื่อนโชค
นายสุรพล จันทร์ประภานนท์

นายพีระพัชร์ จิระวัฒนเอก นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พวกผมเจอปัญหาจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ขนส่งมากมาย เมื่อกฎหมายออกมาใช้แล้ว เราจะร่วมลงชื่อห้าหมื่นชื่อเพื่อแก้ไขได้อย่างไร  เราได้รับการอบรมว่าจะขับอย่างไรให้ปลอดภัย ให้ประหยัด แต่อาจารย์วิเชียรจะมีการเปิดให้มีการอบรม

 

นายบุญถาวร กล่าวสรุปว่า  ตอนนี้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 120 วัน มาตรา 15 ให้ยกเลิกกฎหมายเก่าทั้งหมด ถ้าไม่ไปเสียค่าปรับก็จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 5 เท่า เมื่อพนักงานกลัวเจ้านายดุก็จะลาออกไปเลย อันที่จริงน่าจะมีการใช้ประชาพิจารณ์ก่อน แต่ ณ วันนี้เรายังไม่มีรัฐบาลใหม่ เราก็ต้องทำการคัดค้านไม่ให้มันถึง 120 วัน ถ้าโดนวันนึง 10 ใบคูณ 2500 บาท ก็ต้องจ่าย 25000 บาท ผมจะเป็นคนร่างให้ และเป็นคนนำพาไปร้องเรียน การรวบรวมรายชื่อทำได้ไม่ยาก

 

ดร.วิเชียร  กล่าวว่า น่าจะมีนักการเมืองพูดเรื่องนี้ก่อนการหาเสียง แต่ไม่มีเลย  แต่ผมรู้สึกว่าคนมองคนที่ขับรถใหญ่เป็นคนไม่ดี มักคิดว่าเป็นพวกติดยาเสพติด เป็นภาพลบ  1 เปอร์เซ็นต์เป็น smart truck drivers ที่เหลือเป็น killers หรือเปล่า  ถ้าจะให้มีโรงเรียนฝึกวิชาชีพคือฝึก skill ที่คณะผมมีการเรียน logistic เพราะมันเป็น wisdom ถ้าจะให้เป็น skill รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นภาระ ไม่เช่นนั้นอีกสิบปีจะไม่มีคนขับรถบรรทุกแล้ว  ต้องทำให้คนเปลี่ยนทัศนคติให้คนขับรถใหญ่มีเกียรติ ฐานะดี มีความสัมพันธ์ต่อธุรกิจ  มีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน

 

ดร.ทองอยู่  กล่าวว่า ความจริงเรามีมหาวิทยาลัยศรีปทุม และธัญญบุรีที่มีการศึกษาเรื่องนี้ แต่คนไทยต้องตระหนักอีก 20 ปีข้างหน้าเมื่อเราเป็นผู้สูงวัยเราจะไม่มีคนขับรถ ที่เกาหลีเขามีการกำหนดให้คนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปขับรถขนคนเรามีการผลิต smart drivers ทำให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงยั่งยืน และเปลี่ยนฐานะคนขับเป็น controllersเราต้องยับยั้ง พรบ.จราจรฉบับนี้ สำคัญมาก ต้องมาสังคายนา กฎหมายฉบับนี้กันอีกครั้ง   ประการสุดท้ายให้ยกเลิกสินบนรางวัลนำจับ ส่วนใบสั่งที่ค้างอยู่ล้านกว่าใบต้องไม่เข้ากฎหมายใหม่

 

พ.ต.วิรุตม์  กล่าวทิ้งท้ายว่า กฎหมายออกมาโดย สนช.เพื่อให้สภาออกมาฟอก ทั้งที่สภามาจากการแต่งตั้ง การสะท้อนปัญหาจากประชาชนจึงไม่เกิดขึ้น ห้าปีที่ผ่านมาปัญหาต่างๆถูกกลบ แล้ว คสช.ก็ไปเพิ่มอำนาจให้ตำรวจ หลายฉบับก็ออกมาโดยตำรวจ เราควรตั้งโจทย์ให้เขาเข้าใจว่าการบังคับใช้ต้องสุจริต เที่ยงธรรม เพราะต่อไปนี้กฎหมายจะเล่นงานคนที่ไม่ไปเสียค่าปรับไม่เสียภาษี ซึ่งจะทำให้เราต่อทะเบียนไม่ได้  ต่อไปใครเอารถเราไปใช้ต้องแจ้งภายใน 30 วัน   รถตำรวจที่ใช้ฉุกเฉินต้องเปิดไฟกระพริบไประงับเหตุ เพราะเขาไม่ต้องให้รู้ว่าเหตุเกิน รถนำก็ไม่ใช่รถฉุกเฉิน รถผู้กำกับส่งเมียก็ไม่ใช่รถฉุกเฉิน

เราต้องเรียกร้องศาลจราจร  และยกเลิกรางวัลนำจับ  ทำไมตอนแก้ไข พรบ.ไม่แก้เรื่องนี้   การปฏิรูปตำรวจก็ไม่ทำเพราะมันเสียผลประโยชน์   ผมขอถือว่าประเทศไทยไม่ใช่อุดมปัญญา แต่เป็นสังคมอุดมด่าน บางจังหวัดต้องเรียกว่า ด่านอุดม ได้เลย แล้วรถบรรทุกหนักก็วิ่งอยู่ทุกวัน

เพื่อนโชค