5ปีปฏิรูปตำรวจล้มเหลว!วงเสวนาผิดหวังร่างกฎหมายเวียนไปฟังตร.อีกซัด’ตู่-ป้อม’ไม่อยากทำสุดท้ายรอรัฐบาลหน้า

5ปีปฏิรูปตำรวจล้มเหลว!วงเสวนาผิดหวังร่างกฎหมายเวียนไปฟังตร.อีกซัด’ตู่-ป้อม’ไม่อยากทำสุดท้ายรอรัฐบาลหน้า

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “เกือบ 5 ปี กฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน “ลุงตู่” ซุกไว้ที่ไหน จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด?” จัดโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ(คป.ตร.) หรือ Police Watch ดำเนินรายการโดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรงศ์  โดย ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการพิจารณาร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยเรามีหลายเรื่องที่อยู่ในหมวดของการปฏิรูป เรื่องตำรวจเป็นเรื่องที่สองรองจากการปฏิรูปการศึกษา ชีวิตเราทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่ปฏิรูปตำรวจ ความเป็นธรรมก็ไม่เกิด รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน และอาจจะเป็นคนที่ตรงกันข้ามกับสิทธิมนุษยชน เราต้องมองว่าปัญหาของตำรวจก็อะไรและปัญหาของประชาชนคืออะไร เราจึงมีมาตรา 258 ในรัฐธรรมนูญปี60 การเปลี่ยนแปลงมันยากลำบาก ถ้ามันง่ายก็คงสำเร็จตั้งแต่อดีต ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ตั้งแต่โครงสร้าง ไปจนถึงกรอบของกฎหมาย เราต้องมองทั้งสองด้านว่า ตำรวจได้อะไร และประชาชนอยากได้อะไร

อดีตกรรมการพิจารณาร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เรามีคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดนายอัชพร จารุจินดา และชุดพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ ผลงานของชุดนายอัชพร ได้มีการวางประเด็นต่างๆที่พยายามสร้างความถ่วงดุล มีการร่างเป็นกฎหมายผ่านครม.ไป ชุดพล.อ.บุญสร้าง อาจจะทำได้น้อยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ต่อมาทางครม.ก็ได้พิจารณาว่าเราตั้งชุดที่ทำในเรื่องกฎหมายเลยดีกว่ามั้ย มีคนสำคัญหลายคนร่วมเป็น กก. ให้เป็นการยกร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ไปเลย รวมทั้ง พรบ.การสอบสวนคดีอาญา เป็นร่างที่สอง

“ใช้เวลาการยกร่าง 7 เดือน แล้วร่าง กฎหมายทั้งสองไปไหน เราอาจจะผิดคาดไปนิดหนึ่ง คือเราต้องการให้เป็นผลงานให้รัฐบาลชุดนี้ แต่ก็มีการเวียนร่างดังกล่าวไปสอบถามร่างดังกล่าวว่าเขาเห็นอย่างไร เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กก.ชุดอ.มีชัย ฤชุพันธุ์ พยายามร่างที่จะปัญหาให้ความทุกข์ของตำรวจ และแก้ปัญหาให้ประชาชน เรามองว่า ตำรวจอาจจะมีนายเยอะ มีหน้าที่ที่จะทำมากมาย ในเรื่องการสอบสวน มีความซับซ้อน เราไม่คิดถึงขนาดแยกฝ่ายป้องกัน ปราบปราม แยกสายสอบสวน จราจร โดยพูดด้วยว่า ตำรวจบางหน่วยไม่จำเป็นต้องมียศ หลายคนบอกว่าถ้าไม่มียศ ก็อาจจะไม่มีแรงดึงดูดใจ เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือ การทำงานในโรงพักเป็นหลัก เราไม่ต้องการได้ยินว่าเราขาดอัตรากำลัง กำลังหลักต้องไปอยู่ที่โรงพัก ตำรวจต้องไม่ไปรับใช้นาย และการเปลี่ยนบทบาท ภาระหน้าที่บางหน่วย เช่น รถไฟ ป่าไม้ จราจร ก็มีฝ่ายที่สามารถดูแลอยู่แล้ว เพื่อให้ ตำรวจแท้ๆไปดูปัญหาที่ ตำรวจทำไม่ถูก ให้ ตำรวจนั่นแหล่ะดูแลคนเหล่านี้ว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้องอย่างไร”

ศ.ดร.อุดม กล่าวอีกว่า พรบ.ว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญา คณะกก.ชุดนายอัชพร ก็เคยได้ยินว่าจะเอาอัยการมาร่วมสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญเพื่อให้การสอบสวนเป็นเรื่องเป็นราว มีทิศทางที่ชัดเจน พี่น้องประชาชนจะได้รับการบริการ เราพยายามที่จะช่วย ตำรวจให้การเลื่อนยศและตำแหน่ง ไม่ต้องวิ่งเต้น มีการประเมินจากประชาชน ให้มีเกณฑ์อาวุโสจากการทำงาน ถ้าตำรวจมีความมั่นคง ได้รับการตอบแทนที่พอควร น่าเชื่อถือ ไม่ไปทำร้าย ละเมิดสิทธิประชาชน และให้เป็นความหวังของประชาชนได้ ตอนนี้เรามีเวลาไม่มาก และร่างนี้ก็เป็นร่างที่ยาว ผมไม่เชื่อว่าจะพิจารณาทันในสมัยนี้ แต่เมื่อมีการเขียนไว้ใน รัฐธรรมนูญยังไงก็จะต้องอยู่ในแผนยุทธิศาสตร์ชาติ เพื่อปฏิรูปประเทศต่อไป

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ด้านหนึ่งตนมองว่าเป็นด้านดีเหมือนกันที่ร่างกฎหมายนี้ไม่เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) เพราะมันอาจจะถูกบิดเบือนจากสนช.ชุดนี้ แต่ด้านที่มองว่าเป็นโชคร้าย ก็คือเรื่องนี้เคยเป็นเงื่อนไขของการชุมนุม จนมีการัฐประหาร ก็มีการแสดงให้เห็นว่ามีความพยายามในปี 57 และมีกรรมการหลายชุดถึงชุด อ.มีชัย แสดงให้เห็นว่าคนเห็นปัญหาและการต้องการที่จะให้ ตำรวจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีนัยยะว่า ตำรวจ ต้องมีการสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน แต่โชคร้ายที่มีคำสั่งที มีคำสั่งคสช. 88/57 77/59 ที่ ตำรวจคอยตั้ง ตำรวจ จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

5ปีปฏิรูปตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

“กลายเป็นว่า ผบ.ตร.มีอำนาจในการรวมศูนย์อำนาจ โยกย้ายได้ทั่วประเทศ แล้วก็มายุบตำแหน่งพนักงานสอบสวน ไปสู่การไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ผมทำใจแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถปฏิรูป ตำรวจได้แน่ ในชุดนี้เขียนไว้หนึ่งปี ตั้งแต่มี รัฐธรรมนูญนี้มาก็ใช้เวลา สองปี ไม่ทราบว่าเราฟ้อง ม.157 ได้หรือไม่ นอกจากนั้นมันมีปัจจัยที่ต้านการเปลี่ยนแปลง ของ ตำรวจที่ยังมีอำนาจได้ผลประโยชน์จากโครงสร้างปัจจุบัน มีเครือข่ายอำนาจที่เชื่อมโยงกับอำนาจนักการเมืองบ้าง นักธุรกิจบ้าง ทำให้ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง จึงเอาร่างนี้ไปซุกอยู่”

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อไปคือเจตจำนงที่จะปฏิรูป มันมีผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังนั้นต้องดูว่าเราต้องการที่จะให้เขามีอำนาจต่อไปหรือไม่ พลังที่จะเข้ามาขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงยังมีไม่มาก และไม่ต่อเนื่อง กระแสปฏิรูปมีมากในปี 57 แต่ไม่มีการทำต่อ เหลืออยู่ไม่กี่คน

“เราต้องหาการเชื่อมโยงพลังต่างๆให้ได้ เช่นคนชั้นกลาง ต้องให้เห็นว่าปฏิรูปตำรวจ มันเชื่อมกับคนชั้นกลางแค่ไหน กำลังสอบอยู่ไม่ถูกแก๊งอันธพาลรบกวน แก๊งบวชวัดสิงห์ ก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะเมื่อโทรไป สน. ตำรวจก็จะมาหยุดการรบกวน ลูกหลานไปไหนมาไหนก็ปลอดภัย อีกประการหนึ่ง คนไทยจำนวนมากก็ยังใช้อภิสิทธิ์ เราก็จะใช้ ถ้ายังพึ่งพาโครงสร้างแบบเดิมๆ การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มี และมีการเคารพกฎหมายก็น้อย จึงไม่อยากปฏิรูปตำรวจ เพราะกระทบคนจำนวนหนึ่ง ที่ทำผิดกฎหมาย เราจะทำให้คนเคารพสิทธิ เคารพกฎหมาย ได้อย่างไร จะสร้างค่านิยมใหม่เราต้องสร้างกระแสทางสังคม และไม่ควรให้ตำรวจปฏิรูปตัวเอง มันต้องสร้างแรงกดดันจากภายนอก มันไม่ควรทำในช่วงนี้ ทำหลังเลือกตั้งดีกว่า ถ้าทำในช่วงนี้ เราก็ไม่สามารถมีส่วนร่วม ทุกอย่างมันอยู่ในกล่องดำ”รศ.ดร.พิชาย กล่าว

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จะเห็นคนได้รับผลกระทบโดยตรงจากตำรวจ เรามีผู้ต้องขัง ตอนนี้มีคนในเรือนจำ 380,000 คน ตอนนี้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรข้างนอก และยังมีครอบครัวที่อยู่ข้างนอกที่ได้รับผลกระทบอีกเฉลี่ย 5 คน คูณเข้าไปก็ล้านกว่าคน และเราก็มีผู้ต้องขังที่ไม่ได้กระทำผิดจริง สิ่งที่เรากระทำอยู่ตอนนี้มันเหมือนถูกซุกอยู่จริงๆ แล้วคอยให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยไปก่อน แต่มีเรื่องบางอย่างที่กระทำได้ก่อนคือการให้อัยการเข้ามาตรวจสอบ เช่น คดีจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีต่างชาติ ที่ต้องให้ความสำคัญ

พรเพ็ญ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

“การให้มีการแถลงข่าว การคัดกรอง การใช้คำรับสารภาพเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อตำรวจ แต่ขัดกับหลักการการสอบ คดียาเสพติด เจ้าพนักงานตำรวจ เดี๋ยวนี้มักจะออกหมายเรียกพยานก่อนเรียกผู้สงสัย โดยไม่รู้เลยว่าเมื่อให้ปากคำไปแล้ว ทำให้สภานะของพยานกลายไปเป็นผู้ต้องหาไปด้วย มีการใช้กลไกพิเศษเข้ามาทำร้ายกรอบกระบวนการยุติธรรม เช่นกันกับราชทัณฑ์ที่ใช้ พรบ.ฉุกเฉิน ใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้รับสารภาพ ไม่มีใครเข้าไปในค่ายทหารได้ ไม่มีใครทราบว่าเขาทำอะไรให้คนรับสารภาพ ดังนั้นถ้ายังไม่มีสามารถปฏิรูป ตำรวจ ในตอนนี้ได้ ก็ขอให้ทำบางส่วนไปก่อน”น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์และผู้เขียนหนังสือ วิกฤติตำรวจและงานสอบสวนจุดดับกระบวนการยุติธรรมกล่าวว่า สถานการณ์ตำรวจมันหนักกว่าเก่ามาก เรามีปัญหาโครงสร้าง จนเรื่องแพะ แกะ ศพคนโดดน้ำตาย เอาศพนอนคอย ตำรวจข้ามคืน ศพมันโดดในเขตบางโพ ไปโผล่ที่ประชาชื่น ตำรวจ เกี่ยงกันว่าเรื่องมันอยู่ที่เขตใด ความจริงประชาชนไม่ควรไปเข้าคิว ควรนั่งฟังโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาแจ้งให้ทราบความคืบหน้า ไม่ใช่มาเข้าคิวยาว อย่างที่เป็นอยู่ ก่อนปฏิวัติ 2475 การสอบสวนเป็นของมหาดไทย แต่ต่อมาปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ ให้มาอยู่กับตำรวจทั้งหมด คำว่า Commissioner มันเป็นหัวหน้าตำรวจ ไม่ใช่ผู้บัญชาการ เรา copy ทหารทำให้ ตำรวจมียศ แต่พองานสอบสวนมันมียศเลยมีการบัญชาการนั่นนี่ มันโก้ มันเหมือนทหารที่มีเสนาธิการ มีนั่นนี่ ทำให้เกิดปัญหาขลุกขลักทำคนจนลำบาก คนรวยไม่มีปัญหาเพราะมีเคลียร์ได้ คดีแหม่มอังกฤษแจ้งความที่เกาะเต่า ที่ประเทศอื่นเขาถือว่าร้องเรียนต่อรัฐ ร้องที่ไหนก็ได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมาย 3 ฉบับ 1.แก้ ป.วิอาญา 2.พรบ.ตำรวจแห่งชาติ 3.พรบ.การสอบสวนคดีอาญา ถ้าทำได้เราแก้ปัญหาปฏิรูปตรวจได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ควรเอาเรื่องนี้มาต่อรองในเรื่องของอำนาจ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนเดือนร้อนสาหัสสากรรจ์ ป.วิอาญา เขียนไว้ว่า กทม. มาตรา 60 สามารถสอบสวน แต่ตอนนี้ตำรวจไม่บังคับใช้ กฎหมาย ก็ทำอะไรไม่ได้ เรื่องคุณป้าพลังขวานทุบรถ และเรื่องอื่นๆ ก็เป็นปัญหา ร่างกฎหมายตั้งแต่ สปท. สปช. คุณอัชพร คุณมีชัย ครม. ยังไม่ไปถึง สนช. จึงไม่รู้ว่าตอนนี้ร่างอยู่ที่ใคร ส่วนกองบัญชาการภาคไม่มีประโยชน์ เอาเรื่องไปดอง มีคนทำงานปัจจุบันมีเกือบ 500 คน มันมีประโยชน์อะไร แทนที่จะเอาคนไปทำงานรับใช้ ประชาชน ส่วนเงินเดือน สวัสดิการ ตำรวจปัจจุบันไม่น้อย บางคนบำนาญเกือบเท่าเงินเดือน ตำรวจร้อยคนก็ไม่ได้ซื้อปืนให้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ดูข่าวตำรวจที่จ.อยุธยา ปืนหาย 11 กระบอก ปัญหาตำรวจ ไม่ใช่เรื่องขาดอุปกรณ์ ไม่ใช่เรื่องผลตอบแทนเงินเดือน แต่คือไม่มีกำลังใจมากกว่า

วิรุตม์

“ร่างพรบ.ตำรวจ ที่ร่างมาพอใช้ได้ แต่ พรบ. สอบสวน ยังแยกไม่ขาด และที่เสนอให้แก้ไข ป.วิอาญา ก็ไม่เข้า ครม. เลยทำให้ไม่เอาอะไรสักอย่าง หรือมันอาจจะดีก็ได้ที่ไม่เข้า สนช.คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก ตำรวจ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะนายกฯ อัยการ ผู้พิพากษา ก็ไม่เดือนร้อน เพราะไม่เคยถูกตรวจปัสสาวะ จึงเห็นด้วยกกับ อ.อุดม ที่ว่า ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ รัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่มีความหมาย”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

ช่วงท้าย ศ.ดร. อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า เราก็กลัวเหมือนกันว่าถ้าร่าง กฎหมายนี้เข้า สนช.แล้วจะเป็นอย่างไร เห็นด้วยกับ อ.พิชายว่าการแก้ไขบทบาท อำนาจตำรวจ นั้นเราอยากเห็นงาน ตำรวจมันช่วยทำให้ความทุกข์ของชาวบ้านหายไป ส่วนการกระจายอำนาจนั้นเราเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อยู่ที่รายละเอียดว่าจะให้ไปได้ขนาดไหน เราจะดึงอัตราตำรวจภาคไปทำงานที่โรงพักให้มากที่สุด แต่ก็มีการแย้งว่าตำรวจภาคยังทำให้สิ่งที่ โรงพักทำไม่ได้ ยอมรับว่าหลายเรื่อง ศุลกากร ทำได้เอง ส่งฟ้องเอง มีการอ้างเรื่องความมั่นคง ทำให้บางครั้งรู้สึกว่าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร ทันทีทันใด ก็ต้องฟังเขาบ้าง คณะกรรมการก็ฟัง เราพูดถึงตรวจคนเข้าเมือง แต่ก็ได้แค่เรื่องของจราจร ซึ่งตำรวจ ยังต้องรักษาความสงบเรียบร้อย แต่จะให้มานั่งกดไฟจราจร มันน่าจะเป็นคนอื่นทำได้

“อันที่จริง ม. 124 มันเขียนไว้ว่าผู้เสียหายจะแจ้งความที่ไหนก็ได้ เห็นด้วยกับท่านวิรุตม์ว่ามันควรใช้เทคโนโลยี ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตำรวจบางทีทำหน้าที่เป็น รปภ. คนไม่กล้าทำผิด เพราะมีคนที่ดูแลไม่ให้ผิดระเบียบ ส่วนคนที่ทำหน้าที่ตรวจ จับ สอบ มันต้องเป็นคนที่ทำงานมืออาชีพตำรวจต้องไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกมากสุดท้าย การเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังลำบากเหมือนกัน ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็จะกระทบกับผลประโยชน์ของคนมาก ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายการเมืองอาจจะมีการต่อรอง ใช้ตำรวจ พวกอำนาจนอกระบบก็ต้องใช้ตำรวจ ทั้งนี้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องมี political will และการเปลี่ยนแปลงแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่ามันจะทำให้เสียเลือดเนื้อ คงต้องมีแผนและมีขั้นตอน”ศ.ดร.อุดม กล่าว

 

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ประชาชนอย่างเราก็ถูกโดดเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลภายใต้ทหารหรือรัฐบาลพลเรือน สิ่งที่อยากถามก็คงเป็นเรื่องพนัสอบสวน ที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องแก้ไข กฎหมายอะไรเลย เราแก้ไขกลับมาได้เลยมั้ยส่วนเรื่อง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สูญหาย ที่สอดคล้องกับอนุสัญญา CAT และหลักการสากล เราจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ พรบ.ผ่านเป็นกฎหมายในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามถ้าแก้ไขกลับมา ไม่ให้ถดถอยได้หรือไม่ ทราบว่าจะไม่รับผู้หญิงเป็นนายร้อยตำรวจด้วย สำหรับpilot project ถ้า ลุงตุ่ ไม่ได้เป็นนายกฯอีกจะดีมาก ปล่อยให้เป็นการทำงานของ สส.สว.ใหม่ๆ และผู้ใหญ่น่าหยุดบ้างเพื่อให้ประชาธิปไตยจะเดินหน้าให้กับลูกหลาน

 

รศ.ดร. พิชาย กล่าวว่า ดูแล้วรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมันทำให้หลักนิติรัฐมันถดถอย เราเจออำนาจเด็ดขาดใช้ ม.44 ในสังคมที่มีอำนาจขุนนาง มันทำให้เราติดลบไปมาก ทำให้เราต้องมาเริ่มของใหม่ นักการเมืองรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ข้าราชการ ตอนนี้ คุณเนวิน ชิดชอบ กลับมาคิดถึงการกระจายอำนาจ นักการเมืองจะตอบสนองประชาชนมากกว่าข้าราชการระดับสูง เพราะข้าราชการมักไม่สนใจประชาชนเท่าไหร่ ในเชิงบริหาร สตช.น่าจะใช้ระบบดิจิตอล หรือมี 5G เราก็สามารถสอบสวนจากที่บ้าน เซ็นกันที่หน้าจอ อัตราที่โรงพักมีมาก แต่ในความเป็นจริงไม่รู้ว่าตัวจริงๆมันหายไปไหน ความจริงถ้าเราบริหารดีๆ ตำรวจก็จะเพียงพอในการทำงาน แต่การเปลี่ยนแปลงในช่วง 4-5 ปีที่จะมาถึง เราจะเจอ ส.ว. 250 คนที่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรยาก คงจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และเห็นว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นพันธกิจของทุกพรรคการเมือง ประชาชนต้องถามว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไร ถ้าทำได้ การปฏิรูปอื่นๆก็จะตามมา

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า หลังมีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 115 /2557 การตัดอำนาจผู้ว่าฯให้ไปอยู่ที่ตำรวจภาค แล้วแย้งกันไปมาไม่สั่งคดีกันเสียที มีการอัดฉีดเงินให้แย้ง ทำให้ฝ่ายสอบสวนมันเสียดุล ในปี 2556 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ให้สอบสวนไปอยู่ภายใต้ สตช. ไม่สังกัดมหาดไทย ทำให้ประชาชนไม่มีที่ไป ประชาชนก็ส่งไปศูนย์ดำรงธรรม แล้วส่งกันไปมา ในอดีต ตำรวจจับมาให้นายอำเภอสอบสวน แล้วมาแก้ไขให้ สูญเสียอำนาจโดยสิ้นเชิงด้วย และต่อมาการแต่งกัน ผบ.ตร.เป็นอำนาจของนายกฯ แต่ต่อมาให้ตำรวจเลือก ผบ.ตร.เลือก

“การยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนนั้นเสียหายมาก ไม่ต่างจากทหารพระธรรมนูญตำรวจกลัวการถูกย้ายอย่างยิ่งกล่าวยิงกับโจรเสียอีก เช่น การย้ายในตอนนี้ ไม่รู้ว่าจะย้ายไปเพื่อเลือกตั้ง หรือจะคอยการย้ายไปที่อื่นอีก เรื่องพนักงานสอบสวนหญิง มันคงยากที่จะมีทุกโรงพัก ความจริงควรมีศูนย์ที่จังหวัด ที่รับการสอบสวน ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพักก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ควรไปหาเธอเอง อันที่จริงคดีอาญาไม่ควรให้ไปสอบสวนที่โรงพักให้สอบที่อำเภอจะดีกว่า”

“ตอนนี้การปฏิรูป ตำรวจถูกดองไว้ เราต้องมีการส่งเสียงให้มากกว่านี้ เราต้องมีศาลจราจรในการเปรียบเทียบปรับ อย่างสมดุล เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม ถ้าเราไม่ปฏิรูป เราจะเห็นการกระทบกระทั่ง ประชาชนไม่เชื่อถือ สังคมจะเกิดวิกฤติ ”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

เสวนา