กองทุนยุติธรรมแก้ปัญหา “ความอยุติธรรม” ไม่ได้?

กองทุนยุติธรรมแก้ปัญหา “ความอยุติธรรม” ไม่ได้?

                    กองทุนยุติธรรมแก้ปัญหา “ความอยุติธรรม” ไม่ได้?                           

                                                                     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                ช่วงนี้พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างหาเสียงชิงความนิยมจากประชาชนกันอย่างขะมักเขม้น หลังจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยถูกว่างเว้น เป็นเผด็จการ มาเกือบห้าปี

ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมีสิทธิมีเสียงไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะคนยากจน

ยิ่งใกล้ถึงเวลา รัฐบาลก็ได้พยายามบอกว่า ที่ผ่านมามีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย เศรษฐกิจ การค้าขาย การท่องเที่ยว และโครงการใหญ่อีกหลายเรื่องกำลังเดินไปด้วยดี ตัวชี้วัดเป็นที่น่าพอใจ

แต่พวกที่เห็นต่างกลับพูดไปคนละทางว่า ขณะนี้มีปัญหาเกิดขึ้นสารพัด รายได้ประชาชนหดหาย ยากจนกันถ้วนหน้า มีปัญหาอาชญากรรมมากมายหลายรูปแบบสังคมไม่ปลอดภัย!

นักการเมืองบางพรรคบอกว่า จะอาสาเข้ามาทำให้ประชาชน กระเป๋าตุง แทนยุคลุง กระเป๋าแบน

                เรื่องความสำเร็จและผลงานการบริหารบ้านเมืองนั้น  ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ประเมิน รัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้าม เป็นคนมีเงินหรือยากจน และมองในเรื่องอะไรแง่มุมใด?

เอาแค่ปัญหา แหล่งอบายมุข สาเหตุสำคัญของยาเสพติดและอาชญากรรม ทั้งบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายทำลายเด็กและเยาวชนที่ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ รวมทั้งทหารต้องไปตรวจจับแทนตำรวจกันอยู่ทุกวันนี้ มีอยู่ในแทบทุกพื้นที่ได้อย่างไร?

เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถควบคุมตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบให้ทำหน้าที่ของตนได้ ไม่มีใครเข้าใจ?

จะปล่อยให้ผู้บังคับการและผู้บัญชาการเป็น เสือนอนกิน กันไปชั่วกัปชั่วกัลป์หรืออย่างไร?

หรือ การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตั้งกรรมการขึ้นหลายชุด ตั้งแต่ สปช. สปท. และ คณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ ที่พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ผ่านมาถึงชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์   ตามด้วยนายอัชพร จารุจินดา ประธานการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ขณะนี้ได้มีการเสนอร่างกฎหมายไปถึงรัฐบาลสามฉบับ คือ พ.ร.บ.ตำรวจ, พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ที่ว่าด้วยการสอบสวน

                ถือเป็นการปฏิรูประบบตำรวจและงานสอบสวนดีขึ้นระดับหนึ่ง ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

แต่จนกระทั่งขณะนี้ ก็ยังไม่ได้มีการเสนอเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียว?

ส่วนเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 260 วรรคสามว่า “เมื่อครบหนึ่งปี หากแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปตามหลักอาวุโส”

กลับถูกหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 20/2561 สรุปว่า หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ยึดหลักอาวุโสนั้น เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญแล้ว?

ทำให้การแต่งตั้งตำรวจทุกระดับยังเต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวายทำลายขวัญและกำลังใจของตำรวจส่วนใหญ่อยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยแบ่งให้พวกหนึ่งเป็นกลุ่มอาวุโส ทำงานมานาน โดยอ้างว่าไม่มีผลงานอะไรที่ควรเลื่อนตำแหน่ง ให้นั่งรอไปเรื่อยๆ เพื่อได้ในโควตา 33 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่เหลือ 67 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าเป็นพวกเก่งกล้าสามารถ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร? เพราะไม่ได้มีระบบประเมินที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการสอบแข่งขันหรือวิธีที่เชื่อถือได้อื่นใด

การแต่งตั้งตำรวจที่ปราศจากหลักเกณฑ์ชัดเจนทำลายขวัญกำลังใจของตำรวจอย่างย่อยยับมานานหลายสิบปีเช่นนี้ จะบอกว่า การแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้ง การปฏิรูปตำรวจ กำลังเดินไปด้วยดีได้อย่างไร?         

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะด้านความยุติธรรม ที่คนพูดกันว่า คุกมีไว้ขังคนจน สรุปว่าได้แก้ปัญหาด้วยการจัดตั้ง กองทุนยุติธรรม ขึ้น เพื่อช่วยประชาชนทั่วไปให้ได้มีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

คนจนจะไม่ถูกคุมขังเพราะไม่มีเงินประกันตัว เนื่องจากสามารถใช้เงินกองทุนแทนได้ หากมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่มีทนาย ก็มีเจ้าพนักงานคอยชี้แนะหรือจัดหาให้ ในกรณีตกเป็นแพะถูกแจ้งข้อหาถูกคุมขังทั้งที่ไม่ได้กระทำผิด ก็จะได้เงินชดเชยไปตามจำนวนวัน ใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท

นั่นเป็นการแก้ปัญหาความอยุติธรรมที่ปลายเหตุทั้งสิ้น!

และกลายเป็นว่า เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยหนึ่งแล้ว ก็เอางบประมาณรัฐของอีกหน่วยหนึ่งไปช่วยเหลือต่อสู้กัน เป็นทั้งนายประกันและจัดหาทนายสู้คดีให้?

                ปัญหาที่แท้จริงก็คือ รัฐจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนแจ้งความร้องทุกข์กับรัฐได้ง่ายๆ ไม่ถูกตำรวจปฏิเสธ “ไม่ยอมออกเลขคดี” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการตรวจสอบสั่งคดี ซึ่งมีเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน

                นอกจากนั้น ประชาชนยังถูกตำรวจ “ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา” หรือ เสนอศาลออกหมายจับ กันง่ายๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นผู้กระทำผิด และสุดท้ายอัยการได้สั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง

                หนทางแก้ไขนั้นไม่ใช่ไม่มี เพียงแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา เกี่ยวกับการสอบสวนเพียงหนึ่งมาตราคือ นอกจาก   “ให้ประชาชนสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ และหากร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย ก็ให้ไปร้องทุกข์กับ นายอำเภอ หรืออัยการเพื่อสอบสวนแทน รวมทั้งให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนแล้ว” ยังต้องเพิ่มเติมว่า

การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการในการตรวจพยานหลักฐาน โดยอัยการต้องมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวบุคคลใดมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น

ในประเทศที่เจริญ การแจ้งข้อหาหรือการเสนอศาลออกหมายจับบุคคล เขาล้วนให้ผ่านการตรวจสอบพยานหลักฐานโดยพนักงานอัยการด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างอังกฤษและญี่ปุ่นนั้น กำหนดไว้เลยว่า “อัยการจะสั่งฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนนำไปสู่การลงโทษได้” โดยให้ยึดหลัก ต้องปราศจากข้อสงสัย (Beyound a reasonable doubt) เช่นเดียวกับศาลด้วยซ้ำ

ทำให้ญี่ปุ่นมีสถิติคดีที่ศาลยกฟ้องเพียง 0.05% ในปี ค.ศ.2000 และ 0.07% ในปี ค.ศ.2002 เท่านั้น

ส่วนประเทศไทย คดีที่ศาลยกฟ้องกรณีที่จำเลยปฏิเสธมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และมากถึงร้อยละ 70-80 สำหรับในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

เหล่านี้คือความเสียหายต่อรัฐและก่อให้เกิดความอยุติธรรมอย่างร้ายแรงต่อประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายด้วยกันทั้งสิ้น!

ถ้าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็เรียกว่าเป็น แพะ กระทรวงยุติธรรมบอกให้ไปรับเงินเยียวยาจากกองทุนยุติธรรมตามจำนวนวันที่ถูกคุมขังได้วันละ 500 บาท

แต่ถ้าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ หรือคำพิพากษายกฟ้อง ก็จะทำให้บุคคลนั้นกลายเป็น อาชญากรผู้บริสุทธิ์ ไป ไม่มีกระบวนการในการดำเนินการอะไรนำตัวใครมารับโทษอีกต่อไป

ผู้เสียหายและญาติพี่น้องต้องกอดคอร้องไห้ด้วยความแค้นใจ เช่นคดี นาวาเอกวุฒิชัย บุญฤทธิ์ รองเจ้ากรมอิเล็กทรอนิกแห่งกองทัพเรือ ที่ถูก อันธพาลมีเครื่องแบบ ยิงตายในพื้นที่ สน.ห้วยขวาง เมื่อปี 2553 ซึ่งทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องและไม่สามารถฎีกาได้

ผู้เสียหายบางคนคับแค้นใจจนทนไม่ไหว ก็กระโดดตึกศาลตายหลังคำพิพากษายกฟ้อง เหมือนอย่าง นายศุภชัย  คัฬหสุนทร พ่อของลูกที่ถูกฆ่า ยอมลาออกจากงานทุ่มเทเวลามาแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตัวเองนำไปมอบให้ตำรวจ

กองทุนยุติธรรมจึงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในการแก้ปัญหา กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลัง ของสังคมไทยที่ ต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน แต่อย่างใด.

 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, February 17, 2019