“ใครคิดว่ากฎหมายไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ผมไม่แปลกใจ แต่ผมแปลกใจที่ประเทศที่เจริญแล้วกฎหมายจะเหมือนกันหมด ไทยก็เลยกลายเป็นตัวประหลาด ป.วิอาญา มันเลยวิปลาส” -ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง

“ใครคิดว่ากฎหมายไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ผมไม่แปลกใจ แต่ผมแปลกใจที่ประเทศที่เจริญแล้วกฎหมายจะเหมือนกันหมด ไทยก็เลยกลายเป็นตัวประหลาด ป.วิอาญา มันเลยวิปลาส” -ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง

“ใครคิดว่ากฎหมายไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ผมไม่แปลกใจ แต่ผมแปลกใจที่ประเทศที่เจริญแล้วกฎหมายจะเหมือนกันหมด ไทยก็เลยกลายเป็นตัวประหลาด ป.วิอาญา มันเลยวิปลาส”  ตั้งแต่วิธีคิด วิธีปฏิบัติ การจับ การขัง การค้น การแจ้งข้อกล่าวหา การฟ้องร้องดำเนินคดี ทุกอย่างมันผิดหลักไปหมด

ทุกวันนี้บ้านเราไม่เป็นไปตามมาตรฐานผลก็คือ คนชั่วลอยนวล คนดีตกเป็นแพะ คนจนก็ติดคุกฟรี…หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐานในชั้นแรกๆอย่าให้หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการรู้เห็นพยานหลักฐาน เพราะเขาจะลบกล้องวงจรปิดอย่างไรก็ได้ ลายนิ้วมือจะลบทิ้งจากตรงไหนก็ได้ ทำไมถึงกลัวอัยการเห็นพยานหลักฐานตั้งแต่เริ่มคดี กลัวทำไม กลัวอะไร คุณต้องรวบรวมทุกอย่างให้อัยการดู

ประเทศอื่นพอเกิดฆ่ากันตายปุ๊บ ฝ่ายปกครอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบสุขในท้องถิ่นจะต้องไปดู อัยการก็จะต้องมีพนักงานสอบสวนของตัวเองไปดู ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานซึ่งเป็นหน่วยงานที่อิสระไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตำรวจท้องที่ที่ทำคดี ก็ต้องเข้าไปดู ไม่ใช่ว่าอยู่ภายใต้การสั่งการของตำรวจ”

 

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?”จัดโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า การทำกฎหมายหัวใจสำคัญคือจะต้องตอบสนองและเป็นไปเพื่อรับใช้ประชาชน สร้างความเป็นธรรม ความสงบสุขของสังคม เวลาแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมก็คือต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยุติธรรมตอบสนองประชาชนและรับใช้ประชาชน กระบวนการยุติธรรมหรือการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เช่นนี้ ทำไปก็เสียเวลา เสียงบประมาณแผ่นดินเปล่าๆ

 

กระบวนการยุติธรรมปัจจุบันเท่าทีประสบพบเจอด้วยตัวเองในฐานะที่เป็นคนบังคับใช้กฎหมาย เป็นอาจารย์สอนกฎหมายด้วย และส่วนตัวทำโครงการ Innocence Project Thailand ช่วยคนที่บริสุทธิ์ที่เป็นเหยื่อที่ถูกกระทบวนการยุติธรรม ของรัฐรังแก ผมเจอคนบริสุทธิ์มากมายที่หลุดเข้ามา ผมก็ไปหาสาเหตุว่ามันเข้ามาได้อย่างไร มาพบทีหลัง ทุกอย่างไปตาสว่างตอนที่เขาเอาพยานหลักฐานไปเปิดในชั้นศาล กว่าที่เขาโดนจับ โดนขัง โดนแจ้งข้อหา กว่าจะรอศาลสืบพยานเป็นปี กว่าที่จะพิสูจน์หลักฐานได้ เขาเจ็บปวดจากกระบวนการเหล่านี้มานานเท่าไหร่ ทำไมเราไม่ไปหาวิธีการที่เห็นตั้งแต่แรก ว่ามันผิดพลาด จะต้องไปรอให้ศาลตัดสินว่าเขาบริสุทธิ์แล้วเราถึงมาดีใจหรือ

 

กระบวนการยุติธรรมที่ดีจะต้องตอบสนองตั้งแต่วินาทีแรก ที่เขาจะต้องไม่โดนแจ้งข้อกล่าวหา จะต้องไม่โดนจับ จะทำอย่างไรเขาจะไม่โดนจับง่ายๆ แจ้งข้อกล่าวหาง่ายๆ ขังง่ายๆฟ้องง่ายๆ ซึ่งตรงนี้มันกลับหลักหมดเลย ในต่างประเทศจับก็ยาก ต้องมีเหตุจับ ขังก็ยาก เพราะว่าเวลาจะต้องมีเหตุว่าเขาจะต้องไม่หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงพยาน ไม่ใช่เขาไม่มีตังค์เหมือนบ้านเรา ที่จะขังเพราะไม่มีตังค์ ขังก็ง่าย ฟ้องก็ง่าย หลักการฟ้องของอัยการก็คือ”มีพยานพอฟ้อง” ก็ฟ้อง แต่ต่างประเทศเขียนไว้ในตัวบทกฎหมายเลยว่าจะต้องมีความมั่นใจจะดำเนินคดีและเอาเขามาลงโทษได้ เพราะต้องเข้าใจหลักสากลประการที่หนึ่งว่า ถ้าฟ้องเขาไปแล้ว แล้วศาลยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว จะดำเนินคดีคนๆนั้นอีกไม่ได้ เพราะตามหลักสากลรัฐจะดำเนินคดีกับใครคุณต้องมั่นใจ ต้องไม่เอาทรัพยากร เอาเงิน เอาบุคลากรของรัฐไปเล่นงานคนบริสุทธิ์ เขาคิดหลักง่ายๆนี้มันสมเหตุสมผลมาก

 

ทำไมเราเอาหลักสากลมาพูดถึงเสมอๆ เพราะหลักสากลมันหมายถึงประสิทธิภาพ หมายถึงการประกันความยุติธรรม มันมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เราจะคิดเท่ๆตามต่างประเทศ แล้วถามว่ากฎหมายตางประเทศกับกฎหมายไทยจะต้องเหมือนกันไหม ใครคิดว่ากฎหมายไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ผมไม่แปลกใจ แต่ผมแปลกใจที่ประเทศที่เจริญแล้วกฎหมายจะเหมือนกันหมด ไทยก็เลยกลายเป็นตัวประหลาด ป.วิอาญา มันเลยวิปลาส มันวิปลาสตั้งแต่วิธีคิด วิธีปฏิบัติ การจับ การขัง การค้น การแจ้งข้อกล่าวหา การฟ้องร้องดำเนินคดี ทุกอย่างมันผิดหลักไปหมดเลย ผมพูดเสมอว่าป.วิอาญาบ้านเราต้องเป็นสากล เพราะเป็นเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน เขาจะต้องไม่ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีตามอำเภอใจ ถ้าระบบไม่ดี เขาก็ถูกกล่าวหา ถูกดำเนินคดี ถูกฟ้องร้องตามอำเภอใจ

 

ถ้ากฎหมายสาระบัญญัติ เราจะเอาอะไรเป็นความผิดแล้วเราจะลงโทษความผิดนั้นเท่าไหร่ เช่น กัญชา เป็นความผิดตามกฎหมายไทยไหม หรือเราจะประหารชีวิตเขาหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นสาระบัญญัติที่จะต้องสอดคล้องกับสภาพสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม แต้ถ้าเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติคือเรื่องของการดำเนินการ การจับ การค้น การขัง การแจ้งข้อกล่าวหาการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล ทุกอย่างจะต้องเป็นสากลคือจะต้องมีหลักประกันความมีประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าคนบริสุทธิ์จะต้องไม่ถูกดำเนินคดี ทุกคนจะต้องเสมอภาคภายใต้กฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมเรียกร้องความเป็นสากล คือเรียกร้องความมีประสิทธิภาพ ความเสมอภาค และการประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน ทุกวันนี้บ้านเราไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผลก็คือ คนชั่วลอยนวล คนดีตกเป็นแพะ คนจนก็ติดคุกฟรี

 

คนชั่วลอยนวลก็คือ การรวบรวมพยานหลักฐานนั้นถ้าจะช่วยคนชั่วก็ไม่รวบรวมมันซะ ไม่มีดีเอ็นเอ ไม่มีกล้องวงจรปิด เอาคนวิกลจริตมาคนเดียว มาให้สอบ(คดีลูกชายพ่อโดนตึกศาล) ทำเป็นว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด คือกระบวนการยุติธรรมแบบคนชั่วลอยนวล

 

ส่วนคนดีเป็นแพะ ก็คือ จะแจ้งข้อกล่าวหา จะจับ จะค้น จะยัดข้อหา จะยัดยาเสพติด ก็ได้ ถามว่าทุกวันนี้การยัดยาเสพติด ประชาชนที่ถูกยัดยาเสพติด สู้ได้ไหม ไม่มีทางเลย อย่างผมขับรถคนเดียวไปกลางคืน โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจ10คนมารุม ยัดยาเสพติด 10 คน ยืนยันเป็นปากเดียวกันว่าผมมียาเสพติด ผมจะรอดไหม ไม่รอด ผมเคยช่วยคดีเด็กคนหนึ่ง ถามว่าทำไมเป็นมูลเหตุจูงใจต้องยัดยา สายสืบบอกว่าจะมีเด็กคนนี้ขับมอเตอร์ไซค์ซีขาวมาขายยา ตำรวจก็ไปดักรอ ปรากฏว่าเด็กคนนี้เพิ่งกลับจากการติวหนังสือเป็นเด็กระดับเกรดเอเกือบ4.00จะกลับมาบ้าน โดนตำรวจตะครุบแล้วก็เอาไปวน ไม่ไปโรงพักทันที ตรงนี้มีกระบวนการยุติธรรมใครช่วยได้ไหม กฎหมายเขียนว่าให้เอาไปโรงพักทันที แต่ถ้าไม่เอาไปทันที มีใครช่วยได้ไหม ไม่มี เอาไปทำอะไร เอาไปบีบ ไปเค้น ไปทุบ ไปตี พ่อแม่เขารู้เรื่อง รู้หายไปทำไมตี2 ตี 3 ไม่กลับถึงบ้าน โทรไปถามแฟนที่ไปติวกันบอกว่ากลับตั้งแต่ 2 ทุ่ม เพราะว่าโดนเอาไปตระเวน พอแม่แจ้งความก็เป็นเรื่อง ตอบไม่ได้ว่าเอาไปไหนตั้ง 6 ชั่วโมงปรากฏว่ายัดยาเสพติดซะเลย ยัดที900 กว่าเม็ด

 

ผมก็งงทำไมยัด900กว่าเม็ด เพราะ900กว่าเม็ด อัยการไม่ฟ้อง ไม่ได้ ศาลไม่ลงโทษ ก็ไม่มีทางเลย แล้วคน12คนยืนยันเป็นปากเดียวว่าเด็กคนนี้ค้ายาเสพติด แล้วไปยัดเอาคนที่มีประวัติดีเด่น ทำงานบริการสังคม เรียนเกรดเกือบ 4.00 จะจบเป็นเด็กกตัญญู เป็นคนมีจิตสาธารณะ มีประกาศเกียติคุณมากมาย ทุกวันนี้เด็กคนนี้ยังติดคุกอยู่ ผมก็จนปัญญาจะช่วยเด็กคนนี้อย่างไร เขาติดคุกอยู่จนวันนี้เขาก็บอกว่า”ผมไม่ได้ทำๆแม่ผมได้ทำ พ่อ ผมไม่ได้ทำ” ทุกวันนี้พ่อแม่ก็ยังร้องไห้เสียอกเสียใจ ที่ลูกคนหนึ่งทีลงทุนลงแรง และเป็นเด็กดีมาตลอด ยังอยู่ในคุกอยู่ แล้วกระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาจะไปช่วยอะไรเขาได้ เราจะเอาพยานหลักฐานอะไรไปช่วยเขา

 

ในต่างประเทศเขาจะช่วยอย่างไร พอจับ จะต้องมีอัยการ24ชั่วโมง พอจับปุ๊บเอาไปโรงพัก อัยการต้องไปดูทันที ท่านเชื่อไหมว่าเด็กคนนี้ตามเนื้อตัวร่างกายมีรอยช้ำ แต่ในสำนวนไม่มี ผมได้เห็นรูปภาพจากพ่อแม่เขาหลังจากไปเยี่ยมลูกเขาที่ถูกขังอยู่ในโรงพัก ลูกเขามีรอยช้ำตามเนื้อตัวร่างกาย แต่ในสำนวนไม่มีเลย ศาลไม่มีทางรู้เลยว่าเด็กคนนี้โดนจับยัดยาเอาไปขัง 900กว่าเม็ด ไม่อนุญาตให้ประกันตัว เด็กคนนี้อยู่ยาวจนแผลหาย เวลาไปขึ้นศาลแผลหายหมดแล้ว หน้าตารอยช้ำไม่มีจะไปเบิกความว่าถูกยัด ถูกทุบ ไม่มีใครเชื่อแล้ว พ่อแม่ก็ไม่มีความรู้ รูปถ่ายที่ถูกทุบก็ไม่อยู่ในสำนวน ไม่มีใครได้ทราบเลย

 

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐานในชั้นแรกๆอย่าให้หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการรู้เห็นพยานหลักฐาน เพราะเขาจะลบกล้องวงจรปิดอย่างไรก็ได้ ลายนิ้วมือจะลบทิ้งจากตรงไหนก็ได้ เขาจะให้พิสูจน์หลักฐานเข้ามาหรือไม่ให้เข้ามาเก็บหลักฐานก็ได้ อย่างนี้ไม่ได้ หัวใจสำคัญจะต้องให้หลายหน่วยงานเห็นพยานหลักฐาน ต่างประเทศทำอย่างไร ซึ่งผมพูดไปแล้วว่าจะต้องมีอัยการมาดู ว่าพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะจับเขาไหม มีเหตุจำเป็นต้องจับเขาหรือเปล่า อัยการจะดำเนินคดีเขาจริงหรือเปล่า มีการทุบตีเขาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มันจะปรากฏต่ออัยการในทันที ลองคิดดูว่าถ้าอัยการได้ไปเห็นเด็กคนนี้ในสภาพสะบักสะบอมตั้งแต่อยู่ในคุก อัยการจะต้องสอบถามทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนี้ จับเมื่อไหร่กี่โมง แล้วเพื่อนบ้านก็เห็นว่ามีการตะครุบเด็กคนนี้ตอน2ทุ่ม แล้วเด็กคนนี้หายไปไหน ตอนตี2ถึงโผล่มาที่โรงพัก สิ่งเหล่านี้มันจะมีพยานที่มันยันกันได้ จะให้ความเป็นธรรมเขาได้ทันที ไม่ต้องรอขังไปจนกว่าจะสืบพยาน จนกว่าจะสู้คดี ไม่มีทางที่ประชาชนจะสู้คดีประเภทนี้ได้

 

ประเทศอื่นพอเกิดฆ่ากันตายปุ๊บ ฝ่ายปกครอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบสุขในท้องถิ่นจะต้องไปดู อัยการก็จะต้องมีพนักงานสอบสวนของตัวเองไปดู ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานซึ่งเป็นหน่วยงานที่อิสระไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตำรวจท้องที่ที่ทำคดี ก็ต้องเข้าไปดู ไม่ใช่ว่าอยู่ภายใต้การสั่งการของตำรวจว่าจะต้องเก็บอะไร ไม่เก็บอะไร อย่างนี้พอเข้าไปปุ๊บก็จะเห็นแล้วว่ามีพยานในที่นี้มีคนเห็นอยู่4 คน ถ้าคุณเอาคนวิกลจริตมาคนเดียว คุณแหกตาผมไม่ได้แน่ คดีที่พยานวิกลจริต(คดีฆ่าลูกชายพ่อโดดตึกศาล)อัยการสั่งสอบเพิ่มแล้ว แต่ตอบว่าไม่มีอย่างอื่น สั่งสอบแล้วสอบอีกไม่มีพยานอื่น ก็ต้องมีพยานปากเดียว สุดท้ายพ่อก็ต้องโดดตึกตาย เพราะไม่ได้ความเป็นธรรม

 

ประชาชนคนไทยเวลาเกิดความไม่เป็นธรรมในคดีจะทำอย่างไร วิ่งหาสื่อมวลชน ถ้าเข้าไม่ถึงสื่อมวลชน ก็ต้องไปหาทนาย ถ้าคดีไม่ดังไม่ทนายก็ไม่อยากจะทำให้ หรือกลับไปหามูลนิธิ ถ้าคดีไม่ดังก็ไม่สนใจจะมาดูให้ แปลว่ากระบวนการยุติธรรมปกติเจ้าหน้าที่รัฐ มันล้มเหลว มันให้ความเป็นธรรมไม่ได้แล้วนะ กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ มันจะต้องให้ความเป็นธรรมได้ในตัวของมันเอง คนนี้ไม่ทำอีกคนจะต้องดูให้ได้ คนนี้บิดเบือนอีกคนจะต้องเข้าไปดู แปลว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจะรังแกใคร จะช่วยใคร ตามอำเภอใจอย่างไร อย่างนี้ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม มันคือกระบวนการไม่เป็นธรรม ต่อมาพอหลายๆหน่วยงานรู้พยานหลักฐานแล้ว มันจะบิดเบือนไม่ได้ จะหลอกหลวงไม่ได้ จะกลบเกลื่อนอะไรไม่ได้ ตรงนี้จะช่วยได้อย่างมาก จะช่วยกระทั่งไปถึงการอัยการ กระบวนการศาล…(มีต่อตอนที่2)