อัยการไทยสั่งคดียุติธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นพยานหลักฐาน และสถานที่เกิดเหตุเหมือนอัยการทุกประเทศ!

อัยการไทยสั่งคดียุติธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นพยานหลักฐาน และสถานที่เกิดเหตุเหมือนอัยการทุกประเทศ!

ยุติธรรมวิวัฒน์

อัยการไทยสั่งคดียุติธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นพยานหลักฐาน และสถานที่เกิดเหตุเหมือนอัยการทุกประเทศ!

 

                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ขณะนี้เรื่องที่อยู่ในความสนใจของนักการเมืองรวมทั้งประชาชนก็คือ การเลือกตั้ง

พรรคใดจะได้ ส.ส.มากสุด มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองตามที่หาเสียงไว้ หรือจำเป็นต้องรวมกับใครที่มีแนวคิดเหมือนหรือต่างกันเพียงใด?

ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยอีกวาระหนึ่ง

แต่ประชาชนซึ่งเลือกพรรคการเมือง ตามการโฆษณา อาจได้ สินค้าไม่ตรงปก!

จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาจากพฤติกรรม ไม่อ้ำอึ้ง หรือ พูดจากก้ำกึ่ง ให้ต้องตีความของ หัวหน้าพรรค ในการตอบคำถามโอกาสต่างๆ

หรือพรรคที่ เขียนนโยบายเป็นหลักฐาน สามารถตรวจสอบทวงถาม ความคืบหน้า และ ความสำเร็จ ได้

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทุกพรรคได้ให้คำมั่นว่าจะทำโน่นนี่สวยหรูดูดีเพียงใด แต่หากไม่มี นโยบายเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” และ “การสอบสวน” คดีอาญา อย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน

จะไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติและประชาชนตามกฎที่ได้โฆษณาไว้อย่างแท้จริงเลย

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2566  ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “บทบาทพนักงานอัยการในประเทศยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แล้วมองย้อนดูไทย”

มีอาจารย์กฎหมายจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อัยการฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ บรรยายการทำงานของแต่ละประเทศ สรุปได้ว่า

ทุกประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย การสอบสวนคดีส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งได้แบ่งเป็น ตำรวจฝ่ายคดี (Judicial Police) แยกต่างหากจาก ตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม (Preventive Police)

การกระทำผิดอาญาที่ไม่มีปัญหา ตำรวจก็สอบสวนไปตามหน้าที่ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีบุคลากรครอบคลุมทุกพื้นที่และใกล้ชิดเหตุการณ์สถานที่เกิดเหตุอยู่แล้ว

แต่ไม่สามารถขอให้ศาลออก หมายค้น หรือ หมายจับ เองได้ ต้องผ่านการตรวจสอบพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบจากอัยการ

เป็นการช่วยศาลในการพิจารณาออกหมายค้นหมายจับเท่าที่จำเป็น และเป็นกรณีที่อัยการเห็นว่าจะสามารถนำไปสู่การฟ้องคดีพิสูจน์การกระทำผิดได้เท่านั้น

อัยการจะมีบทบาทในการ “เสริม” (Supplementary) การสอบสวนที่ตำรวจ “เริ่มคดี” (Initiation)

รวมทั้ง มีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีที่กำหนดไว้ เช่น คดีที่ตำรวจผู้ใหญ่กระทำผิดอาญา หรือคดีที่ประชาชนสนใจ

ประเทศเยอรมนี คดีที่อัยการสอบสวนเองมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ อีก 82 เปอร์เซ็นต์เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนที่เหลือเป็นองค์กรอื่น เช่นศุลกากร ฯลฯ

มี อัยการฝ่ายสืบสวน (Investigative Prosecutor) ทำงานเช่นเดียวกับตำรวจ  สามารถตรวจสถานที่เกิดเหตุหรือสอบปากคำพยานเองตั้งแต่เริ่มคดีได้ หรือกรณีมีข้อสงสัยในการสอบสวนที่ตำรวจทำไว้นอกจากการสั่งให้รวบรวมเพิ่มเติมในคดีที่ส่งไป

บางประเทศมีกฎหมายกำหนดให้เป็น ความผิดทางวินัย หากตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัยการ เช่น ญี่ปุ่น

ระบบการสอบสวนญี่ปุ่นไม่เน้นใช้อำนาจบังคับ โดยเฉพาะการออก หมายเรียก แต่จะพยายามทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อความสงบเรียบร้อยในชุมชน

สำหรับสำนวนสอบสวน ตำรวจไม่ต้องทำความเห็นอะไรประกอบไป เนื่องจากเป็นอำนาจอัยการที่จะพิจารณาตามพยานหลักฐานทั้งที่ตำรวจสอบรวมไว้ รวมทั้งที่ได้จากการเก็บรวบรวมเอง

          ต่างจากประเทศไทย ที่ตำรวจสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นส่งไปให้อัยการ “ควรสั่งฟ้อง” “สั่งไม่ฟ้อง” หรือ “งดสอบสวน”

ซึ่งหลายคดีเป็น  สำนวนไม่ตรงปก คือ เสนอให้สั่งฟ้อง และพยานหลักฐานในสำนวน “ฟ้องไม่ได้”

อัยการไทยจึงกลายเป็น “แพะ” ทันที เมื่อมีคำสั่งไม่ฟ้อง!

เช่น คดีตู้ห่าวพยายามฆ่าและวางเพลิงสวนงู ที่ภูเก็ต เมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา

เมื่อฟังการบรรยายจากอัยการหลายประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่าระบบสอบสวนส่วนใหญ่จะคล้ายกันคือ อัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือที่มีปัญหา

ไม่ได้ปล่อยให้ตำรวจเก็บและรวบรวมพยานหลักฐานฝ่ายเดียวเช่นไทย!

แต่ปัญหาคือ เราจะนำมาเป็นแนวทางปฏิรูประบบการสอบสวนของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเทศส่วนใหญ่ในโลก ตำรวจเขาเป็นระบบพลเรือนทั้งสิ้น

การปฏิบัติงานก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกคนกระทำอย่างสุจริต โดยอาจมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพแตกต่างกันบ้าง

ส่วนประเทศไทยที่ตำรวจทุกคนและทุกฝ่ายอยู่ในระบบยศและบังคับบัญชาเช่นเดียวกับทหาร

และเป็นที่รู้กันว่าตำรวจผู้ใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต มีพฤติกรรม รับส่วยสินบน จากผู้กระทำผิดกฎหมายหรือผู้ใต้บังคับบัญชาหลายรูปแบบมากมาย

ซ้ำยังได้ผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้โดยไม่มีหน่วยใดสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ยุคเผด็จการปี พ.ศ.2506 เป็นต้นมา!

ผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือแม้แต่อัยการ ก็ตรวจสอบหรือเข้ารับรู้พยานหลักฐานระหว่างการสอบสวนหรือดูตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่ได้

ส่งผลทำให้พนักงานสอบสวนประเทศไทยสามารถถูกสั่งให้รวบรวมพยานหลักฐานโดยมิชอบได้ หรือแม้กระทั่งให้ สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน ก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน ทั้งอัยการและศาลมากมาย

การที่อัยการไทยสั่งคดีโดยไม่มีโอกาสเห็นพยานหลักฐานหรือสถานที่เกิดเหตุแม้จะเกิดความสงสัยข้องใจเพียงใด แต่ก็บอกว่าสามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาหรือว่าความไม่ยุติธรรมกับใคร?

กฎหมายประเทศเหล่านั้นกำหนดให้อัยการทำงานเกินจำเป็น!

หรือว่าแท้จริง เป็นการสั่งคดีที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมและความเสียหาย  ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการสั่งฟ้องคดีกันมากมาย!

และ ผู้เสียหายต้องคับแค้นใจเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ ศาลยกฟ้อง

โดยที่ไม่มีใครไม่ว่าหัวหน้าพนักงานสอบสวนหรืออัยการต้องรับผิดชอบแม้แต่คนเดียว!

เป็น กระบวนการยุติธรรมวิปริต ที่ ทุกพรรคการเมืองต้องคิดว่าจะปฏิรูปอย่างไร?.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2566