กฎหมายปฏิรูปตำรวจผ่านสภาแล้วจริงหรือหลอก?

กฎหมายปฏิรูปตำรวจผ่านสภาแล้วจริงหรือหลอก?

virute

กฎหมายปฏิรูปตำรวจผ่านสภาแล้วจริงหรือหลอก?                                                                

                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                การแก้ปัญหาทุกเรื่องในทุกองค์กรนั้น อันดับแรก ผู้มีอำนาจต้องยอมรับเสียก่อนว่า มีปัญหา ตามมาด้วยการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และพยายามแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ

ถ้าจำเป็นก็ต้อง ปฏิรูป” หากปัญหานั้นมีสาเหตุมาจากโครงสร้างองค์กรและระบบงานที่แก้ไขหรือปรับปรุงอะไรไม่ได้

แต่ถ้าเริ่มต้นก็ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา หรือว่าวิเคราะห์สาเหตุผิด แม้จะจริงจังและจริงใจเพียงใด ก็ไม่มีทางที่ขจัดปัญหาให้หมดไปได้

ทุกวันเวลาที่ผ่านไป มีผู้คนโดยเฉพาะคนยากจนในประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาตำรวจทุจริตประพฤติมิชอบละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายมากมายในหลายๆ เรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการที่ ตำรวจผู้ใหญ่ ละเลย หรือ รู้เห็นเป็นใจ ให้มีแหล่งอบายมุขทั้งบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายเปิดเกินเวลาค้ายาเสพติดทำลายสังคม ส่งผลเสียหายต่อเด็กและเยาวชนที่นายกรัฐมนตรีพูดอย่างเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา?     

การปฏิบัติหน้าที่อย่างลุแก่อำนาจ สั่งพนักงานสอบสวนไม่ให้รับคำร้องทุกข์หรือให้แจ้งข้อหาประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการเสนอศาลออกหมายจับบุคคลผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอะไรก็ปรากฏให้เห็นอยู่มากมาย

นอกจากกรณี นายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์ พ่อค้าไก่ย่างในจังหวัดนครพนมที่ถูกตำรวจเสนอศาลออกหมายจับข้อหาชิงเพชรสิบล้าน ซึ่งเป็นผลงานการสืบสอบของ ตำรวจนครบาล ผู้รับผิดชอบพื้นที่ ตามจับตัวไปขังไว้ที่รีสอร์ตในจังหวัด ถูกซ้อมทำทารุณกรรมเพื่อให้รับสารภาพบอกที่ซ่อนเพชร!

สุดท้ายปรากฏหลักฐานว่า วันเกิดเหตุ นายพิสิษฐ์อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลจังหวัดนครพนมอย่างชัดเจน เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง อัยการไม่ฎีกา คดีถึงที่สุดไปเมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

                ปัญหาคือ พยานหลักฐานซึ่งสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาได้เป็นอย่างดีเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่ได้มีการรวบรวมไว้ให้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนที่ พนักงานอัยการควรได้เห็น และสามารถสั่งไม่ฟ้องไปโดยไม่ต้องให้คดีไปถึงศาล?

รายสุดท้ายที่เป็นข่าว ก็คือ นายอุทัย ศรีมา หนุ่มใหญ่วัย 53  ปี มีอาชีพทำนาทำไร่อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ถูกศาลออกหมายจับข้อหาขับรถชนคนตายที่จังหวัดระยองแล้วหลบหนี คดีเกิดตั้งแต่ปี 2548

ทั้งที่นายอุทัยขับรถไม่เป็น และไม่เคยไปจังหวัดระยองแต่อย่างใด รวมทั้ง พยานที่เป็นคนเจ็บก็ยืนยันว่าไม่ใช่ และตำรวจก็ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่า น่าจะเป็นการออกหมายจับผิดตัว เนื่องจากชื่อและนามสกุลนี้มีพ้องกันอยู่ถึงสี่คน และเจ้าตัวก็คิดว่าเรื่องคดีไม่มีปัญหาแล้ว

แต่ในปี 2560 เขากลับถูกตำรวจนำหมายไปตามจับถึงบ้านคุมตัวไปดำเนินคดีที่ระยอง ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินหาเงินมาประกันตัวจำนวน 120,000 บาท และต้องเดินทางไปพบอัยการตามนัดที่จังหวัดทุกเดือน!

แต่ละครั้งไปกันทั้งบ้านตามประสาคนชนบท เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต่ำกว่าห้าพัน ระหว่างที่อัยการยังไม่สั่งคดี โดยมีคำสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น จนนายอุทัยแทบจะกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวอยู่ขณะนี้  คดีก็ยังไม่จบเสียที ไม่รู้ว่าจะต้องไปรายงานต่ออัยการอีกกี่ครั้งกี่ปี?

                 ร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว  ก็ไม่สามารถช่วยเหลือหรือมีวิธีจัดการปัญหาอะไรได้?

                ปัญหาตำรวจ แจ้งข้อหาประชาชนกันมั่วๆ แล้วสุดท้าย “อัยการสั่งไม่ฟ้อง” หรือ “ศาลยกฟ้อง” ทำให้ประชาชนแต่ละคนได้รับความเดือดร้อนกันแสนสาหัสนั้น   เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรได้อย่างที่บางคนชอบพูดให้เหตุผลว่า เป็นเพราะประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหาในการดำเนินคดีอาญาจริงหรือ?

ทั้งที่ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไร ปัญหานี้ก็มีวิธีแก้ไขได้ง่ายๆ โดยรัฐบาลก็คือ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงหนึ่งมาตราว่า

“การออกหมายเรียกบุคคล เป็นผู้ต้องหา หรือ  เสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการในการตรวจพยานหลักฐานก่อน โดยอัยการต้องมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวบุคคลนั้นมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องคดีพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น

                กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังประเภท  ไม่มั่นใจในพยานหลักฐาน แต่อัยการก็ต้องสั่งฟ้องไปตามที่ตำรวจเสนอ เพราะไม่อยากถูกตำรวจทำความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุด อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองตามมา

                เป็นการโยนภาระให้ประชาชนพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนให้พ้นจากบ่วงอาญาตามระบบจารีตนครบาลนั้น ควรจะเลิกกันเสียที

                ไม่มีประเทศที่เจริญใดในโลกที่ผู้บริสุทธิ์ถูกดำเนินคดีกันมากมาย ส่วนคนร้ายตัวจริง รัฐกลับปล่อยให้ “ลอยนวล” เนื่องจากหลักฐานการกระทำผิดที่อัยการฟ้องไปไม่พอให้ลงโทษ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ทำให้ “อาชญากรกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ สามารถเดินเย้ยผู้เสียหายให้เกิดความคับแค้นใจได้เช่นประเทศไทย!

                ช่วงนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้รัฐมนตรีและผู้รับผิดชอบฝ่ายต่างๆ เตรียมแถลงสรุปผลงานการบริหารประเทศในช่วงเวลาเกือบห้าปีที่ผ่านมาหลังเข้า ยึดอำนาจ

                ก็คงจะมีการนำตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความสำเร็จด้านต่างๆ มาแสดงเป็นหลักฐานประกอบการแถลงผลงาน ซึ่งไม่ทราบว่าแต่ละเรื่องจะตรงกับ ความเป็นจริงที่ซ่อนเร้น และ เป็นที่เชื่อถือของประชาชนมากน้อยเพียงใด?

                โดยเฉพาะเรื่อง การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งมีรัฐมนตรีผู้ที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐคนหนึ่งออกมาบอกเมื่อสองวันก่อนว่า ได้เสร็จไปเรียบร้อยแล้ว กฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปด้วยดี?

ผู้คนที่สนใจได้ฟังแล้ว ต่างงุนงง กฎหมายปฏิรูปตำรวจอะไรที่ผ่านสภาไปดังว่า

                เพราะในความเป็นจริง ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นกฎหมายปฏิรูปตำรวจสำคัญที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างใหม่ หลังจากมอบหมายให้ พลเอกบุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ครั้งแรกไม่เป็นที่พอใจ

ได้ถูกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญในหลายประเด็น เช่น ให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน แพทย์พยาบาล และการศึกษาโรงเรียนตำรวจต่างๆ เป็นตำรวจไม่มียศแบบทหาร

ให้โอนหลายหน่วยงานไปยังกระทรวงและส่วนราชการที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจป่าไม้ไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุบตำรวจรถไฟ และตำรวจจราจรไปเทศบาลนครและเมืองใหญ่

ในเรื่องการแต่งตั้ง ก็กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่ ป้องกันมิให้มี การขายตำแหน่ง ให้ประชาชนร่วมประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ ฯลฯ ถือว่าดีขึ้นระดับหนึ่ง

แม้จะยังไม่สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่อง ตำรวจจังหวัด  ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบประเมินผลและการกำกับควบคุมของ คณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งในอนาคตก็ตาม 

ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับนี้ได้ถูกส่งไปให้นายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อให้รีบส่งถึงประธานสภา สนช. ให้พิจารณาตราเป็นกฎหมายใช้บังคับให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

แต่ปรากฏว่า จนกระทั่งป่านนี้ ร่างดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด โดยไม่มีใครรู้เหตุผลเบื้องหลังที่แท้จริง?

ทราบว่าได้มีการส่งไปให้ตำรวจแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่กระบวนการร่างกฎหมายได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้านตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 77 เรียบร้อยแล้ว

ใครเป็นคนสั่งให้ส่งไป และส่งกลับไปเพื่ออะไร มีเจตนาอย่างไร ไม่เคยมีใครชี้แจงหรืออธิบาย?               กฎหมายปฏิรูปตำรวจยังไม่ได้ผ่านแม้กระทั่งความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่กลับมีคนของรัฐบาลบอกว่า  การปฏิรูปตำรวจเสร็จแล้ว!

ถือเป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนหรือไม่?  และการแถลงในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย จะเชื่อถือได้เพียงใด?.

ที่มา:คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, January 28, 2019