กฎหมาย’ป้องกันตำรวจรีดไถ’ ‘จับคนเรียกค่าไถ่’นายกฯจะเลื่อนการใช้ใน 22 ก.พ.นี้หรือไม่?

กฎหมาย’ป้องกันตำรวจรีดไถ’ ‘จับคนเรียกค่าไถ่’นายกฯจะเลื่อนการใช้ใน 22 ก.พ.นี้หรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

กฎหมาย“ป้องกันตำรวจรีดไถ”“จับคนเรียกค่าไถ่”นายกฯจะเลื่อนการใช้ใน 22 ก.พ.นี้หรือไม่?

 

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

คำว่า ตำรวจ นั้น ตามความหมายแท้จริงคือ Function หรือ บทบาทหน้าที่

ความเป็นตำรวจผู้รักษากฎหมายหรือ Police จึงไม่ได้มีเฉพาะหน่วยงานที่เรียกว่าตำรวจแห่งชาติอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจแต่อย่างใด

เจ้าพนักงานทุกกระทรวงทบวงกรม ผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมายในความรับผิดชอบและจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ เจ้าพนักงานทางหลวง เจ้าพนักงานขนส่ง เจ้าพนักงานประมง เจ้าพนักงานศุลกากร เจ้าพนักงานสรรพสามิต เจ้าพนักงานเทศกิจ และอีกมากมาย

จะมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีด้วยหรือไม่ ก็ถือได้ว่าเป็นตำรวจตามความหมายนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

 ที่เรียกว่าตำรวจชัดๆ ได้แก่ ตำรวจรัฐสภา และตำรวจศาล

ฉะนั้น ตำรวจไทยในระบบพลเรือน ที่ไม่มียศและโครงสร้างการจัดองค์กรรวมทั้งระบบการปกครองแบบทหาร จึง มีมานานแล้ว

ซ้ำส่วนใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและประหยัดเงินภาษีประชาชนกว่าพวกตำรวจมียศเป็นนายพลนายพันกันมากมาย

และสื่อก็ไม่ได้เรียก “ตำรวจไม่มียศ” เหล่านี้ว่า “บิ๊ก” หรือ “ท่าน” กันอย่างที่ชอบเรียก “ตำรวจผู้ใหญ่” ในองค์กรตำรวจไทยให้ดูใหญ่โตโอ่อ่าแต่อย่างใด!

อย่างไรก็ตาม หน่วยตำรวจที่มีหน้าที่ ตรวจตราการกระทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งมีคนอยู่จำนวนมาก รวมทั้ง มีอำนาจสอบสวน ไปพร้อมกันทุกคดีโดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือควบคุมการทำงานของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือแม้กระทั่ง อัยการผู้รับผิดชอบการสอบสวน

ก็คือ ตำรวจแห่งชาติ

ปัญหาตำรวจไทยที่เลวร้ายในเวลานี้จึงมีเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย คล้าย มรดกปีศาจ!

ไม่ว่าจะเป็นกรณี ดาราสาวไต้หวันกับเพื่อน ที่ถูกตำรวจนครบาล “ตั้งด่านตรวจค้น” ขอตรวจหนังสือเดินทางอย่างผิดกฎหมาย โดยอ้างว่ามีบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งที่พวกเธอซื้อมาจากแผงวางขายในตลาดห้วยขวาง ห่างสถานีตำรวจไม่ถึงหนึ่งร้อยเมตร!

เธอกับพวกรวม 4 คน ถูกควบคุมตัวไว้และขอ ค่าไถ่ เป็นเงิน 27,000 บาท

ซึ่งการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ความชั่วร้ายของตำรวจไทย เมื่อเดินทางกลับไป เกือบทำให้เธอในฐานะ ผู้เสียหาย ต้องกลายเป็น ดาราสาวขี้เมา และ ผู้หญิงกะล่อนปลิ้นปล้อน ไปอย่างไม่น่าเชื่อ!

ตำรวจผู้ใหญ่พยายามให้ข่าวว่า เธอน่าจะอยากดังต้องการสร้างยอดไลก์ยอดวิวหารายได้ โดยใช้วิธี สุมหัวกันสร้างหลักฐานเท็จ รวมทั้ง การสอบสวนทำลายพยาน!

ซึ่งถ้าคุณชูวิทย์ไม่สามารถติดต่อ ประจักษ์พยาน ชาวสิงคโปร์เดินทางมาประเทศไทยโดยรับรองความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกตำรวจ สอบสวนให้กลายเป็นผู้ต้องหาไป และแอบซ่อนนำตัวให้ปากคำต่อหน้าสื่อในวันรุ่งขึ้นได้

ดาราสาวไต้หวันก็คงกลายเป็น แกะ เป็นคนพูดเพ้อเจ้อโกหกพกลม สื่อส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือคำพูดของเธอไป

และก็คงไม่มีสอบสวนออกหมายจับ แพะ ที่เป็นตำรวจผู้น้อย 6 คน ซึ่งตั้งด่านตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มองหาเหยื่อจับตัวประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไปเรียกค่าไถ่ และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 149 อย่างแน่นอน

ตามมาด้วยการเปิดเผยของ ดิว ดาราสาวไทย ในเรื่องที่ถูกอดีตสามีเจ้ามือพนันออนไลน์ทำร้ายร่างกายมาอย่างต่อเนื่องหลายปี

เธอบอกโยงไปว่า มี นายร้อยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่หน้าห้องผู้บัญชาการ ร่วมขบวนการเจ้ามือพนันออนไลน์นี้!

ตามด้วยกรณีมีชายหนุ่มเดินทางไปร้องทุกข์กับ สายใหมต้องรอด แทนที่จะเป็นสถานีตำรวจ!

ให้ ช่วยพาไปแจ้งความกับตำรวจ กรณีที่ถูก นายพลตำรวจตรีเจ้ามือพนันออนไลน์รายใหญ่ ส่งลูกน้องมารุมทำร้ายจนปางตาย และขู่จะฆ่าให้หมดทั้งบ้าน

เนื่องจากทำหน้าที่แอดมินเว็บพนันได้ยอดไม่เข้าเป้าตามที่สั่งกำชับไว้!

คดีมีหลักฐานการกระทำผิดชัดเจน เนื่องจาก คนถูกทำร้ายเป็นทั้งผู้เสียหายและพยาน เคยพบพูดจาปัญหาการทำเว็บพนันกันกับนายพลตำรวจตรีคนนี้ ที่เป็นผู้ใช้จ้างวานให้มีการทำร้าย

แต่กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ยินข่าวการแจ้งข้อหาดำเนินคดีมีการออกหมายจับพลตำรวจตรีคนนี้เหมือนกรณีที่ปฏิบัติกับประชาชนผู้กระทำผิดแต่อย่างใด?

ต่อมาอีกไม่กี่วัน คุณชูวิทย์ก็ได้เปิดเผยว่า แก๊งเจ้ามือพนันออนไลน์รายใหญ่ประเทศไทยที่แท้จริงมี “นายพลตำรวจ จ.” เป็นหัวหน้า คนนี้เป็นที่รู้กันว่า “ชอบตรวจงาน 5 ส.”

ใช้ หน่วยตำรวจที่รับผิดชอบ เป็นเครื่องมือหากินจัดตั้งเครือข่ายตำรวจ เก็บส่วย จนร่ำรวยมีฐานะเข้าขั้นเศรษฐีมานานหลายปี

รวมทั้ง เป็นผู้ชี้ช่องให้ผู้ต้องหาเว็บพนันสำคัญแก๊งหนึ่งรีบบึ่งรถหนีออกนอกประเทศไป

ปัญหาตำรวจไทยใช้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าระดับใดเป็น รังโจร สั่งผู้ใต้บังคับบัญชาออกเดินสาย หรือตั้งด่านรีดไถ

ใครไม่ยอมจ่ายหรือไม่ตรงกำหนด ก็ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นให้หวั่นไหว หรือจับตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

เป็นที่มาให้ผู้กระทำผิดกฎหมายในประเทศไทยทุกคนต้อง “ส่งส่วย” ให้ตำรวจผู้ใหญ่หัวหน้าหน่วยจนหลายคนร่ำรวยเป็นเศรษฐีกันมากมาย

กฎหมายที่จะแก้ปัญหานี้ได้ทันทีไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ได้ผ่านสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 25 ตุลาคม 2565 จะ มีผลใน 120 วัน คือ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สาระที่สำคัญมีดังนี้

            1.การจับและควบคุมบุคคลทุกครั้งต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน

            2.ผู้รับผิดชอบการจับต้องแจ้งให้นายอำเภอและอัยการทราบเพื่อตรวจสอบความชอบของการจับนั้นพร้อมกันทันที

            3.กรณีมีผู้ทราบการละเมิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายหรือละเมิดศักดิ์ศรีฯ ให้แจ้งนายอำเภอและอัยการสอบสวนดำเนินคดีได้

            กฎหมายนี้จะมีผล “ทำให้เกิดการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่” เมื่อถึงวันบังคับใช้

            แต่ ตร.ผู้ใหญ่ไม่ต้องการให้มี และวิธีทำได้มีทางเดียวคือ “หลอกนายกรัฐมนตรี” ให้ “ออกพระราชกำหนด” เลื่อนการใช้ออกไป โดยอ้างว่ายังไม่พร้อม!

ขณะนี้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังเฝ้าจับตาดูว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกล้าใช้อำนาจบริหารในการออก “พระราชกำหนด” ที่ “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

เลื่อนการบังคับใช้ออกไปหกเดือนหรือหนึ่งปีตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการกำลังพยายาม “หลอกล่อ” เพื่อซื้อเวลา

จะได้ “หาทางยกเลิกมาตราสำคัญของกฎหมายนี้” ในที่สุดหรือไม่?.


ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2566