กฎหมายจราจรใหม่ ค่าปรับโหด ตร.มีประโยชน์ทับซ้อน ประชาชนเดือดร้อน หากไม่เร่งปฏิรูป

กฎหมายจราจรใหม่ ค่าปรับโหด ตร.มีประโยชน์ทับซ้อน ประชาชนเดือดร้อน หากไม่เร่งปฏิรูป

ยุติธรรมวิวัฒน์

กฎหมายจราจรใหม่ ค่าปรับโหด ตร.มีประโยชน์ทับซ้อน ประชาชนเดือดร้อน หากไม่เร่งปฏิรูป

 

          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เรื่อง น.ส.กรศศิร์ บัวแย้ม เข้ารับราชการตำรวจได้โดย ไม่ผ่านการสอบแข่งขัน ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเธอ ส.ว. หรือว่าใคร “ฝาก”

หากแต่อยู่ที่ ตำรวจผู้สั่งบรรจุแต่งตั้งคือใคร? กระทำโดยชอบตามกฎหมายและ “ระบบคุณธรรม” ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่?

ถ้าไม่ชอบ ก็ต้องเพิกถอนคำสั่งและ ดำเนินคดีอาญากับทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เข็ดหลาบ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการบรรจุคนเข้ารับราชการตำรวจโดยมิชอบเช่นนี้ และที่ผ่านมาอีกนับร้อยนับพันรายต่อไป!

วันนี้ (5 ก.ย.) เป็นวันที่เริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรใหม่ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิมที่เป็นหลักของประเทศมานานตั้งแต่ปี พ.ศ.2522

ถือเป็นการแก้ไขกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ซึ่ง ประชาชนอ่านและเข้าใจได้แสนยาก!

เนื่องจากมีความสลับซับซ้อน แต่ละมาตราโยงกับกฎหมายเดิม รวมทั้ง คำสั่ง หน.คสช. ยกเลิกมาตรานั้นใช้มาตรานี้ มี บทกำหนดโทษแยกโยงไว้ให้ประชาชนศึกษากันเอาเอง ในตอนท้าย

ผู้คน แม้กระทั่งนายพลตำรวจผู้ใหญ่หลายคนก็ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจและปฏิบัติไม่ได้ หรือ “ไม่คิดจะปฏิบัติ” อะไรด้วยซ้ำ!

การแก้ไขกฎหมายจราจรใหม่นี้ จึงส่งผลทำให้ผู้คน โดยเฉพาะคนยากจนทั้งประเทศทุกเพศวัยรู้สึกหวั่นไหวในการขับรถ ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางยิ่งในทุกพื้นที่ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นพลเมืองดีเพียงใด และไม่ได้มี เจตนากระทำผิด หรือ เถยจิต คิดร้ายต่อรัฐหรือใคร เช่นการกระทำความผิดทางอาญาทั่วไปก็ตาม

เป็นการร่างกฎหมายของตำรวจเสนอรัฐบาลผ่านสภา และ นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยไม่สนใจว่าประชาชนทั่วไปจะอ่านเข้าใจโดยง่าย และสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ รวมทั้ง จะมีปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันกันมากน้อยเพียงใด?

วัตถุประสงค์ของการแก้ไขมีนัยว่า เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนของประชาชน เป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งประเทศไทยมีสถิติสูงเป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกติดต่อกันมาหลายปี

แนวความคิดในการแก้ปัญหา เน้นไปที่การเพิ่มโทษ ปรับเงินประชาชนผู้กระทำผิดให้สูงขึ้น หนึ่งถึงสามเท่า!

เช่น กรณีไม่สวมหมวกนิรภัย เพิ่มโทษปรับจาก 1,000 เป็น 2,000 และอีกหลายข้อหาเพิ่มจาก 1,000 เป็น 4,000 บาท!

เพิ่มความผิดฐาน “พยายามแข่งรถ” มี องค์ประกอบของการกระทำต่างไปจากกฎหมายอาญามาตรา 80 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใด ลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด”

แต่ พ.ร.บ.จราจรที่แก้ไขนี้ แค่มีพฤติการณ์นำรถที่แต่งหรือดัดแปลงมา รวมกลุ่มกันในทางหรือสถานที่สาธารณะใกล้ทางเกินห้าคนขึ้นไป ก็อาจถูกจับดำเนินคดีข้อหาพยายามแข่งรถได้!

มีโทษ จำคุกหนึ่งในสาม ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาคือ หนึ่งเดือน

เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวลูกชาวบ้านที่ขี่รถจักรยานยนต์ตกแต่งหรือดัดแปลงนัดหมายกันหลายสิบคันไปงานขึ้นบ้านใหม่ ไปดูการแสดงหมอลำหรือคอนเสิร์ตต่างๆ ต้องจอดรถห่างกันเข้าไว้!

อย่าไปจอดเป็นกลุ่มรวมเกินห้าคัน เพราะอาจตกเป็น “เหยื่อ” ของตำรวจบางคนได้

การบังคับให้ผู้โดยสารเบาะหลังรถยนต์ต้องคาดสายรัดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งให้มี เบาะนั่งเฉพาะ สำหรับเด็กทุกคนและอีกมากมาย

ปัญหาสำคัญของการออกกฎหมายประเทศไทยก็คือ ทุกเรื่องกำหนดจากอำนาจส่วนกลาง ซึ่งบางคนไม่ได้มีความเข้าใจและเป็นไปอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมในแต่ละพื้นที่

ข้อห้ามบางกรณีเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับในเขตเมืองหรือทางหลวงสายใหญ่ เช่นการสวมหมวกนิรภัย

แต่ประชาชนก็ไม่ควรต้องเดือดร้อน เนื่องจาก ถูกตำรวจตั้งด่านกีดขวางทางสัญจรอย่างผิดกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเรียกจับตามเป้าที่เจ้านายกำหนดไว้

ยิ่งในเขตท้องนาหรือป่าเขา การเดินทางไปทำงานหรือหาสู่ของผู้คนในหมู่บ้าน ตำรวจผู้น้อยก็ต้องตั้งด่านและจับ ปรับประชาชนที่ยากจนในอัตราที่ตำรวจผู้ใหญ่ในส่วนกลางกำหนดไว้เช่นกัน

ซ้ำอัตราค่าปรับใหม่ก็สูงถึง 2,000 บาท โดยพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการปรับต่ำกว่าที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมตามพฤติการณ์กระทำผิดของแต่ละคนได้

เนื่องจากถูกหน่วยเหนือและ เจ้านายกำหนดให้ทำ “สถิติการจับ” และ “ค่าปรับ” ในแต่ละวันและเดือนให้ได้เท่านั้นเท่านี้

ใครทำไม่เข้าเป้า ก็จะ ถูกสั่งเปลี่ยนหน้าที่ ให้คนที่ จับและปรับโหด ได้เงินมากกว่ามาทำแทน!

ประชาชนคนไทยทั้งหญิงชายผู้ยากจนที่จำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปโรงเรียนหรือสถานศึกษาหรือประกอบอาชีพต่างๆ จึง ตกเป็นเหยื่อของตำรวจที่ไร้คุณธรรมกันมากมาย

ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะ พ.ร.บ.จราจรฯ นั้น สิ่งสำคัญยิ่งคือ การใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานในการจับและปรับตามกฎหมาย

บางรายเมื่อพบว่ากระทำผิด จับแล้วจะ ว่ากล่าวตักเตือน ให้รู้ตัวไม่ทำผิดอีกก็ได้ หากเห็นว่าไม่ใช่เป็นการกระทำที่ร้ายแรงอะไร

พนักงานสอบสวนก็ต้องมีอำนาจในการ สอบสวนหาความจริงและเปรียบเทียบปรับ ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์กระทำผิดและสถานะทางเศรษฐกิจของบุคคลซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้งทางภูมิศาสตร์ และเขตจังหวัดแม้กระทั่งอำเภอ

ไม่ใช่เช้าขึ้นมาก็ นำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาขวางถนน ตั้งด่านขอตรวจค้นจับและปรับประชาชนกัน อย่างไม่ลืมหูลืมตา โดย หวังทำเป้ายอดจับและค่าปรับให้ได้ ตามที่เจ้านาย สั่งและคาดโทษไว้

เพื่อที่จะหัก ส่วนแบ่ง เป็นรายได้ที่มิชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.เงินคงคลัง นำไป “ส่งส่วย” สร้างความร่ำรวยให้เจ้านายกันมากมายเช่นปัจจุบัน!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 5 ก.ย. 2565

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 5 ก.ย. 2565