5พรรคการเมืองประชันโยบายปฏิรูปตำรวจเห็นตรงกันแยกงานสอบสวน

5พรรคการเมืองประชันโยบายปฏิรูปตำรวจเห็นตรงกันแยกงานสอบสวน

police reform

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ มีการเปิดเวทีเสวนาโดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองการแสดงวิสัยทัศน์ ในหัวข้อ “นโยบายพรรคการเมือง ต่อการปฏิรูปตำรวจและงานสืบสวน”จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ(คปตร.) และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีตัวแทน 5 พรรคการเมือง เข้าร่วมเวที ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีการเชิญร่วมเวทีแต่ไม่มีการส่งตัวแทนมาร่วมแต่อย่างใด โดยมีน.ส.ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ในวงเสวนาผู้จัดได้กำหนด 5 ประเด็นให้แต่ละพรรคการเมืองกล่าวถึงนโยบายพรรคตัวเอง ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจเป็นตำรวจจังหวัด 2.การแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ 3.การสร้างระบบตรวจสอบการสอบสวนจากภายนอกโดยพนักงานอัยการและฝ่ายปกครองในคดีสำคัญ หรือ เมื่อมีการร้องเรียนตามหลักสากล 4.การออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอจากพนักงานอัยการ 5.การโอนตำรวจเฉพาะทาง 11 หน่วยและงานสอบสวนให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ 6.การจัดตั้งศาลจราจรให้เปรียบเทียบปรับคดีจราจร

ดร.ร.ต.อ.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า หลังมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนและรัฐบาลที่ดี มิติที่ประชาชนคาดหวังคือเรื่องการทำให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่กล่าวถึงมากที่สุดและถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นครั้งแรก และเมื่อเลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนจะต่อยอดการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

พล.ต.ต.มณเฑียร ประทีปวณิชย์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการโอนตำรวจ 11 หน่วย เพราะไม่ได้เป็นการตัดอำนาจสอบสวน และเห็นด้วยกับการตั้งศาลจราจรเพื่อให้ผู้ทำผิดเข็ดหลาบ ปัญหาต่างๆจะน้อยลง ถ้าเสียค่าปรับก็จะทำผิดอีก แต่ไม่เห็นด้วยที่จะกระจายอำนาจให้เป็นตำรวจจังหวัด ถามว่าจังหวัดมีความพร้อมหรือไม่ คิดว่าตรงไหนมีปัญหาก็เข้าไปแก้ไขตรงนั้น ส่วนการแยกการสอบสวนออกจากตำรวจมีตัวอย่างที่ไม่เป็นผลสำเร็จมาแล้วทั้ง ดีเอสไอที่คดีค้างกว่า 3-4 หมื่นคดี ป.ป.ช.ค้าง 4-5 หมื่นคดี ส่วนการเปิดให้อัยการมีส่วนร่วมในการสอบสวนไม่เห็นด้วยเพราะการร่วมหลายหน่วยไม่ใช่เรื่องง่าย แทนที่จะเร็วก็อาจจะช้าในการปฏิบัติ

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจแต่ไม่เห็นด้วยที่นำไปผูกกับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเดิมทีตำรวจขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยก็มีปัญหามากมาย ตอนนี้ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ถามว่าจะมีหลักประกันอะไร ในการแต่งตั้งโยกย้ายของผู้ว่าราชการจังหวัด จะรู้หรือว่าตำรวจคนนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นแนวทางแก้ไขคือต้องยกระดับตำรวจให้เป็นอธิบดีภาคให้หมดเหมือนกับอัยการ ผู้พิพากษา แต่งตั้งมาจากคณะกรรมการที่อยู่ในจังหวัดที่ประกอบด้วยผู้ว่าฯ หัวหน้าศาล อัยการ หัวหน้าหน่วยงานที่มีชื่อเสียง

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ส่วนการแยกการสอบสวนออกจากตำรวจเห็นด้วย แต่ถามว่าหน่วยไหนจะรับงานไป อัยการก็ยังไม่เอา แต่เชื่อว่าตำรวจยกให้ จึงคิดว่างานสอบสวนจะต้องอยู่กับตำรวจต่อไปดังนั้นเราจะแก้ไขอย่างไรโดยให้พนักงานสอบสวนต้องเป็นวิชาชีพเหมือนอัยการ ศาล และเห็นด้วยที่คนภายนอกมาร่วมตรวจสอบ เห็นด้วยกับการโอน 11 หน่วยเฉพาะทาง เพราะบางเรื่องตำรวจไม่มีความรู้ ยกตัวอย่างการตรวจอาคาร ถามว่าตำรวจมีความรู้เรื่องก่อสร้างอาคารที่ไหน ตำรวจไม่มีความรู้ และงานเยอะล้นมือ

ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ ตัวแทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า สนับสนุนตำรวจจังหวัด แต่ที่มาของผู้ว่าฯต้องชัดเจนก่อนว่าจะมีคุณภาพจริงไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง เห็นด้วยที่แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจเพราะงานหนักจริงๆ สิ่งที่ควรทำคือรับเจ้าหน้าที่นิติศาสตร์เข้ามาโดยเฉพาะให้เข้าเป็นพนักงานสอบสวน และมีความก้าวหน้าเหมือนอัยการ และผู้พิพากษาได้ เห็นด้วยที่มีคนภายนอกมาช่วยตรวจสอบตำรวจแต่อยากให้มองในมุมช่วยกันทำงานดีกว่า อย่างเช่นเก็บพยานหลักฐาน บางครั้งอยากให้โรงพยาบาลมาช่วย ตำรวจก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเท่ากับคุณหมอ รวมทั้งเห็นด้วยในการโอน 11 หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาขอให้โอนได้เลย แต่ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกับตำรวจดับเพลิง

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่เรื่องของตำรวจความดีความชั่วก็เหมือนที่ท่านพูดอยู่ที่ตัวบุคคล ต้องแยกออกจากการกระจายอำนาจนำมารวมกันไม่ได้ ส่วนการจะให้ตำรวจไปขึ้นกับใครก็ยังมองว่าให้คนของเขาดูแลคนของเขา ส่วนจะออกมาเป็นภาคหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ประเด็นสำคัญต้องมีการถ่วงดุล ทำไมไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล เรื่องอย่างนี้คณะกรรมการประจำจังหวัด ที่มี นักธุรกิจ ประชาชน ข้าราชการ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะความไม่เชื่อใจอยู่ที่สถาบัน ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล เมื่อไรที่แยกส่วนตรงนี้ได้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือก็ควรทำในสังคมไทย เพราะความน่าเชื่อถือคือเรื่องใหญ่ของข้าราชการ

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ส่วนอำนาจในการสอบสวนนั้นในอดีตพนักงานสอบสวนคือฝ่ายปกครอง ซึ่งตำรวจเองก็ไม่อยากได้ก็คืนกลับไปฝ่ายปกครองที่จบนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์มา ถ้าตำรวจจะบอกว่าในที่สุดอยากได้อำนาจคืน จะกลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ก็ไม่ว่าในระยะยาว และไม่เห็นด้วยหากให้อัยการออกหมายเรียกและหมายจับถ้าออกหมายเรียกแล้วต้องวิ่งไปอัยการเป็นการเพิ่มภาระงาน งานสอบสวนหากเพิ่มขั้นตอน แต่เห็นด้วยที่โอนตำรวจ 11 หน่วยให้ เพราะบางเรื่องตำรวจไม่มีความรู้ แต่ต้องค่อยทำค่อยไปไม่ต้องบังคับว่าเขาต้องไป

พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเงินเดือนยังน้อย คนจึงเป็นพนักงานสอบสวนน้อย ดังนั้นต้องเพิ่มเงินเดือนใกล้เคียงกับอัยการกับศาล เพิ่มระบบสอบเข้าให้ยากเหมือนอัยการเพื่อจะช่วยเพิ่มดุลพินิจให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ปัญหาปัจจุบันคือตำรวจมีคดีในมือเยอะ โรงพักขาดทรัพยากร เมื่อคดีเยอะมากกว่าทรัพยากรก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ คือ คดีดัง คดีคนรวย คดีคนมีเส้น คนดีคนจนจึงถูกละเลย เกิดความไม่เท่าเทียม แต่จะไม่โทษเจ้าหน้าที่ เพราะตนเองก็เพิ่งลาออกจากตำรวจก็เข้าใจ ความอึดอัดความช้ำใจของตำรวจที่ระบบอุปถัมภ์คนที่มีเส้นจะได้รับการโปรโมทมากกว่าคนดี ซึ่งสาเหตุปัญหาต้นตอคือเรามีสายบังคับบัญชาที่ยาวเกินไป ถ้าตัดสายบังคับบัญชาก็จะตัดระบบอุปถัมภ์ได้ด้วย

ส่วนการให้อัยการมีอำนาจออกหมายเรียกหมายจับนั้น เชื่อว่าการเพิ่มอัยการเข้าไปคือการเพิ่มขั้นตอน ทำให้อรอบคอบแต่ช้าขึ้นและเพิ่มภาระงาน อาจจะมีการเพิ่มงบประมาณมากขึ้น เราทำให้ขั้นตอนสั้นลงจะดีกว่าหรือไม่ด้วยการปฏิรูปโครงสร้าง แยกฝ่ายจับกับสอบสวนออกจากกัน แต่อีกมุมมองว่าพนักงานอัยการมีดุลพินิจในการออกหมายเรียกและหมายจับก็เป็นเรื่องดีเพื่อลดภาระศาล

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ผู้เขียนหนังสือ”วิกฤติตำรวจและงานสอบสวนจุดดับกระบวนการยุติธรรม”ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาตำรวจคือการขาดการตรวจสอบจากองค์กรอื่น เพราะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีและกำกับกันเอง 100% ไม่มีเครื่องมือในการดูแลตำรวจ ดังนั้นต้องกระจายให้ต่างจังหวัดรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่เป็นการให้ อบต.รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมตำรวจ ส่วนประเด็นแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ หมายถึงจะทำอย่างไรให้แยกออกจากตำรวจ เราต้องออกแบบงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพเพื่อลงโทษผู้ทำผิดถูกตัว ทั้งนี้หัวใจงานสอบสวนคือปัญหาการขาดการตรวจสอบจากภายนอก