‘ไม่มีตำรวจภาค’ไม่มีบ่อนใหญ่และผับบาร์เถื่อนทั่วไทย

‘ไม่มีตำรวจภาค’ไม่มีบ่อนใหญ่และผับบาร์เถื่อนทั่วไทย

ยุติธรรมวิวัฒน์

“ไม่มีตำรวจภาค” ไม่มีบ่อนใหญ่และผับบาร์เถื่อนทั่วไทย

          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์ไฟไหม้ ผับเถื่อนขนาดใหญ่ ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่เรียกกันว่า “เมาน์เทนบี” ทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 18 คน บาดเจ็บสาหัสอีกกว่าครึ่งร้อย

พื้นที่รับผิดชอบของ ตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งมี สำนักงานเป็นอาคารสร้างใหม่ที่ใหญ่โตโอ่อ่า ตั้งอยู่ไม่ไกล ประชาชนแทบไม่ได้ยินความเคลื่อนไหวของ ผู้บัญชาการตำรวจภาคหรือรองผู้บัญชาการยศพลตำรวจโทและตรีซึ่งมีอยู่มากมายถึงเจ็ดแปดคน

ไม่ได้เห็นใครไปเดินตรวจที่เกิดเหตุสืบสอบอย่างขะมักเขม้นว่า ผับเถื่อนใหญ่ขนาดนี้มันตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีพื้นที่รับผิดชอบการรักษาความสงบเรียบร้อยของตัวเองมานานกว่าสองเดือนได้อย่างไร?

ตั้งคำถามว่า ตำรวจระดับใดบกพร่องไม่ทำหน้าที่ตรวจตรา หรือว่าหัวหน้าสถานีและหัวหน้าตำรวจจังหวัดมีพฤติกรรมทุจริต “รับส่วยสินบน” ส่งต่อตามลำดับชั้นให้ใครกันบ้างหรือไม่?

ส่วนตำรวจผู้น้อยด้วยกันรวมทั้งประชาชนนั้น เขาล้วนไม่สงสัยว่า เป็นเพราะอะไร!

ขณะนี้ผู้มีหน้าที่ได้แต่โยนกันไปมาว่า เป็นงานรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้

และที่แสนพิลึกก็คือ ตำรวจหัวหน้าสถานีบอกไม่รู้เป็น ผับเถื่อน เข้าใจว่ามีปัญหาเรื่องถูกร้องเรียนส่งเสียงดังเดือดร้อนรำคาญอย่างเดียว!

คำสั่ง เด้ง ของตำรวจระดับบังคับบัญชาก็ไม่ต่างจากทุกกรณีที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีใครรับส่วยสินบน อะไรบ้างหรือไม่ เดือนละเท่าใด?

ผลที่ได้ก็คงเหมือนทุกเรื่องคือ ไม่พบหลักฐานว่ามีใครทุจริตหรือกระทำความผิดทางวินัยที่ชั่วร้ายอะไร ควรให้อยู่รับราชการเป็นตำรวจผู้รักษากฎหมายบ้านเมืองต่อไป ลงโทษแค่ย้ายหรือทางวินัยก็นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น

ประเทศไทยแต่ไหนแต่ไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้มีการบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาขึ้นใน พ.ศ.2477

ถือเป็น กฎหมายแม่บทของการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมไทยเช่นเดียวกับในอารยประเทศทั่วโลก

กำหนดให้ทั้งพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพื่อให้ทราบรายละเอียดแห่งความผิด หรือที่เรียกว่า การสืบสวน เพื่อป้องกันอาชญากรรมหรือการกระทำผิดกฎหมายในทุกเรื่อง

และเมื่อป้องกันไม่ได้ ทั้งสองหน่วยต่างก็มีหน้าที่ สอบสวน คือรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาส่งให้อัยการฟ้องลงโทษ

ในส่วนภูมิภาคทั้งฝ่ายปกครองและตำรวจล้วนมีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 18 ส่วนในจังหวัดพระนครและธนบุรี กำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจฝ่ายเดียว

การสอบสวนในต่างจังหวัดได้มีการผลัดเปลี่ยนมือกันไปมาระหว่างฝ่ายปกครองกับตำรวจขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งช่วงที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแต่ละยุคสมัย

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการณ์ตาม ป.วิ อาญา ได้ออก ข้อบังคับ ให้หน่วยใดรับผิดชอบการสอบสวนเจ้าพนักงานทุกฝ่ายและทุกหน่วยก็ปฏิบัติไปตามนั้น

อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาตำรวจใช้อำนาจโดยทุจริตหรือมิชอบ รวมทั้งการ ไม่ยอมสอบสวนรับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย มากมายเท่าปัจจุบัน

เนื่องจากกรมตำรวจอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าสถานีที่เรียกกันว่า สารวัตรใหญ่ยศแค่พันตำรวจโท หรือแม้กระทั่งหัวหน้าตำรวจจังหวัดที่เรียกว่าผู้กำกับยศแค่พันตำรวจเอก ทุกคนต่างก็เกรงใจนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดรวมทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วยกันทั้งสิ้น

รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสั่งราชการอะไรไปถึงผู้ว่าฯ ก็สามารถ สั่งต่อ ไปให้หัวหน้าตำรวจจังหวัดและนายอำเภอไปจนถึงหัวหน้าสถานีถือปฏิบัติได้ทุกเรื่อง

แม้แต่เจ้ามือหวยใต้ดินยังต้องแอบซ่อนแอบลักลอบเล่นกัน ส่วนบ่อนพนันขนาดใหญ่และสถานบันเทิงฝ่าฝืนกฎหมายไม่ต้องพูดถึง เกิดขึ้นได้ยากมาก

หากหัวหน้าสถานีตำรวจคนใดรู้เห็นเป็นใจให้มีการเปิดบ่อนหรือแม้กระทั่งปล่อยปละละเลยให้มีสถานบันเทิงเถื่อนขึ้น  นายอำเภอ ผู้ว่าฯ รู้เข้าก็สามารถสั่งให้หัวหน้าหน่วยตำรวจไปตรวจสอบและจับกุมรายงานผลให้ทราบได้

ใครขัดขืนหรือดื้อดึง นายอำเภอก็รายงานตามลำดับชั้นต่อผู้ว่าฯ ไปจนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยให้สั่งอธิบดีกรมตำรวจจัดการหรือดำเนินคดีวินัย หรือแม้กระทั่งย้ายให้พ้นไปจากจังหวัดได้

กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-4 เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรในการรักษาความสงบเรียบร้อยของจังหวัดแต่อย่างใด

แต่ในปี 2539 ได้มีคนคิดพิเรนทร์ต้องการให้ตำรวจเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ได้ขยายและจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจเป็น 9 ภาคขึ้น แทนกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 1-9 ซึ่งดูเล็กไป  ให้มีหัวหน้าตำรวจภาคเรียกว่าผู้บัญชาการยศพลตำรวจโท

ใหญ่โตกว่า “แม่ทัพภาค” ของกองทัพบก ซึ่งมีแค่ 4 ภาคเท่านั้น แต่ ทำหน้าที่ ผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคและผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ ผอ.กอ.รมน.จังหวัด

ซ้ำในปี 2541 ได้มีการแยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทยให้ไปเป็นหน่วยงาน ขึ้นตรงต่อตัวบุคคลคือนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมีกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานใดตรวจสอบประเมินผลและควบคุมอีกต่อไป

ส่งผลทำให้พฤติกรรมและความเกรงใจต่อนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดของหัวหน้าสถานีและหัวหน้าตำรวจจังหวัดเปลี่ยนไปทันที

ได้มีการยกระดับชั้นยศตำรวจหัวหน้าสถานีแม้ว่าจะมีผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ถึงสี่สิบคน ก็ยศพันตำรวจเอก หัวหน้าตำรวจจังหวัดยกระดับขึ้นมีพลตำรวจตรี พูดเองเออเองว่า เป็นยศเทียบเท่าข้าราชพลเรือนระดับอธิบดีซี 10

ดาวหรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า ดอกจัน บนบ่าใหญ่โตโอ่อ่า บางคนไม่สามารถนั่งร่วมประชุมกับผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดประจำเดือนที่คิดว่าเขาด้อยกว่าได้

เพราะรองผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการที่ร่วมประชุมซักถามงานเกี่ยวกับตำรวจเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างดีก็แค่ซี 9 เท่านั้น

ปัจจุบันส่วนใหญ่อาจกล่าวได้ว่ากว่าร้อยละ 90 ผู้บังคับการตำรวจไม่เคยไปร่วมประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดที่ผู้ว่าฯ เป็นประธานลามไปถึงการประชุมอำเภอก็เช่นกัน หัวหน้าสถานีตำรวจส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอประจำเดือนเลยก็มี

ไม่รับรู้ปัญหาอะไรและตอบข้อสงสัยของหัวหน้าส่วนราชการคนใดในจังหวัดด้วยตัวเองทั้งสิ้น

หัวใจการปฏิรูปตำรวจ ให้ทุกหน่วยและทุกคนทำหน้าที่รักษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริงก็คือ

ต้อง ให้ตำรวจขึ้นการบังคับบัญชาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

มีอำนาจสั่งเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนเงินเดือนตำรวจทุกคนได้ด้วยความเห็นชอบคณะกรรมการตำรวจจังหวัด ที่มีหัวหน้าส่วนราชการด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตัวแทนองค์กรภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการ

ส่วนกองบัญชาการตำรวจภาคนั้นถือเป็น ส่วนเกิน ในระบบตำรวจ

รัฐบาลสามารถยุบลงได้โดยที่ตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่ไม่ได้อาวรณ์หรือได้รับผลกระทบอะไรทั้งสิ้น

เพราะนอกจากตำรวจภาคจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของจังหวัดอย่างแท้จริงแล้ว

ยังสร้างปัญหาและภาระให้สถานีตำรวจให้ต้องคอย ดูแลและส่งส่วย ตั้งแต่ในรูปของการช่วยสร้างบ้าน ส่งอาหารอร่อยมือกลางวัน จัดงานวันเกิด ซื้อบัตรกอล์ฟ บัตรโบว์ลิ่ง ประกวดพระอกุศล ช่วยค่าใช้จ่ายรายเดือนสำนักงาน ค่าน้ำชากาแฟหน้าห้องนายพลตำรวจคนนั้นคนนี้

ใครไม่ทำถือว่า ใจไม่ถึง พึ่งไม่ได้ เป็น ตำรวจไร้น้ำใจ นอกจากจะไม่มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งหรือย้ายไปอยู่ในสถานีที่ต้องการหรือมีความเจริญแล้ว ยังจะถูกย้ายลดชั้นลงไปเรื่อยๆ อีกด้วย

และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หัวหน้าสถานีตำรวจไม่สามารถสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาออกตรวจตรารักษากฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบของตนด้วยความสุจริตอย่างเคร่งครัดและจริงจังได้.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 15 ส.ค. 2565