‘กัญชาเสรี’ ดีต่อลูกหลานไทยจริงหรือ?

‘กัญชาเสรี’ ดีต่อลูกหลานไทยจริงหรือ?

ยุติธรรมวิวัฒน์

“กัญชาเสรี” ดีต่อลูกหลานไทยจริงหรือ?

 

                พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ช่วงเวลานี้นโยบาย กัญชาเสรี ตามที่ พรรคภูมิใจไทย ได้หาเสียงไว้และได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นรัฐบาลเพื่อดำเนินการ กำลังได้ผล!

ผู้คนที่เป็น คอกัญชา ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติต่าง ตื่นเต้นกันใหญ่! หอบผ้าผ่อนชักชวนเพื่อนฝูงมุ่งเดินทางเข้าไทย หวังจะได้สูบ เสพ ปลูกและขนค้ากัญชาสารพัดพันธุ์กันอย่างมีความสุขสนุกสนานเสียที!

หลังจากที่ต้อง หลบๆ ซ่อนๆ แอบครอบครองสูบเสพ ตามเกาะแก่งและรีสอร์ตในป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ มานาน

บางคนคิดว่า รัฐและสังคมไทยในอดีตนั้นโง่ดักดาน  ออกกฎหมายให้การปลูกและเสพกินกัญชาเป็นอาชญากรรมร้ายไปอย่างน่าเสียดาย?

ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้ พืชกัญชาทุกส่วน ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

ทำให้เกิดการสูบเสพ ปลูก ค้าขาย หรือจำหน่ายจ่ายแจกกัญชาให้ผู้คนลองเสพเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย

บางสายพันธ์ปลูกวันเดียวสูงเป็นเมตรหรือท่วมหัวก็มี รอถึงวันที่ “ช่อดอก”ออกสะพรั่งอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทคือ THC ก็น่าจะใช้เวลาต่อจากนี้อีกไม่เกินสามเดือน!

บางคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ทั้ง “นักศึกษาหญิงและชาย” ได้ทดลองสูบเสพหรือกินแค่ใบเข้าไปอย่างไม่รู้ประมาณหรือ ไม่รู้ตัว แล้วก็เกิดผลร้ายต่อร่างกาย

เกิด อาการมึนงง แม้ไม่ตายหรือต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยฤทธิ์ของกัญชา แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหา เมาหลอน เดินลงบันไดไปเรียนหนังสือหรือทำงานการไม่ได้หลายวัน และทำให้ชีวิตเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุสารพัด

ถือว่า ขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ “สิ่งเสพติดเสรี” เสียยิ่งกว่าสุราหรือบุหรี่ ที่ยังมีกฎหมายควบคุมพื้นที่ห้ามดื่มหรือสูบ เช่นในสถานที่ราชการ หรือเขตสถานศึกษาที่ไม่สามารถดื่มหรือสูบได้ 

ส่งผลทำให้ ผู้บริหาร สถานศึกษา มหาวิทยาลัย และบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ ไม่นิยมกัญชา ต้องใช้วิธีประกาศให้เป็นสิ่งต้องห้ามนำเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบ

ส่วนจะมีวิธีตรวจสอบหรือดำเนินการให้เกิดสภาพบังคับอย่างไรในกรณีที่ ห้ามแล้วไม่ฟัง เพราะไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมายอะไร

ก็คงต้องใช้วิธีมอบให้ผู้รับผิดชอบให้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจให้ดำเนินคดี ข้อหา “บุกรุก” สำหรับบุคคลภายนอก ที่สูบเสพหรือถือกัญชาเข้ามา

และเมื่อผู้บริหารสถานที่นั้นได้ออกประกาศห้ามแล้ว สำหรับคนที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทในสังกัด ถือว่าได้ฝ่าฝืนข้อห้าม เป็นความผิดทางวินัย

ส่วนจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ก็เป็นไปตามที่ได้ประกาศกำหนดไว้

แต่หากหน่วยงานราชการหรือบริษัทใดไม่ได้ออกประกาศห้ามไว้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจแห่งชาติ หรือกองบัญชาการตำรวจและทหาร 

การสูบ เสพ กิน หรือค้ากัญชา ทุกคนก็สามารถทำได้ เพราะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายหรือข้อห้ามตามวินัยอะไรแต่อย่างใด!

การที่รัฐไทยไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งเช่นเดิม และรอการออก พ.ร.บ.กัญชง กัญชา มาควบคุม ซึ่งทำให้เกิด “สุญญากาศทางกฎหมาย” ไปอีกนานไม่ต่ำกว่าห้าเดือน!

ส่งผลให้เกิดการปลูก สูบและเสพกัญชากันอย่างเสรีซึ่งไม่มีใครคาดได้ว่าปัญหาที่จะตามมาในอนาคตทั้งในสภาพสุญญากาศ หรือแม้กระทั่งเมื่อมีกฎหมายออกมาจะสามารถควบคุมได้อย่างแท้จริงหรือไม่?

หรือจะทำให้ ตำรวจผู้ใหญ่ มีรายได้จาก ส่วยกัญชา เพิ่มอีกรายการหนึ่ง!

และข้อเท็จจริงยังเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ 3 ฉบับ คือ

– อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 แก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ.1972

– อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971 และ

– อนุสัญญาต่อการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1988

ซึ่งอนุสัญญาทั้งสามฉบับมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัย ปกป้องสุขภาวะและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ มีผลผูกพันให้รัฐภาคีต้องจัดตั้งระบบควบคุมยาเสพติดที่ให้หลักประกันทั้งการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยควบคู่ไปกับการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด

ในกรณีที่ประเทศภาคีไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญา ได้กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 14 ของอนุสัญญา ค.ศ.1961 มาตรา 19 ของอนุสัญญา ค.ส.1971 และมาตรา 22 ของอนุสัญญา ค.ศ.1988 โดยจะมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก เช่น             – ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ละเมิดอนุสัญญา เช่น ประเทศอัฟกานิสถาน อุรุกวัย และแคนาดา

ถูกจับตาโดยองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) และองค์การตำรวจสากล (Interpol) ในการนำเข้า ส่งออกและพิกัดสินค้าต่างๆ ไปจนถึงถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงยารักษาโรค

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะถูกเรียกให้เข้าไปชี้แจงเป็นระยะถึงแผนการปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ซึ่งเป็นภาระให้ต้องดำเนินการแก้ไขใช้เวลาและกระบวนการที่ยาวนาน

นอกจากนั้น ประเทศไทยอาจถูกจำกัดการให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ  รวมถึงการสืบสวนเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ หรือถูกจับตาและตั้งคำถามให้ต้องชี้แจงในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทุกระดับจากภาคีประเทศต่างๆ

ทำให้เป็นที่มาของการ พลิกนโยบาย ให้ กัญชาเสรี (เพื่อการแพทย์) เท่านั้น

ส่วนการนำมาใส่ส้มตำ เป็นการใช้เพื่อ การแพทย์ รักษาโรคอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่?

ต้องให้ “แพทย์ทุกคน” ที่ยืนอยู่ในภาพหรือ “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข” เป็นผู้อธิบายชี้แจง!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์    คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 20 มิ.ย. 2565า