‘น้องแตงโม’จมน้ำตาย ระวังสุดท้ายจะกลายเป็น’อุบัติเหตุ’!

‘น้องแตงโม’จมน้ำตาย ระวังสุดท้ายจะกลายเป็น’อุบัติเหตุ’!

ยุติธรรมวิวัฒน์
‘น้องแตงโม’จมน้ำตายระวังสุดท้ายจะกลายเป็น’อุบัติเหตุ’!

 

                                                                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์น้องแตงโม จมน้ำตาย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 22.32 น. ยังเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั้งในและต่างประเทศอย่างมากว่า

เป็นกรณีที่เกิดจากการ ถูกฆ่า หรือเรียกว่า ฆาตกรรมอำพราง อย่างที่ นักกฎหมายและตำรวจนักสืบนอกราชการหลายคน คิด สันนิษฐานและเชื่อเช่นนั้น!

หรือเป็นกรณี ถูกประทุษร้าย หรือ ลวนลาม ทำให้เธอพลัดตกจากเรือไปและจมน้ำถึงแก่ความตายโดยผู้กระทำไม่ได้เจตนา

หรือว่าแท้จริงเป็นเพียง ความประมาทของคนหนึ่งคนใด

ในการ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังและเป็นเหตุทำให้เธอพลัดตกจากเรือไป โดยที่ไม่มีใครสามารถช่วยชีวิตได้ แม้กระทั่งโยนเสื้อชูชีพหรือห่วงยางไปให้เกาะลอยคอไว้

เธอต้อง ตะเกียกตะกายอยู่ในน้ำและความมืดอย่างเดียวดาย กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งหมดแรง และจมน้ำขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตาย?

ความสนใจของสังคมในเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากมายมากว่าสองเดือน ก็เพราะนอกจากเธอเป็นดาราสาวสวยอารมณ์ดี ที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักและชื่นชมในบทบาทการแสดงและการต่อสู้กับชีวิตกับบิดาแล้ว

เธอยัง “เป็นคนดีมีน้ำใจ” และพูดจาตรงไปตรงมา

รวมทั้งมี ความกล้าหาญ และ เชื่อมั่นในความดี ใช้ชีวิตกับ เบิร์ด ตามสิทธิเสรีภาพของตนโดยไม่แคร์ต่อกระแสสังคมอะไร เพื่อนดาราและคนรุ่นใหม่จำนวนมากต่างก็ชื่นชมและรักเธออย่างยิ่ง

สิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือ การสิ้นสุดของชีวิต หรือความเป็นบุคคล ตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในทุกสังคม

ความตายของมนุษย์ที่ดีที่สุดคือ ตายตามธรรมชาติที่เรียกว่า “อายุขัย” เซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถคงสภาพได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วยความชราตามกาลเวลา หรือว่ามีโรคภัยไข้เจ็บอะไรที่สุดวิสัยในการควบคุมและรักษาให้หาย

แต่หากเป็น “ความตายโดยผิดธรรมชาติ” ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องได้รับ การตรวจสอบ หรือที่เรียกว่า การสอบสวน โดยเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 148 และ 149

เพื่อให้ทราบเหตุและพฤติการณ์ที่ตายของบุคคลนั้นอย่างแน่ชัดว่า เกิดจากเหตุและพฤติการณ์อย่างใดใน 5 ลักษณะความตายคือ (1) ฆ่าตัวตาย (2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย  (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย (4) ตายโดยอุบัติเหตุ และ (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

กรณีของน้องแตงโม ขณะนี้ตำรวจได้มีการสรุปสำนวนการสอบสวนแน่ชัดว่า มีผู้กระทำให้เธอตาย มิใช่อุบัติเหตุตาม (4)

เนื่องจากได้มีการแจ้งข้อหากับบุคคลสามคนบนเรือว่า กระทำประมาททำให้น้องแตงโมถึงแก่ความตาย คือ ปอ โรเบิร์ต และแซน

แต่ผู้ต้องหาทุกคนต่างปฏิเสธ!

ปัญหาที่ประชาชนต้องการทราบอย่างยิ่งขณะนี้ก็คือ ทั้งสามคน ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ของแต่ละคน อย่างไร ที่เรียกว่า ประมาท

และ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้น้องแตงโมพลัดตกจากเรือไป จมน้ำตาย?

ในการแถลงผลการสอบสวนคดีของตำรวจเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการชี้แจงประเด็นสำคัญนี้ตามที่มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามขึ้นมากลางวงแต่อย่างใด

ตำรวจคนหนึ่งได้อ้างมั่วๆ ว่า เป็นเรื่องในสำนวน ไม่สามารถบอกให้ใครรู้ได้!

ถ้าเรื่องแค่นี้ที่ ได้มีการแจ้งข้อหาและรายละเอียดของการ กระทำให้ผู้ต้องหาทั้งสามคนทราบ แล้ว ตำรวจยังไม่สามารถชี้แจงได้

ก็ไม่รู้ตำรวจชั้นนายพลมากมายจะพากันมานั่งแถลง และ “แสดงบาดแผลจากประเทศอังกฤษคนละกรณี รวมทั้งที่วาดขึ้นตามจินตนาการและเส้นทางเดินเรือ” ต่อสื่อและประชาชนหาสวรรค์วิมานอะไรให้เสียเวลา?

เพราะถ้าเพียงชี้แจงเรื่องการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังที่เรียกได้ว่าประมาท พร้อมพยานหลักฐานตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดต่อผู้ต้องหาตามกฎหมาย ซึ่งได้ เสนอไปให้อัยการจังหวัดนนทบุรีสั่งฟ้อง

ผู้คนก็ไม่ต้อง “มโน” หรือ “ด่าว่า” ตำรวจหรือตั้งข้อสงสัยเรื่องความตายจากการกระทำอื่นให้วุ่นวายกันต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าให้ตายโดยเจตนาแบบประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล เป็นความผิดตามมาตรา 288 มีโทษถึงประหารชีวิต

รวมทั้งการฆ่าโดยไม่เจตนาคือ แค่กระทำประทุษร้ายไม่ว่าจะเป็นลวนลามยื้อยุดฉุดกระชากและเป็นเหตุให้เธอพลัดตกจากเรือไป

ซึ่งถือเป็นการฆ่าโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

เพราะความจริงย่อมมีสิ่งเดียวเท่านั้น!

แต่เมื่อตำรวจไม่ยอมชี้แจงประชาชนก็ย่อมมีสิทธิ์คิดและสันนิษฐานกันไปได้ต่างๆ นานาว่า เป็นการตั้งข้อหาที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่?

และในที่สุด อาจส่งผลทำให้ผู้ต้องหาทุกคนหลุดคดีได้ชั้นศาล!

หรือแม้กระทั่ง ในชั้นอัยการ ถ้าได้ยกระดับการทำงาน สั่งฟ้องคดีก็ต่อเมื่อมีความแน่ใจว่าจะสามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลพิพากษาลงโทษได้ตามหลักสากลก็ยังลำบาก!

เนื่องจากไม่รู้จะบรรยายฟ้องอย่างไรว่าผู้ต้องหาทั้งสาม ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์และเป็นเหตุให้แตงโมตกจากเรือไป จมน้ำตาย?

ซึ่งถ้า หากอัยการสั่งฟ้องมั่วๆ ไป และในที่สุด ศาลได้พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามมาตรา 227 วรรคสอง

นอกจากจะทำให้ผู้ต้องหาทุกคนหลุดพ้นจากข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว

ทุกคนยังพ้นจากมลทินความผิดหรือข้อสงสัยในการกระทำทุกข้อหาตามกฎหมายอาญาอีกด้วย!

“ข้อเท็จจริงจะสวิงกลับทันที” กลายเป็นว่า

น้องแตงโมเสียชีวิตจาก “อุบัติเหตุ” คือ “การกระทำของตนเอง” ในการที่ไปนั่งปัสสาวะหรือนั่งเล่นท้ายเรือตรงจุดที่ “สุดอันตราย”

ซึ่งแม้แต่ผู้ชายที่เป็น “หน่วยกล้าตาย” ตำรวจทหารหน่วยคอมมานโด ก็ยังไม่กล้าไปยืนปัสสาวะหรือนั่งเล่นตรงจุดนั้นกันแม้แต่คนเดียว!.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ  :  ฉบับวันที่ 2 พ.ค. 2565