มีประวัติอาชญากรรมทางเพศ  เหตุใดจึงออกใบอนุญาตเป็น รปภ.ได้ ใครรับผิดชอบ     

มีประวัติอาชญากรรมทางเพศ  เหตุใดจึงออกใบอนุญาตเป็น รปภ.ได้ ใครรับผิดชอบ     

ยุติธรรมวิวัฒน์

         มีประวัติอาชญากรรมทางเพศ  เหตุใดจึงออกใบอนุญาตเป็น รปภ.ได้ ใครรับผิดชอบ

            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

กรณี หัวหน้า รปภ. ก่ออาชญากรรม ข่มขืนหญิงสาวผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมกลางกรุง พื้นที่ สน.เพชรเกษม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ได้สะท้อนปัญหาใหญ่ในเรื่อง ระบบตำรวจ ที่ไม่เคยได้ยิน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” และ “ผู้จะสมัครต่อไป” คนใดคิดแนวทางแก้ไขหรือเสนอนโยบาย “การปฏิรูป” ทำให้เกิดความปลอดภัยในสังคมไทยหรือแม้แต่ในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด?

ปัจจุบันประชาชนไม่ว่าจะยากจนหรือเป็นคนรวยพักอาศัยในคอนโดฯ หรูระดับใด หรือจะเดินทางไปที่ไหน ส่วนใหญ่ก็หนีอันตรายจากอาชญากรรมสารพัดรูปแบบไม่พ้น!

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนมาก ตกใจและเสียขวัญ ไม่มั่นใจว่าพนักงาน รปภ.แต่ละคนที่ตนหรือนิติบุคคลทำสัญญาจ้างผ่านบริษัทมาเพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินพื้นที่บ้านหรือสถานที่ทำงานลูกหลานได้เดินผ่านทักทายกันแทบทุกวันนั้น

ใครมีประวัติเป็นอาชญากรร้ายและอาจก่อเหตุขึ้นในวันหนึ่งวันใดหรือไม่

ปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีว่า ประชาชนส่วนใหญ่หวังพึ่งพาการทำหน้าที่รักษากฎหมายของตำรวจอย่างแท้จริงไม่ได้

หลายบ้านหลายบริษัทได้ ลงทุนด้วยเงินจำนวนมากทั้งทำรั้วสูงกั้นหลายชั้น รวมทั้งติดกล้องวงจรปิด ด้วย หวังเพียงเพื่อให้มีหลักฐานหากมีการกระทำผิด หากเกิดขึ้นนำไปมอบให้ตำรวจสอบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

หลังเกิดเหตุ ผู้เสียหายแต่ละคนถือภาพจากกล้องเดินขึ้นไปที่ห้องพนักงานสอบสวนแจ้งความร้องทุกข์อยู่หลายชั่วโมงแล้ว ก็ ได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง!

“ขึ้นอยู่กับวาสนาและโชคชะตา” ว่าได้พบกับพนักงานสอบสวนประเภทใด จะ “รับคดีแบบมีเลขเข้าสารบบราชการ” ให้ผู้เสียหายสามารถตรวจสอบติดตามได้หรือไม่! รวมทั้งหัวหน้าสถานีจะเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายและเอาใจใส่ในการสอบสวนจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด?

อีกทั้งประชาชนและบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งได้ยอมจ่าย “ส่วยตู้แดง” ปัจจุบันราคาแห่งละ 2,000–3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแท้จริงก็คือ ภาษีเถื่อนค่าตรวจป้องกันอาชญากรรม

เพื่อหวัง “ล่อใจ” ให้ “ตำรวจผู้ใหญ่” ได้ “จัดสายตรวจ” แต่ละผลัดให้มาตรวจตราที่หน้าบ้านหรือคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์เป็นพิเศษ

ซึ่งไม่มีประเทศในโลกเขาต้องจ่ายกันเหมือนประเทศไทย!

นอกจากนั้น ก็ยังต้อง จำใจต้องจ่ายเงินอีกจำนวนหนึ่งจ้างบริษัทเอกชน ซึ่ง “กว่าครึ่งเป็นของตำรวจผู้ใหญ่สารพัดหน่วยทั้งในและนอกราชการ หรือใช้ชื่อ “เมีย” เป็นผู้จัดการ ส่งพนักงานมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มอีกด้วย

โดยหวังเพื่อให้ตนหรือนิติบุคคลผู้ดูแลที่พักอาศัยสามารถตรวจสอบควบคุมได้ ในรูปของสัญญาจ้าง รวมทั้งให้สามารถฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายเมื่อเกิดความบกพร่องขึ้นได้

ต่างไปจากหน่วยงานตำรวจมากมายที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย หรือแม้แต่ “ความสำนึก” อะไรในกรณีที่เกิดเหตุร้ายหรือความไม่ปลอดภัยขึ้นกับประชาชน

ทำให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยที่  ตำรวจผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งมีประโยชน์ทับซ้อน เฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็วทันตาในระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ประมาณกันว่าทั่วประเทศน่าจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยรวมกว่า 400,000 คน! ถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนที่จ้าง “ผ่านบริษัท” อย่างต่ำเดือนละ 18,000  บาท/ต่อคน/ต่อเดือน ก็จะเป็นเงินรวมเดือนละประมาณ 7,000 ล้าน หรือ 84,000 ล้านบาทต่อปี!

และหากรวมค่า ภาษีตู้แดง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเมื่อรวมทุกสถานีซึ่งมีจำนวนเกือบ 1,500 แห่ง ทั่วไทย โดย สถานีตำรวจใหญ่ๆ แต่ละแห่งมีอยู่ “กว่าร้อยหรือสองร้อยตู้” แล้ว จะ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นเท่าใดในแต่ละปี!

หลังเกิดเหตุใหม่ๆ ทุกฝ่ายได้แต่ตั้งคำถามว่า บริษัทรักษาความปลอดภัยดูแลพนักงานในความรับผิดชอบอย่างไร จึงปล่อยให้ขึ้นไปก่ออาชญากรรมบนคอนโดมิเนียมเช่นนี้ได้

และยิ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อได้มีการขุดประวัติของหัวหน้า รปภ.คนนี้ว่าเคยมีพฤติกรรมก่ออาชญากรรมทางเพศต่อเด็กจนกระทั่งถูกจับดำเนินคดี และ ศาลมีคำพิพากษาจำคุกถึง 4 ปี

ถือ เป็นกรณีต้องห้ามไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ทำงาน รปภ.ได้ในทุกกรณี ตามที่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยบัญญัติไว้ในมาตรา 34 (3)

แต่ นายทะเบียน ธุรกิจรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพมหานคร ก็คือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และในภูมิภาคก็คือผู้บังคับการตำรวจจังหวัดตาม กฎหมายที่ตำรวจผู้ใหญ่ได้เสนอและผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังยึดอำนาจ หรือ สนช. ในปี พ.ศ.2558

โดยหวังควบคุมบริษัทรักษาความปลอดภัยทั่วไทยในการออกใบอนุญาตและกำหนดให้ต้องต่อใหม่ในทุกสี่ปี เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19

เช่นเดียวกับการให้ตำรวจนครบาลเป็นนายทะเบียนสถานบริการ ซึ่งเป็นงานที่ตำรวจผู้ใหญ่หวงแหนต้องการรักษาไว้ ไม่ยอมถ่ายโอนให้หน่วยงานใด  ไม่ว่ากรุงเทพมหานครหรือกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบตาม “ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับมีชัย” ที่กำหนดไว้

ปัจจุบันหากใครต้องการทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติและ ลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ใน มาตรา 34 ที่สำคัญก็คือ (3)

“ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด  เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต และมิใช่ ความผิดเกี่ยวกับเพศตามกฎหมายอาญา”

หมายความว่า บุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกด้วยเหตุกระทำความผิดทางเพศไม่ว่าข้อหาใด จะไม่สามารถทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ตลอดชีวิต

แต่ปัญหาก็คือ นายทะเบียนธุรกิจรักษาความปลอดภัย ออกใบอนุญาตให้ นายมนตรี ใหญ่กระโทก ได้อย่างไร ในเมื่อเขามีประวัติขัดต่อกฎหมายเช่นนั้น?

ถ้าใคร หน้าด้าน ตอบกันว่า เป็นหน้าที่ทั้งของเจ้าตัวและบริษัทในการตรวจประวัติอาชญากรรมให้เรียบร้อยก่อนมายื่นคำร้อง

ก็คงไม่ต้องใช้ นายพลตำรวจคนใดให้ทำหน้าที่นายทะเบียน ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายให้เสียเวลาของประชาชนผู้ยื่นคำร้องเลยก็ได้!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2565