รุมสับ!รัฐบาลไม่ตระหนักปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  7 ปีจึงไปไม่ถึงไหน มีทางเดียวต้องช่วยกันด่า!

รุมสับ!รัฐบาลไม่ตระหนักปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 7 ปีจึงไปไม่ถึงไหน มีทางเดียวต้องช่วยกันด่า!

นักการเมือง นักวิชาการ “รุมสับ” รัฐบาลไม่ตระหนักถึงปัญหาและไม่จริงใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม   7 ปีที่ผ่านมา จึงไปไม่ถึงไหน  ประชาชนหวังพึ่งใครหรือองค์กรใดไม่ได้  มีทางเดียว ต้องช่วยกัน “ด่า” เท่านั้น!   “วิรุตม์” ชี้ แต่แรกยึดอำนาจทำท่าจะดี เหมือนรถไฟวิ่งออกจากสถานีหัวลำโพงไปเชียงใหม่ แต่เมื่อถึงแค่รังสิตกลับ “ถอยหลัง” มาชนหัวลำโพงเสียยับเยิน!

 

ผศ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล
ผศ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล

เมื่อวันที่  24 ธ.ค. 2564  สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ  “7 ปี กระบวนการยุติธรรมไทย ปฏิรูปไปถึงไหน?” ในระบบ Zoom  วิทยากร ประกอบด้วย  พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม  ณัฐวุฒิ บัวประทุม    ส.ส.พรรคก้าวไกล  ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ        โฆษก กมธ. ตำรวจ และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย วิทยา แก้วภราดัย        อดีตประธาน กมธ.ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต    อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า  และอดีตประธาน ครป. ผศ.ดร. ธานี วรภัทร์    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   เลขาธิการ สป.ยธ.   ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล   ประธาน สป.ยธ.

 

นายพงษ์เทพ  เทพกาญจนา  กล่าวว่า  กระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสังคมอย่างยิ่ง  และการจะปฏิรูปให้เป็นที่เชื่อถือยอมรับของประชาชนได้  ผู้มีอำนาจต้องมีความตั้งใจและจริงใจเสียก่อนเป็นอันดับแรก  แต่เท่าที่ดู  7 ปีที่ผ่านมา  รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่เลย  แม้กระทั่งการปฏิรูปประเทศเองก็ถูกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญภายหลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชน   เราจึงไม่เห็นความคืบหน้าของการปฏิรูปอะไรที่แท้จริงแต่อย่างใด

อย่างเรื่องตำรวจ  ที่กำลังมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ดูหลักการก็เห็นแต่มุ่งไปในเรื่องปรับปรุงการแต่งตั้งโยกย้าย  ถ้ามีแค่นี้ ก็อย่าเรียกว่าเป็นการปฏิรูปเลย  เพราะมีวิธีการปกติที่สามารถจัดการได้มากมายการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง ต้องจัดโครงสร้างเป็นตำรวจท้องถิ่น  โดยมีส่วนกลางไว้ทำหน้าที่เพียงคอยตรวจสอบ  แต่ก็ยังไม่เห็นแต่อย่างใด

พงษ์เทพ เทพกาญจนา
พงษ์เทพ เทพกาญจนา

ส่วนในเรื่องของศาล  ก็ต้องยอมรับว่า  ระยะหลังมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีไปพอสมควร รวมทั้งระยะเวลาในการพิจารณาคดีก็สั้นลงมาก   แต่ศาลปกครองยังมีปัญหาที่ถือว่านานเกินไป บางคดีใช้เวลา เป็นสิบปีหรือกว่านั้นก็มี  ขอฝากให้ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดหาทางแก้ไขด้วย

อีกปัญหาหนึ่งคือ  การตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาล  ซึ่งมีแต่การตรวจสอบโดยศาลด้วยกันคือศาลสูง  โดยการตรวจสอบจากส่วนอื่นไม่มี  แม้แต่องค์กรอิสระหรือสภาฯ โดย กมธ.ต่างๆ ก็ตรวจสอบไม่ได้  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขด้วย

 

นายวิทยา  แก้วภราดัย  กล่าวว่า  กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยมีปัญหามากโดยเฉพาะเรื่องการสอบสวนที่ล่าช้า  ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้  สาเหตุก็เพราะปล่อยให้รวมศูนย์อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจฝ่ายเดียว  ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย  เพราะตำรวจไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาจากที่ใด  ไม่ได้รู้กฎหมายทุกเรื่อง  ควรกระจายอำนาจสอบสวนให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับดำเนินการสอบสวนความผิดส่งอัยการฟ้องศาลได้อีกทางหนึ่งด้วย

วิทยา แก้วภราดัย
วิทยา แก้วภราดัย

การปรับปรุงภารกิจของตำรวจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้แล้วเสร็จในหนึ่งปี  แต่กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่เกิด  อีกปัญหาหนึ่งคือการบังคับโทษ  โทษจำคุก 40-50 ปี ติดคุกกันจริงเพียง 10 ปี เท่านั้น  ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยเช่นกัน

มีคดีที่น่าสนใจคือ  การฆาตกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เกาะสมุย ซึ่งศาลพิพากษาประหารชีวิต  แต่แม่ของผู้ตายได้ส่งเงินมาให้อัยการช่วยอุทธรณ์ไม่ให้ประหาร  เพราะไม่ต้องการเห็นจำเลยถูกฆ่าตายไปอีกคน  นับเป็นวิธีคิดของชาวต่างประเทศที่ต่างจากเราน่าสนใจอย่างยิ่ง

ผมเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุดก็คือตำรวจ ซึ่งได้แก่ตัวเอง  แค่พูดเรื่องปัญหาการซื้อขายตำแหน่งในสภาฯ ตามหน้าที่และต่อสื่อตามที่ได้รับข้อมูลมา   กลับถูก ผบ.ตร.แจ้งความดำเนินคดีต่อ พงส.ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และสรุปเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง  แต่อัยการได้สั่งไม่ฟ้อง  ซึ่งตามกฎหมายใน กทม.ต้องส่งให้ ผบ.ตร.พิจารณาว่าจะแย้งหรือหรือไม่เสนอให้ อสส.สั่งคดีเป็นที่สุด

แต่จนกระทั่งบัดนี้ ผบ.ตร.ก็ยังไม่ได้มีความเห็นแย้งหรือสั่งอะไรจน ผบ.ตร.คนนั้นได้เกษียณไป คาราคาซังอยู่จนกระทั่งป่านนี้  และตนก็ไม่ทราบความคืบหน้าของคดีอีกเลยว่าสิ้นสุดลงหรือยัง?  เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีเช่น พลเรือเอกพะจุณห์  ตามประทีป และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาตำรวจ

 

รศ.ดร.พิชาย  รัตนดิลก  ณ ภูเก็ต เห็นเช่นเดียวกันว่า 7 ปีไปไม่ถึงไหนเลย  ซึ่งในข้อเท็จจริงกระบวนการยุติธรรมที่ดีมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย  ช่วงเผด็จการ 5 ปี มาสู่การเลือกตั้งอีก 2 ปี เราได้เห็นเพียงการขึ้นโครงไว้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นการปฏิรูปอะไรอย่างแท้จริงหรือไม่?

เป็นธรรมชาติที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่จะไม่ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ  จนกว่าสถานการณ์ไกล้วิกฤติบีบคั้นให้ต้องกระทำ  ขณะนี้ถือว่าความตระหนักของรัฐบาลและนักการเมืองต่อปัญหากระบวนการยุติธรรมต่ำมาก  และเมื่อมีกระแสกดดันจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ก็ซื้อเวลาด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาพิจารณา  ซึ่งถือเป็น “กับดัก” อย่างหนึ่ง  ปัจจุบันสังคมยังไม่มีพลังเพียงพอในการทำให้ผู้มีอำนาจตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นที่ต้องปฏิรูป

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

อย่างตำรวจ  ก็อยากถามว่าจะมีคนในองค์กรตระหนักถึงปัญหาและต้องการปฏิรูปถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์หรือไม่  นั่นก็เป็นเพราะส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่นี้

สำหรับอัยการ ก็ยังมีวิธีคิดและวิธีการทำงานเชิงรับแบบเดิม  บทบาทและศักดิ์ศรีของอัยการแผ่นดินในการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนที่แท้จริงจึงไม่เกิด

ส่วนศาลไทยก็จะจมอยู่กับปริมาณคดีที่มากมายในแต่ละปีประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ คดี ทำให้ไม่มีเวลาคิดอย่างอื่นมากนัก  แม้แต่คนในวงการกฎหมายก็ตระหนักถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมกันน้อยเกินไป  ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย

สถานการณ์ที่ไร้ความหวังเช่นนี้  ทำให้ประชาชนพยายามเอาตัวรอดด้วยการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ และผู้มีอิทธิพลต่างๆ แทนที่จะคิดเรื่องการปฏิรูป

 

นายณัฐวุฒิ  บัวประทุม  กล่าวว่า  ปัจจุบันสังคมไทยคุ้นชินกับคำว่า  “กระบวนการยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งความหมายคือ ต้องเดินหน้าบ้าง  แต่ในความเป็นจริงกับถดถอยไปจนกระทั่งเข้าขั้นวิกฤติ  ผู้คนขาดความเชื่อถือเชื่อมั่น  แม้กระทั่งระบบศาลก็ถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากมาย  มีการคุมขังบุคคลทั้งๆ ที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิด  การประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายก็กลายเป็นเรื่องมีปัญหา

ณัฐวุฒิ บัวประทุม
ณัฐวุฒิ บัวประทุม

สำหรับผู้เสียหายคดีอาญา การจะไปรับเงินเยียวยาหรือค่าตอบแทนตามอะไรตามกฎหมาย  ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  บางกรณีถูกพิจารณาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดเช่น หญิงสาวถูกข่มขืนเพราะไปเที่ยวกับผู้ชายกลางคืน

ในประเด็นระยะเวลาของกระบวนการ  ก็ต้องยอมรับว่าในส่วนของศาลเร็วขึ้น  โดยตนเองหวังว่าต่อไปทุกคดีจะสิ้นสุดในทุกขั้นตอนของศาลภายใน 5 ปี

แต่ในชั้นตำรวจและอัยการยังมีปัญหามากมาย  เช่นตัวเองถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เมื่อครั้งเคลื่อนไหวคัดค้านการย้ายไปรังสิตร่วมกับนักศึกษาและคณาจารย์ในปี ๒๕๔๐  แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่ทราบว่าผลคดีเป็นอย่างไร ดำเนินไปถึงไหน สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่?                

สิ่งที่ท้าทายการปฏิรูปมากที่สุดก็คือ  การแยกสายงานสอบสวนออกจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม  หากไม่สามารถเดินไปสู่จุดนั้นได้  ปัญหาแทบทุกเรื่องก็จะทำไม่ได้จริงทั้งสิ้น

ปัจจุบันตนได้ค้นพบว่า  การตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ  “การด่า”  สังคมต้องช่วยกันสร้างแรงกดดันให้ผู้มีอำนาจคิดแก้ปัญหารวมทั้งการปฏิรูป  เนื่องจากการตรวจสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กรหรือนอกองค์กร แม้กระทั่งองค์กรอิสระหรือรัฐสภาฯ ก็มีปัญหาไม่สามารถตรวจสอบได้จริง  โดยเฉพาะเมื่อไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกให้ข้าราชการมาชี้แจงและมีโทษทางอาญาหากไม่ยอมมา

 

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ  ในฐานะโฆษก กมธ.ตร.สภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมากมาย  สิ่งที่กำลังรอคอยอยู่ก็คือ พ.ร.บ.ตำรวจ  การปฏิรูปที่แท้จริงต้องขับเคลื่อนโดยสภาฯ มีการตรากฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมด้วยกันทั้งสิ้น

ณัฐวุฒิ บัวประทุม
ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ

กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันไม่ได้มีแต่ตำรวจ อัยการ และศาล เท่านั้น  แต่ยังมีองค์กรอิสระเช่น ปปช.ที่มีอำนาจทั้งการสืบสวนสอบสวนและแม้กระทั่งฟ้องคดีเช่นเดียวกับอัยการ  ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมซ่อนรูปที่ต้องให้ความสำคัญด้วย

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร   กล่าวว่า ถ้าถามว่า 7 ปี ปฏิรูปกระบวการยุติธรรมไทยไปถึงไหน ก็ต้องตอบว่า ระยะแรกหลังยึดอำนาจ 22 พ.ค. 57 ก็ทำท่าจะดีมีความหวังระดับหนึ่ง  เช่น  มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นพิจารณา สุดท้าย ศ.ดร.เทียนฉาย  กีระนันท์  ประธาน สปช.ได้สรุปในเรื่องสำคัญ คือการโอนหน่วยตำรวจเฉพาะทาง 13 หน่วยไปให้กระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจเศรษฐกิจฯลฯ รายงานให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ดำเนินการ แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เหมือนรถไฟวิ่งออกจากหัวลำโพงไปเชียงใหม่  แต่พอมาถึงแค่รังสิต ไม่ทราบด้วยเหตุใดกลับวิ่งถอยหลังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชนสถานีหัวลำโพงเสียยับเยิน  ไม่ว่าจะด้วยคำสั่ง คสช.ที่ 115/57 ฉวยอำนาจการทำความเห็นแย้งจาก ผวจ. ไปให้ ผบช.ตำรวจภาค  ทำให้มีการแย้งอัยการจนมั่วไปหมด  คดีไหนแย้งไม่ได้  ก็เสนอให้ อสส.สั่งสอบเพิ่มเติมซึ่งไม่มีในกฎหมาย ทำให้คดีที่ไม่มีพยานหลักฐานพอฟ้องไม่จบลงง่ายๆ  เพียงเพื่อให้มีสถิติการแย้งเพิ่มขึ้น!  รวมไปถึงการยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่สร้างความเสียหายต่อระบบงานสอบสวนอย่างร้ายแรงอยู่ในปัจจุบัน

พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่ อ.พิชาย บอกว่า สังคมยังไม่ตระหนักถึงปัญหานั้น  ขอเรียนว่าไม่น่าจะถูกต้อง  เพราะจริงๆ แล้ว คนยากจนตระหนักกันจนแทบกระอักเลือด  แต่เนื่องจากไม่มีอำนาจ ทำให้เสียงไม่ดัง  ส่วนคนรวยหรือคนมีอำนาจก็ชอบอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแบบนี้  เพราะได้รับกันจนล้นเหลือ  จะวิ่งเต้นล้มคดีหรือจะให้ตำรวจสอบสวนยัดข้อหาประชาชนคนไหนก็ทำได้ง่าย

หัวใจการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจที่แท้จริงมีสามเรื่อง

เรื่องแรก ต้องทำให้ตำรวจสังกัดจังหวัด สร้างเอกภาพการบังคับบัญชาในพื้นที่   ผวจ. ต้องมีอำนาจให้คุณให้โทษแต่งตั้งโยกย้ายและสั่งเลื่อนเงินเดือนตำรวจในจังหวัดได้ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน   ซึ่งปัจจุบันบัญญัติให้มีอำนาจแบบลอยๆ รับผิดชอบเป็นหัวหน้าโน่นนี่มากมาย  แต่ผู้ว่าฯ และนายอำเภอสั่งงานใครในจังหวัดและอำเภอไม่ได้  จะบริหารหรือทำงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพแท้จริงได้อย่างไร?

 เรื่องที่สอง ต้องโอนหน่วยตำรวจเฉพาะทาง 13 หน่วยไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ  พร้อมมีอำนาจสอบสวนความผิดตามกฎหมายในหน้าที่ของตนอีกส่วนหนึ่ง  โดยไม่ตัดอำนาจตำรวจแห่งชาติในการดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ปกติเมื่อมีการแจ้งความกล่าวโทษ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานสอบสวนความผิดทางอาญาของประเทศ  เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจและความชำนาญในกฎหมายเฉพาะทางนั้นมากกว่าตำรวจ

เรื่องที่สาม  อัยการต้องมีอำนาจเข้าตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ เช่น คดีฆ่าผู้อื่น  หรือทุกคดีของทุกหน่วยที่มีปัญหาประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่ดำเนินการสอบสวน

มีแต่การขับเคลื่อนในสามเรื่องนี้เท่านั้น  ที่จะถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของชาติอย่างแท้จริง

 

ดร.ธานี  วรภัทร์  กล่าวว่า  การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องอาศัย ๒ ส่วนสำคัญคือ  หลักการแนวคิดทฤษฎี และความรู้ในทางปฏิบัติ  โดยต้องตั้งอยู่ในหลักการของกระบวนการยุติธรรมที่ดีคือ  อยู่ในบริบทของเสรีภาพ  เป็นประชาธิปไตย  โปร่งใส ตรวจสอบได้ และกระทำเพื่อสังคม

ผศ.ดร. ธานี วรภัทร์
ผศ.ดร. ธานี วรภัทร์

ทั้งนี้ทิศทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่นเดียวกับประเทศไทยเราต่างก็ปฏิรูปไปในทางนี้ด้วยกันทั้งสิ้น   และต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับในรูปแบบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวน  การพิจารณาคดีและการบังคับโทษ  เหล่านี้ต้องกระทำอย่างเปิดเผย  สังคมตรวจสอบได้  อีกทั้งต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดความโปร่งใส  สังคมเชื่อมั่นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม