ที่ประชุมมท.ยันความเห็นแย้งอัยการของผบช.ตร.ภาคต้องแก้ไขให้เป็นอำนาจของผวจ.เหมือนเดิม

ที่ประชุมมท.ยันความเห็นแย้งอัยการของผบช.ตร.ภาคต้องแก้ไขให้เป็นอำนาจของผวจ.เหมือนเดิม

เมื่อเวลา 13.00 – 15.30 น. วันที่ 16 ธ.ค.2564 ที่ห้องประชุมราชบพิตร อาคารดำรงราชานุสรณ์ ชั้น 5 กระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมพิจารณาการแก้ไข ป.วิอาญา มาตรา 145 / 1 เรื่องอำนาจทำความเห็นแย้งอัยการจังหวัดกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีตามที่มีคำสั่ง คสช.ที่ 115/ 57 วันที่ 12 ก.ค. 2557 หลังยึดอำนาจได้ประมาณ 2 เดือนแก้ไข จากที่เป็นอำนาจของ ผู้ว่าราชการจังหวด ให้กลายเป็นอำนาจของ ผู้บัญชาการตำรวจภาค ตามที่ฝ่ายตำรวจฉวยโอกาสช่วงการปฏิวัติยึดอำนาจเสนอให้ หัวหน้าคสช.ลงนามโดยไม่ผ่านการพิจารณาของหน่วยงานเกี่ยวข้องใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

เพราะส่งผลทำให้การสอบสวนคดีอาญาที่สอบสวนแล้วมีพยานหลักฐานไม่พอแม้แต่อัยการจะสั่งฟ้องซึ่งเคยสิ้นสุดในจังหวัดด้วยอำนาจพิจารณาของ ผวจ. กลายเป็นต้องรวมไปส่งให้ ผบช.ตร.ภาค แทน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ห่างไกลและประชาชนเข้าถึงยาก เนื่องจากมีลักษณะเป็นกองบัญชาการตำรวจที่มีระบบการปกครองแบบมีชั้นยศเช่นเดียวกับทหารต่างจาก ผวจ.ซึ่งเป็นข้าราชการพลรือนและอยู่แค่ศาลากลางจังหวัดเท่านั้น

ในการประชุม มีผู้แทนหน่วยราชการและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวนมากเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น กมธ. กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ สส.นครพนม รองประธานฯ ผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้ง ดร.น้ำแท้ มีบุญสสล้าง ผอ. สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนางานสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส. )และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 คน

ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ ได้แสดงความเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องแก้ไข กฎหมายให้กลับไปเป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 145 เช่นเดิม เนื่องจากเป็นหลักการที่ดีอยู่แล้วและการปฏิบัติในการใช้อำนาจของ ผวจ.ที่ผ่านมากว่า 80 ปี ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซ้ำการแก้ไขให้เป็นอำนาจของ ผบช.ตร.ภาค กลับสร้างปัญหาให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนเสียหายมากมายอีกด้วย เนื่องจากคดีที่ควรจะสิ้นสุดลงโดยเร็วเพราะพยานหลักฐานไม่พอสั่งฟ้อง กลับไม่จบลงง่ายๆ ต้องรวมส่งไปให้ ผบช.ตร.ภาคพิจารณา ซึ่งใช้เวลานานกว่ามาก ผวจ.ที่นั่งอยู่แค่ศาลากลางจังหวัดเท่านั้น

เหตุผลที่ฝ่ายตำรวจอ้างว่าเมื่อแก้ไขให้เป็นอำนาจของ ผบช.ตร.ภาคแล้ว ได้มีการทำความเห็นแย้งเพิ่มขึ้นอย่างมากต่างจากเมื่อครั้งเป็นอำนาจของ ผวจ. ซึ่งในส่วนนี้ ดร.น้ำแท้ ชี้แจงว่า การทำความเห็นแย้งกันไปมาไม่ใช่เรื่องดี และในระบบสากลก็ไม่มีด้วยซ้ำ! เพราะอัยการในทุกประเทศทั่วโลกล้วนมีอำนาจในการตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนตั้งแต่เกิดเหตุด้วยกันทั้งสิ้น เรื่องจับใครมาแล้วสุดท้ายอัยการต้องสั่งไม่ฟ้อง ก็ไม่มี

นอกจากนั้น พ.ต.อวิรุตม์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การทำความเห็นแย้งมาก ยิ่งสะท้อนว่าระบบการสอบสวนประเทศเรามีปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่ออัยการจังหวัดเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอแม้แต่จะสั่งฟ้องแล้ว ผบช.ตร.ยังจะมีความเห็นแย้งให้นำคดีไปฟ้องด้วยพยานหลักฐานเดียวกันได้อย่างไร ซึ่งถ้าหาก อสส สั่งฟ้องตามความเห็นแย้ง ไม่ว่าจะโดยอำนาจของใคร นั่นหมายถึงอัยการจังหวัดหรืออัยการผู้รับผิดชอบพิจารณาสำนวนการสอบสวนไม่รอบคอบถึงขั้นบกพร่อง ควรได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ยิ่งถ้า อสส.สั่งฟ้องแล้วศาลพิพากษาลงโทษด้วย ยิ่งถือว่าอัยการจังหวัดบกพร่องชัดเจน เนื่องจากคดีมีหลักฐานเพียงพอสั่งฟ้องให้ศาลลงโทษได้ กลับสั่งไม่ฟ้อง

ความเห็นแย้งอัยการ

แต่ตามข้อเท็จจริงปัจจุบัน อสส.ไม่ได้สั่งฟ้องคดีที่ตำรวจมีความเห็นแย้งมากเท่าแต่ก่อน เนื่องจากได้เริ่มพัฒนาหลักคิดในการสั่งฟ้องคดี ว่า จะต้องเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้เป็นสำคัญ

นอกจากนั้นข้อเท็จจริงกลายเป็นว่า ที่ฝ่ายตำรวจอ้างเรื่องมีความเห็นแย้งเสนอ อสส.สั่งฟ้องมีสถิติมากขึ้นนั้น หาใช่ไม่ แท้จริงกลับเป็นกรณีที่ ผบช.ตร.ภาค เสนอให้ อสส. ‘สั่งสอบเพิ่มเติม’ ต่างหาก ซึ่งไม่มีใน ป.วิ อาญามาตราใดและไม่ถูกต้องเลย แต่บางคดี อสส.ก็ได้ใช้อำนาจของตัวเองสั่งให้สอบเพิ่มเติมตาม ‘การเสนอที่ไม่ถูกต้อง’ นั้นไป ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้เป็นตกผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคดีที่สอบสวนแล้วพยานหลักฐานไม่ชัดเจน กลับไม่จบลงง่ายๆ ยังมีกาสั่งสอบสวนเพิ่มเติมโดย อสส.อีก

และยิ่งเหตุผลของฝ่ายตำรวจที่ว่า ผบช.ตร.ภาค จะได้มีโอกาสตรวจสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเพื่อให้เห็นข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานนำมาปรับปรุงนั้น ยิ่งไร้สาระใหญ่ เพราะถือเป็นเรื่องภายใน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประชาชนเลย และการตรวจความถูกต้องครบถ้วนของการสอบสวนต้องกระทำระหว่างสอบสวน ไม่ใช่อัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ยังจะมายื้อไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสำนวนปรับปรุงการปฏิบัติงานอะไรอีก

การแก้ไข ป.วิ อาญา มาตรา 145 / 1 จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาของประเทศกลับมาสู่หลักเดิมตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว!และกระทรวงมหาดไทยจะได้สรุปรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไข ป.วิ อาญามาตรา 145 / 1 ตามที่สั่งการมาให้ร่วมกันพิจารณาโดยเร็วต่อไป