ตำรวจตรวจค้นยึดทรัพย์สินประชาชนไปตรวจสอบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ตำรวจตรวจค้นยึดทรัพย์สินประชาชนไปตรวจสอบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

                          ตำรวจตรวจค้นยึดทรัพย์สินประชาชนไปตรวจสอบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

 

                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

 

ปัญหาตำรวจหรือ “เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม” ประเทศไทยในความเป็นจริงปัจจุบันนั้น นับว่า หนักหนาสาหัสยิ่งกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ของชาติเลยก็ว่าได้!

การซื้อขายตำแหน่งที่ “ผู้นำตำรวจชั่ว” หลายระดับกระทำกันอย่างเอิกเกริกมานานนับสิบปี โดยไม่มีตำรวจประเทศใดจะมีปัญหา “อาชญากรรมในองค์กร” ที่เลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นเหมือนประเทศไทย!

การแต่งตั้งและโยกย้ายก็ยังคงเป็นเรื่องที่ตำรวจส่วนใหญ่ต่างรู้สึกหวั่นไหวในการแต่งตั้งประจำปีที่กำลังจะพิจารณา

เพราะแต่ละคนต่าง ไม่แน่ใจในคำพูดของ ผบ.ตร. ที่บอกหลายครั้งแล้วว่า “อย่าให้มีปัญหาการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นเป็นอันขาด” นั้น จะมีผลเป็นการหยุดยั้งหรือกำราบปราบปราม “อาชญากรรมตำรวจ” ที่เลวร้ายนี้ได้จริงหรือไม่?

รวมทั้งการเลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายจะมีความเป็นธรรมสำหรับตำรวจที่ไม่มีเงินวิ่งเต้นหรือไร้เส้นสาย “ไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของระบบรุ่นและซุ้มต่างๆ” ไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกให้ได้รับความเดือดร้อนมากน้อยเพียงใด?

อย่างไรก็ตาม คำพูดของ ผบ.ตร.เช่นนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการสะท้อนว่า ที่ผ่านมาองค์กรตำรวจมีปัญหาที่ชั่วร้ายในเรื่องนี้

เป็น “มรดกปีศาจ” ที่ได้รับมา นำไปสู่ปัญหาตำรวจสารพัด ที่ปรากฏออกมาสู่สายตาประชาชนตามพัฒนาการของเทคโนโลยีไอทีที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ซึ่ง ยังไม่รู้ว่าจะมีคลิปตำรวจกระทำผิดกฎหมายทั้งอาญาและวินัยในเรื่องอะไรเกิดขึ้นให้ประชาชนได้ก่นด่า และวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปเป็นรายสัปดาห์หรือรายวันกันอีกมากน้อยเท่าใด?

กรณี ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบกลุ่มหนึ่งใน จังหวัดสงขลา ถือวิสาสะเดินเข้าบ้านประชาชนที่ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าออนไลน์ แล้ว “โบกหมายค้น” ขอเข้าทำการตรวจหาสิ่งผิดกฎหมายใน บ้านตามภาพถ่ายท้ายหมายศาล!

ถือเป็นการปฏิบัติราชการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่กำหนดไว้หรือไม่?

คำตอบง่ายๆ แค่เรื่องไม่แต่งเครื่องแบบเข้าตรวจค้นโดยไม่มีเหตุที่จำเป็นในทันที ก็เป็นกรณีขัดคำสั่งผบ.ตร.ที่ 0011.13/ว 52 ลงวันที่ 2  ก.ค.2558 “ผิดวินัย” อย่างชัดเจนแล้ว!

ตำรวจตรวจค้น
   ขอบคุณภาพจาก ประชาไท

นอกจากนั้น หมายศาลซึ่งไม่ปรากฏเลขบ้านที่อ้างว่าน่าจะมียาเสพติดในครอบครอง จนเป็นเหตุให้ศาลต้องออกหมายค้น ตามภาพถ่ายท้ายหมาย ก็ไม่ทราบว่าปรากฏลายมือชื่อผู้มีอำนาจในภาพอย่างถูกต้องตรงตามหมายหรือไม่?

ตำรวจตรวจค้น
ขอบคุณภาพจาก Nation TV

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ตำรวจหกเจ็ดนายในชุดเสื้อกั๊กกางเกงขาสั้น เดินค้นกันทั่วบ้านของแม่ค้าออนไลน์แล้วไม่พบอะไร  ก็ได้ หยิบเงินสดจำนวน 10 ล้านพร้อมทองคำอีก 60 บาท ติดมือไปอ้างเพื่อตรวจสอบ!

ทำให้แม่ค้าต้องกระหืดกระหอบตามรถตำรวจที่ยึดทรัพย์นี้ไปยัง “บ้านผีสิง!”ซึ่งตำรวจกลุ่มนี้ได้ใช้ในการเจรจากับผู้ต้องหายาเสพติด รวมทั้งผู้ที่อ้างเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาต่างๆ และ “เชิญตัว” มาซักถามและพูดคุยตกลงกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้

และมีปัญหาหลังจากปล่อยตัวแม่ค้าออกมาร้องเรียนว่า “ได้เงินสดคืนไม่ครบหายไป 5 ล้าน” โดยแม่ค้าบอกว่าจำใจลงชื่อในเอกสารรับเงินจำนวน 10 ล้านไประหว่างที่อยู่ใน “บ้านผีสิง” นั้น เนื่องจากเกิดความหวาดกลัวอย่างมาก!

ปัญหาก็คือ ตำรวจกลุ่มนี้ใช้อำนาจอะไรในการหยิบเงินสด 10 ล้านและทองคำ 60 บาทจากบ้านที่เข้าตรวจค้นนี้ไป!

ในหมายศาลเป็นการออกให้เพื่อตรวจหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่นเท่านั้นมิใช่หรือ?

แล้วเงินสดและทองคำที่ยึดไปเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ใช่แล้วใช้อำนาจอะไรหยิบฉวยเอาทรัพย์ของเขาไป?

เรื่องอำนาจการตรวจค้นของตำรวจ ทั้งบุคคล ยานพาหนะหรือเคหสถานในปัจจุบันนั้น มีปัญหาที่สร้างความคับแค้นใจให้กับประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างร้ายแรงมาช้านาน

โดยเฉพาะการค้นบุคคลและยานพาหนะในที่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งมีหมายศาลก็ตาม

ป.วิ อาญา มาตรา 92 บัญญัติว่า  “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล” โดยมีข้อยกเว้นที่จำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม (1) (2) (3) (4)  และ (5) อย่างแท้จริง

และมาตรา 98 ในที่รโหฐานคือบ้านเรือนของประชาชน จะค้นได้แต่เฉพาะเพื่อหาตัวคน หรือ สิ่งของที่ต้องการค้น (ตามหมาย) เท่านั้น โดยก่อนลงมือค้น  ให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์ และให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่นั้นตามมาตรา 101

และ มาตรา 104 เจ้าพนักงานที่ค้นโดยมีหมาย ต้องรีบส่งบันทึกและบัญชีสิ่งของที่ยึดไปยังผู้ออกหมายหรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กำหนดไว้

หมายศาลจังหวัดสงขลาที่ ค.148/2564 วันที่ 9 ก.ย. 2564 ให้ค้นเพื่อพบ “ยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่น” และเมื่อพบแล้ว “ให้ส่งของกลางพร้อมบัญชีการค้น” ไปยังสถานีตำรวจภูธรปากรอ เพื่อจัดการคือ “ดำเนินคดี” ตามกฎหมายต่อไป

คำถามที่ประชาชนทั้งประเทศต้องการคำตอบจากผู้บังคับบัญชาตำรวจตั้งแต่ ผบก., ผบช. และ ผบ.ตร. ก็คือ

 “เงินสดจำนวน 10 ล้านและทองคำ 60 บาท” เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่ตำรวจกลุ่มนี้มีอำนาจยึดไปตรวจสอบตามที่บอกและรายงานหรือไม่?

หากไม่มี ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามกฎหมายอาญามาตรา  157 ที่ผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีหน้าที่ต้องสอบสวนเสนอและจับตัวมาดำเนินคดีทันทีตามอำนาจหน้าที่มิใช่หรือ?

ตำรวจตรวจค้น

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:   ฉบับวันที่ 27 ก.ย. 2564

ขอบคุณภาพประกอบจาก Tnews