กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าและกระทำทารุณฉบับครม. คุ้มครองประชาชนให้พ้นจาก’อาชญากรมีเครื่องแบบ’ไม่ได้     

กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าและกระทำทารุณฉบับครม. คุ้มครองประชาชนให้พ้นจาก’อาชญากรมีเครื่องแบบ’ไม่ได้     

ยุติธรรมวิวัฒน์

กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าและกระทำทารุณฉบับ ครม. คุ้มครองประชาชนให้พ้นจาก“อาชญากรมีเครื่องแบบ” ไม่ได้     

                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ช่วงนี้สภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติ รับหลักการร่างกฎหมายป้องกันการทรมาณและการบังคับให้บุคคลสูญหาย” ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมี ส.ส. อดีต ส.ส.และนักวิชาการผู้สนใจจากภายนอกจำนวน 25 คน ขึ้นพิจารณาและแปรญัตติเตรียมเสนอเข้าสู่สภาเป็นวาระที่สองในการประชุมสมัยหน้า

แทนที่จะเป็นการนำฉบับของ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่ง มีประเด็นเนื้อหาที่มีความก้าวหน้ามากกว่า และสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างแท้จริง จัดทำขึ้นโดย อนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ ที่มีนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา และ ส.ส.ผู้รักความยุติธรรมอีกจำนวนหนึ่งเข้าชื่อกันเสนอต่อสภามาเป็นหลักในการพิจารณา

อาจกล่าวได้ว่า การที่รัฐบาลได้เสนอและยอมผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวก็ด้วยความจำใจ!

ทั้งนี้ ก็เพราะรัฐบาลไทยได้เคยไปลงนามตามข้อตกลงระหว่างประเทศในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในเดือน ตุลาคมปี 2550

แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาแม้กระทั่งปัจจุบัน ไม่ได้มีความจริงใจในการออกกฎหมายบังคับใช้ตามที่เคยไปตกลงกับนานาชาติไว้แต่อย่างใด?

การลงมติรับหลักการร่างของรัฐบาลดังกล่าว สื่อมวลชนและนักวิชาการอ่อนโลก หลายคนได้แสดงความดีใจว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้พ้นจาก ภัยอุ้มฆ่า และ ทำทารุณกรรม โดยเฉพาะจากเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร แม้กระทั่งด้วยการรู้เห็นของผู้นำรัฐบาลชั่วที่มีอำนาจแต่ละยุคสมัยในขณะนั้นเสียที!

แต่ในความเป็นจริง ร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีฉบับนี้แทบไม่มีประเด็นที่ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากภัยอุ้มฆ่าและทำทารุณกรรม รวมทั้งย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามข้อตกลงตามอนุสัญญาอย่างแท้จริงเลย

อาจกล่าวได้ว่าสาระสำคัญมีเพียงการเพิ่มโทษความผิดของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่และทำร้ายร่างกายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 279  คือ “ได้รับอันตรายสาหัส” ให้สูงขึ้น ถือเป็น “การทรมาน”

มีโทษจากจำคุกหกเดือนถึงสิบปีเป็นจำคุกห้าปีถึงสิบห้าปี   

และปิดช่องว่างกรณีเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารสุมหัวกันก่อ ฆาตกรรมอำพราง คือ ลักพาตัวประชาชนไปฆ่าอย่างทารุณแล้วทำลายศพ!

ซึ่งเดิมกรณีผู้ที่ถูกลักพาตัวไปไม่พบร่างที่สิ้นลมหายใจ จะไม่สามารถดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายกับผู้ใดได้

ในร่างมาตรา 6 ได้บัญญัติไว้ให้ถือว่าเป็นความผิดฐาน “กระทำให้บุคคลสูญหาย” มีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าถึงสิบห้าปีเช่นกัน 

แต่ปัญหาสำคัญไม่ใช่เรื่องการกำหนดให้การกระทำเช่นนี้มีความผิดหรือมีโทษสูงขึ้นแต่อย่างใด

หากแต่หัวใจอยู่ที่ “การดำเนินคดี”

ใครและหน่วยงานใดคือเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าพนักงานโดยเฉพาะผู้ที่เป็น “ตำรวจและทหารนักฆ่า” หรือ “มือทารุณกรรม” ที่มีอยู่มากมายในหลายหน่วยงานต่างหาก!

นอกจากนั้น ในส่วนของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ซึ่งร่างฉบับ กมธ.กำหนดให้ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำโดยเฉพาะจากองค์กรตำรวจทหาร

รวมทั้งให้ อัยการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ตามกฎหมาย

เนื่องจากอัยการถือเป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล รวมทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 248 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้มี “อิสระในการพิจารณาและสั่งคดีให้เป็นโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง….”

รวมทั้ง การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ ก็ให้มีความเป็นอิสระ  โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะ…….

กฎหมายป้องกันอุัมฆ่า
ขอบคุณภาพจาก Bright TV

ฉะนั้น คดีเจ้าพนักงานของรัฐโดยเฉพาะผู้เป็นตำรวจหรือทหารอุ้มฆ่า หรือกระทำทารุณกรรมต่อประชาชนไม่ว่าจะกระทำกันตามลำพัง หรือโดย คำสั่งลึกลับ ของผู้นำรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใด การให้อัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนคดี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

แต่ร่างฉบับคณะรัฐมนตรีกลับกำหนดให้มีคณะกรรมการ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.ตร. เป็นกรรมการ และให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี?

ซึ่งถ้าสอบสวนความผิดที่ตำรวจทหารผู้น้อยกระทำไปตามลำพัง ก็ถือว่า พอได้

แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ทำกันเป็นขบวนการโดยมีตำรวจผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่ง ผู้นำรัฐบาลเป็นคนบงการหรือรู้เห็นเป็นใจ!

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา ก็จะไม่สามารถสืบสอบนำตัวผู้กระทำผิดมาส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลให้พิพากษาลงโทษได้อย่างแท้จริง

สิ่งที่อาชญากรในเครื่องแบบไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารกลัวมากที่สุดก็คือ การให้อัยการซึ่งไม่ใช่องค์กรสังกัดรัฐบาลเป็นหน่วยรับผิดชอบการสอบสวนคดี

รวมทั้ง เป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา

หมายความ “อาชญากรและผู้เกี่ยวข้องหรือสมคบกันก่ออาชญากรรมดังกล่าว” แต่ละคนเมื่อเกษียณหรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการไปแล้วไม่ว่าจะกี่สิบปี ก็ยังสามารถ “ถูกออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหาดำเนินคดีอาญา” ได้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจตายจากโลกนี้ไป!

ในร่างฉบับ ครม.จึงไม่มีประเด็นที่สำคัญเหล่านี้แต่อย่างใด!.

กฎหมายป้องกันอุัมฆ่า
ขอบคุณภาพจาก Kapook.com

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 20 ก.ย. 2564