วงเสวนาผ่าคดี’ผู้กำกับโจ้’หวั่นมวยล้มต้มคนดู ซัด’ประยุทธ์’ไร้ภาวะผู้นำ สิ้นหวังปฏิรูปตร.ในยุคนี้

วงเสวนาผ่าคดี’ผู้กำกับโจ้’หวั่นมวยล้มต้มคนดู ซัด’ประยุทธ์’ไร้ภาวะผู้นำ สิ้นหวังปฏิรูปตร.ในยุคนี้

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564  สถาบันปฏิรูปประเทศไทย วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  (สป.ยธ.) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ผ่าคดีผู้กำกับโจ้…กับอนาคตปฏิรูปตำรวจไทย”  โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อ.สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตรเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนฯ สำนักงานอัยการสูงสุด   นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานครป. ร่วมเสวนา  ดำเนินรายการโดย ผศ.พิมพ์ณัฐชยา สัจจาศิลป์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต

วิชา มหาคุณ

อ.วิชา มหาคุณ กล่าวว่า คดีนี้เกิดจากการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จทั้งการจับกุมและการสอบสวนเอง  เหมือนสมัยโบราณเช่น ตอกเล็บ เพื่อให้ผู้ต้องหาสารภาพ แต่กระบวนการที่ล้มเหลวจากการใช้อำนาจการตรวจสอบ วัฒนธรรมของตำรวจใช้วิธีการปกปิด ซ่อนเร้น กินเอง ชงเอง ผู้ต่อสู้คดีจะไม่มีโอกาสรับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง ต่ออาจจะต้องไปถึงศาลในการไต่สวน ดังนั้น การสอบสวน สืบสวนต้องแยกกับการจับกุม ต้องแยกเป็นอิสระไม่เชื่อมโยงกับสายการบังคับบัญชา แต่ตำรวจมักจะบอกว่าถ้าแยกออกจะทำให้สูญเสียกำลังไป แต่เราต้องยอมรับ เพื่อให้กระบวนการสอบสวนคดีอาญาที่ชอบธรรมตามกฎหมาย การสอบสวนคดีอาญาไม่ใช้การเอาผิด ต้องตั้ง MIND SET ในการให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมการสอบสวนคดีสำคัญบ้าง  สุดท้าย เราต้ององช่วยกันผลักดัน พรบ.สอบสวนคดีอาญา เข้าสู่สภา เพราะเราต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้คนทั่วโลก

 

นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า  เรื่องร่างกฎหมายพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในรัฐสภาเน้นในเรื่ององค์กรและการให้ความเป็นธรรมในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญของตำรวจเลยว่ามีข้อกล่าวหาว่าการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและการซื้อขายตำแหน่ง เรามักจะได้ยินคำว่า “ตั๋วช้าง”  แสดงถึงชาวบ้านไม่พอใจการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ จากนี้ไปจะใช้ระบบคะแนนประจำตัวคือความสามารถและความพึงพอใจของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับ อ.มีชัย โดยคณะรัฐมนตรีรับหลักการ และส่งกลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับแก้มา เสร็จแล้วเสนอต่อรัฐสภาปัจจุบันจึงเป็นฉบับที่ปรับแก้จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ขณะนี้ทำไปแล้วถึง 13 มาตรา นายกรัฐมนตรี มีการใช้อำนาจประกาศ คสช. มาแล้ว  6 ครั้ง

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร กล่าวว่า กล่าวว่า หัวใจการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง คือ  การกระจายอำนาจตำรวจให้สังกัดจังหวัด  ผวจ.ต้องมีอำนาจตรวจสอบควบคุม สั่งเลื่อนเงินเดือนและแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดทุกระดับได้ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตำรวจจังหวัดให้ทุกคนเจริญเติบโตในจังหวัด สร้างขวัญกำลังใจให้ตำรวจได้อยู่กับครอบครัวและมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนในอำเภอและจังหวัด หน่วยตำรวจเฉพาะทางต้องโอนไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบตามกฎหมาย  ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดตามอำนาจหน้าที่อีกทางหนึ่งคู่ไปกับตำรวจท้องที่ โดยการสอบสวนคดีสำคัญ หรือที่มีการร้องเรียนของทุกหน่วย  อัยการต้องเข้าตรวจสอบหรือควบคุมสั่งการตั้งแต่เกิดเหตุได้ นอกจากนั้น  ก็ต้องทำตำรวจให้มีความเป็นพลเรือนมากขึ้น  แทนการฝึกและการปกครองบังคับบัญชารวมทั้งวินัยแบบทหารที่มีไว้เพื่อการรบกับข้าศึก  โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม จะอยู่ในระบบการปกครองแบบทหารผู้บังคับบัญชาสั่ง ‘ซ้ายหันขวาหัน’ ไม่ได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนายพลตำรวจทุกตำแหน่งถึง 500 คน มากที่สุดในโลก  มีกองบัญชาการที่ไม่จำเป็นมากมาย  เช่น บช.ตำรวจภาค  เหล่านี้ต้องยุบให้หมดเมื่อตำรวจสังกัดจังหวัด  จะประหยัดงบประมาณปีละเกือบหมื่นล้าน  ซ้ำงานรักษากฎหมายของประเทศก็จะดีขึ้นด้วย  เพราะลดขั้นตอนและการรายงานรวมทั้งการสั่งการต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละจังหวัดออกไปปัจจุบันตำรวจเลวร้ายกว่าอดีตมาก  มีปัญหาการวิ่งเต้นไปจนซื้อขายตำแหน่ง  ก่ออาชญากรรมสารพัด  และ พรบ.ตำรวจ รวมทั้ง พรบ.สอบสวน ก็ไม่ได้เป็นการปฏิรูปที่เป็นโล้เป็นพายอะไรเลย  เพราะส่งไปให้ตำรวจผู้ใหญ่ปรับแก้ตามใจตลอดเวลา

 

“นายกรัฐมนตรีไม่มีภาวะผู้นำเพียงต่อการปฏิรูปตำรวจตามที่ประกาศไว้หลังยึดอำนาจเป็นการ พูดเรื่อยเปื่อยไปอย่างนั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านเป็นสำคัญ สิ่งที่กำลังทำพยายามเสนอร่างกฎหมายหลังเกิดเหตุอื้อฉาว  ผกก.ตำรวจ เอา ‘ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาตาย’  ไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริงอะไร  ประชาชนอย่าไปสนใจร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ  ปล่อยให้เขาว่าไปต้องรอให้มีการ ร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลใหม่  ค่อยเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงตามแนวทางที่กล่าวไว้อีกครั้ง”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

ดร.น้ำแท้  มีบุญสล้าง กล่าวว่า คนไทยเรามีความหวังสังคมไทยในการปฎิรูป  การปฎิรูปไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากมันอยู่ที่ไม่ทำ เพราะเงินและอำนาจเป็นอุปสรรคของการปฏิรูป ระบบบที่ไม่โปร่งใส ทำให้หาผลประโยชน์ง่าย จะปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของตำรวจเพื่อนักการเมืองหรือประชาชน เพราะมันสวนทางกัน  ฉะนั้นระบอบแบบนี้มันอยู่ที่ผลประโยชน์ เราควรมาสร้างกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสไว้ให้คนรุ่นหลัง  คือ กระบวนการยุติธรรมที่ความจริงปรากฏ กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส หัวใจการปฏิรูปคือ”การรักษาพยานหลักฐานให้ได้” ในต่างประเทศ ให้หลายหน่วยงานเข้าถึงพยานหลักฐานได้ คดีบ่อนพระราม3ตร.เป็นหน่วยงานเดียวที่เข้าตรวจที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิดหายหมด บางคนบอกว่าอัยการเข้าไปดูหนีเสือปะจรเข้ คือคนที่พูดแบบนี้ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่เข้าใจปัญหา หรือรู้แต่มีเถรจิตที่ไม่สุจริต  ถ้าหลายหน่วยงานเข้าไปดูหลักฐานพร้อมกันจะหนีเสือปะจรเข้อย่างไร? อัยการต้องมาทบทวนบทบาทตัวเองในการค้นหาความจริง ในการเปลี่ยนวิธีคิดตัวเองให้มีประสิทธิภาพปรับบทบาทตัวเอง มองเป้าหมายในการผดุงความยุติธรรม การตรวจสอบถ่วงดุลต้องไปทำตั้งแต่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ ยังหวังกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่หวังกับรัฐบาลชุดนี้

 

อ.สุณี ไชยรส กล่าวว่า รธน. 40 ได้เขียนไว้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมไว้ หลักง่ายคือ 1.สิทธิในร่างกายของเรา 2.ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ 3.เวลาสอบสวนต้องมีทนายหรือผู้ต้องหาไว้วางใจรับฟังด้วย แต่กรณีผู้กำกับโจ้ไม่มีการคุ้มครองพยาน บทเรียนของการทรมานคือ ไม่มีใครกล้าสู้หรือเอาผิดตำรวจได้ กลไกของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมยังอ่อนมากสุดท้ายจะหลุดคดี เราจึงต้องจัดการเอาผิดและจะเป็นการท้าทายกระบวนการยุติธรรม กฎหมายตำรวจแห่งชาติถูกหมกเม็ดแปลงสารอย่างที่หลายคนพูดกัน ซึ่งรัฐบาลใช้กระบวนการร่างกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ รธน.คือไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รัฐบาลยังทำในสิ่งที่ขัดแย้งกันเองจาร่างกฎหมายช้ายากและยืดเยื้อ ดังนั้น ทุกกระบวนการต้องกล้าหาญที่ต้องทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนและโปร่งใส

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์

นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กล่าวว่า คดีโจ้จะเป็นมวยล้มต้มคนดู ผู้กระทำผิดลอยนวล เราเห็นเค้าลางความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง ตั้งแต่การแถลงข่าว ถ้าไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมคดีนี้ก็จะเลือนหายไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต กลายเป็นคดีที่ไม่มีความผิด การโอนคดีให้กองปราบไปดำเนินการประชาชนก็ยังสงสัยในกระบวนการยุติธรรม เพราะประชาชนทุกคนก็เสี่ยงที่จะตกเป็นผู้ต้องหาและถูกคลุมถุงดำได้ทุกคน

 

ช่วงท้าย อ.วิชา กล่าวว่า  ควรจะต้องผลักดันในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ปฎิรูปคือ ทำอย่างไรให้ตำรวจรับผิดชอบ ยอมรับการตรวจสอบ มีธรรมาภิบาล ยอมรับสิทธิมนุษยชน ถ้าเรายังปล่อยทิ้งเอาไว้ในยามที่บ้านเมืองทุกข์ยากมหาศาล ว่าเราต้องยุติปัญหา ว่ากระบวนการนี้ต้องมีการสอบสวนเอาความจริงให้ปรากฎและให้ความเป็นธรรมในเรื่องการสู้คดี  นอกจากนี้ต้องพัฒนาระบบการสร้างคน เปลี่ยนทัศนคติจากใช้อำนาจมาใช้หลักเหตุผล และหลักสิทธิมนุษยชน