‘แผนประทุษกรรม’งานโง่ๆ ที่ตำรวจผู้น้อย จำใจทำเพื่อให้ตำรวจผู้ใหญ่ได้ออกสื่อ

‘แผนประทุษกรรม’งานโง่ๆ ที่ตำรวจผู้น้อย จำใจทำเพื่อให้ตำรวจผู้ใหญ่ได้ออกสื่อ

ยุติธรรมวิวัฒน์

“แผนประทุษกรรม” งานโง่ๆ ที่ตำรวจผู้น้อย จำใจทำเพื่อให้ตำรวจผู้ใหญ่ได้ออกสื่อ

 

                                                                      พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

 

ปัจจุบันนี้ไม่มีใครรู้ว่า  แต่ละวันเดือนปีมีอาชญากรรมหรือการกระทำความผิดอาญาสารพัดเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมากน้อยเพียงใด?

เพราะหากความผิดเรื่องไหนที่ประชาชนไม่ได้ไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีจำนวนคดีนั้นก็จะไม่ปรากฎ

แม้กระทั่งไปแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่โรงพักหรือหน่วยตำรวจต่างๆ แล้ว แต่พนักงานสอบสวนกลับทำแค่ “ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานตามที่ถูกตำรวจผู้ใหญ่สั่งไว้”ไม่ยอมออกเลขคดีอาญาเข้าสารบบ!การกระทำผิดก็จะไม่ปรากฏเป็นสถิติคดีด้วยเช่นกัน

ประมาณกันว่า  มีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากกว่าที่ปรากฎเป็นสถิติคดีไม่น้อยกว่าสิบหรืออาจถึงยี่สิบเท่า!

เราจึงมักได้ยินเรื่องที่คนร้ายหลายรายรับว่าได้ก่ออาชญากรรมลักษณะเดียวกันนั้นมาหลายสิบหรือนับร้อยครั้ง  จึงถูกจับได้  ไม่ว่าจะเป็นความผิดประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฉ้อโกง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขืนและทำอนาจารที่เกิดกับหญิงสาวซึ่งเป็นลูกชาวบ้านผู้ยากจนส่วนใหญ่!

สังคมไทยจึงมีดัชนีชี้วัดความปลอดภัยเฉพาะตัวเลข!

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตกันอย่างหวาดผวาต่อปัญหาอาชญากรรมสารพัด

และเมื่อรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานรักษาความปลอดภัยและกฎหมายของประเทศ  ถูกสื่อตั้งคำถาม หรือ สส.รุกไล่ในสภา

คำอธิบายที่ได้ยินจนคุ้นหูก็คืออาชญากรรมทุกด้านล้วนลดลงทุกเดือนและทุกปีตามที่ ผบ.ตร.ทุกยุคสมัยรายงานให้ทราบเป็นระยะๆ!

ควรจะพอกันได้แล้ว  สำหรับการบริหารราชการบนฐานข้อมูลที่เป็นเท็จซึ่งส่งผลทำให้ทุกรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรในทุกๆ ด้านได้อย่างแท้จริงเช่นทุกวันนี้

มีปัญหาการสอบสวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งซึ่งตำรวจไทยได้กระทำด้วยความเคยชินกันมานานโดยไม่มีใครเฉลียวใจว่ามีความจำเป็นหรือประโยชน์อะไรในการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดจริงหรือไม่?

นั่นคือ  การทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา

ที่มาของเรื่องนี้ซึ่งมีมาแต่โบราณก็คือ  เมื่อผู้ต้องหาแต่ละคนให้การรับสารภาพแล้ว  เจ้าพนักงานก็ยังไม่แน่ใจ

หลายคดีมีข้อสงสัยซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่อการรวบรวมพยานหลักฐานเสนอให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลพิพากษาลงโทษได้

จำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาใส่ขื่อคาไปแสดงท่าทางประกอบหลักฐานต่างๆ ให้เจ้าพนักงานดู ณ ที่เกิดเหตุว่า  กระทำผิดด้วยวิธีการใดและอย่างไรเพื่อให้เกิดความแน่ใจ

เป็นกระบวนการยุติธรรมสมัยโบราณแต่ครั้งก่อนรัชกาลที่ ๕ ย้อนยุคขึ้นไปซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาคดีอาญาแต่อย่างใด

ซ้ำยังให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเป็นผู้กระทำผิด”

ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนมีหน้าที่พิสูจน์ตนเองด้วยการดำน้ำหรือลุยไฟ  ซึ่งถ้าไม่ได้กระทำผิด  ก็ต้องอดทนต่อการเฆี่ยนตีที่แสนทารุณนั้นได้!

แต่ต่อมาหลังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของสยามประเทศครั้งใหญ่  เพื่อให้พ้นจากการถูกชาติตะวันตกบังคับให้ยอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ความคิดที่ล้าหลังนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลง วิธีพิสูจน์ความผิดด้วยระบบจารีตนครบาลได้ถูกยกเลิกไป

รวมทั้งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด   สอดคล้องกับหลัก Presumption of Innocence  ตามกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ที่ใช้กันในอารยะประเทศ

รัฐจึงไม่มีอำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเกินความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำตัวไปคุมขังไว้โดยยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นพิษภัยต่อพยานหรือเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวมพยานหลักฐานอะไร

รวมทั้งการนำตัวผู้ต้องหาที่ตำรวจบอกว่ารับสารภาพไปทำแผนประทุษกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าเขาได้กระทำความผิดตามคำรับจริงหรือไม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาอย่างหนึ่ง

ซึ่งการปฏิบัติในเรื่องนี้ที่ยังมีอยู่กระทั่งปัจจุบันได้ถูกตำรวจผู้ใหญ่ผู้ไม่มีความรู้ทางกฎหมายหลายคนพูดแก้เกี้ยว ว่า เป็นการกระทำตามความประสงค์และสมัครใจของผู้ต้องหาคนนั้น?

ปัญหาคือ จริงหรือไม่?

จะมีผู้ต้องหาหญิงชายคนไหน แม้ว่าจะได้กระทำผิดจริง ยินดีและเต็มใจให้ตำรวจคุมตัวใส่รถห้องขังนำไปทำแผนประทุษกรรมกลางตลาดหรือถนนหนทางต่างๆ ท่ามกลางผู้คนและสื่อที่มามุงดูเพื่อถ่ายภาพกันมากมายซ้ำญาติพี่น้องก็พร้อมจะเข้ารุมทำร้ายด้วยความโกรธแค้นอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย!

และหลายคดีที่ผู้ต้องหายอมทำแผนประทุษกรรม  แต่ก็ไปกลับคำให้การในชั้นศาลว่าเป็นการกระทำด้วยความจำใจที่ไม่อาจขัดขืนหรือปฏิเสธได้ก็หลายคดี!

เช่น กรณีสองคนต่างด้าวชาวพม่าซึ่งถูกจับข้อหาฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าเป็นข่าวอื้อฉาวว่าเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่เมื่อหลายปีก่อน!

ในความเป็นจริง  หลายคดีเป็นที่รู้กันว่าตำรวจได้มีการพูดจาหลอกล่อต่อรองกับผู้ต้องหาสารพัดเช่น หากยอมทำแผนฯ แล้วจะไม่คัดค้านการประกัน หรือสอบสวนให้หนักเป็นเบา ทุเลาเป็นหาย  ส่วนจะทำได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ซึ่งทั้งนี้ ก็เพื่อให้เจ้านายที่เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่เกิดความพอใจได้มานั่งแถลงข่าวออกสื่อถือเป็นพระเอกผู้พิชิตคดีนั้น!

เราจึงมักเห็นภาพผู้ต้องหาซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนไปร่วมเข้าฉากแผนประทุษกรรมกับตำรวจกันอยู่ตลอดเวลา  โดยมีการใช้กำลังตำรวจรักษาความปลอดภัยจำนวนหลายสิบหรือนับร้อยนาย  เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าทำร้ายหรือถูกญาติพี่น้องรุมประชาทัณฑ์ทั้งตำรวจและประชาชนวุ่นวายกันไปทั้งวัน!

ทั้งที่ในชั้นการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการส่วนใหญ่   การทำแผนประทุษกรรมของผู้ต้องหาไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาสั่งฟ้องเลยแม้แต่น้อย

เพราะต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทั้งบุคคล วัตถุ และวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ

ถ้าประจักษ์พยานและหลักฐาน “วิทยาศาสตร์แท้” ชัดเจนเป็นที่เชื่อถือได้ด้วยความมั่นใจ

แม้ไม่มีการทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ  อัยการก็ต้องสั่งฟ้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ปัจจุบัน  หลายคดีที่มีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานการกระทำผิดชัดยิ่งกว่าคำให้การของบุคคลใดที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ด้วยความมั่นใจ

ความจำเป็นในการนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมจึงแทบไม่มี!

ในประเทศที่เจริญทั่วโลกปัจจุบัน เขาไม่มีการนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ  โดยถือว่าเป็นละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของบุคคลแต่อย่างใด

แผนประทุษกรรม

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:   ฉบับวันที่ 28 มิ.ย. 2564