‘ป้อม’ล้างบาป!ชงนายกฯแก้ป.วิอาญาม.145/1เปลี่ยนอำนาจทำความเห็นแย้งอัยการให้ผวจ.เหมือนเดิม

‘ป้อม’ล้างบาป!ชงนายกฯแก้ป.วิอาญาม.145/1เปลี่ยนอำนาจทำความเห็นแย้งอัยการให้ผวจ.เหมือนเดิม

 

“ป้อม” ล้างบาป!เสนอนายกฯ ยกเลิก ป.วิ อาญา มาตรา 145/1 เปลี่ยนแปลงอำนาจ ผบช.ตร.ภาค ในการทำความเห็นแย้งอัยการคดีที่สั่งไม่ฟ้อง  ให้เป็นของ ผวจ.เหมือนเดิม  เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการสอบสวนสามฝ่ายอย่างเหมาะสม  และลดความเดือดร้อนของประชาชนในคดีที่พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ให้สิ้นสุดลงโดยเร็ว

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 พลเอก ประวิตร  วงศ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนาม ในหนังสือที่ นร 0403   (กร 1)5280 ถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้นำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ….โดยขอยกเลิกมาตรา 145/1 )

 

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากหลังการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ลงนามในประกาศ คสช.ฉบับที่ 115/2557  แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145  โดยเพิ่มมาตรา 145/1  ให้อำนาจในการทำความเห็นแย้งพนักงานอัยการจังหวัด ในคดีที่สั่งไม่ฟ้องไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกา ให้ไปเป็นของ ผบช.ตร.ภาคแทน โดยไม่มีใครสามารถอธิบายถึงที่มาที่ไปของการออกประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากรู้แต่เพียงว่า  เป็นความต้องการของตำรวจผู้ใหญ่ที่ต้องการได้อำนาจนี้ไว้  ไม่ต้องการให้ฝ่ายปกครองเข้ามาตรวจสอบการสอบสวนคดีต่างๆ เช่นเดิม

 

นอกจากนั้นในข้อเท็จจริงได้ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนมากมาย  ตั้งแต่ความล่าช้าของการสอบสวน  เนื่องจาก ผบช.และ รอง ผบช. ส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้และความเชี่ยวชาญต่องานสอบสวนที่จะตรวจพิจารณาสำนวนตามลำพังเหมือนการปฏิบัติงานพนักงานอัยการ  ทำให้ต้องสั่งพนักงานสอบสวนระดับพันตำรวจเอกจำนวนมากที่เคยอยู่ประจำสถานีตำรวจมาช่วยราชการที่ ตร.ภาค  ทำหน้าที่ตรวจสำนวนและมีความเห็นเสนอให้รอง ผบช.แต่ละคนลงนาม

 

และต่อมาก็ถึงขนาดตั้งเป็น “กองบังคับการกฎหมายและคดี” ขึ้น สังกัดตำรวจภูธร 1 ถึง 9 มีตำรวจยศนายพลเป็น ผบก.ควบคุมโดยไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด   รวมทั้งการเสนอแย้งของผบช.ตร.ภาคส่วนใหญ่  ก็ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนและปัจจุบัน อัยการสูงสุด (อสส.)ก็มักไม่สั่งฟ้องตามความเห็นแย้งเหล่านี้  คดีที่เคยสิ้นสุดในแต่ละจังหวัดอย่างรวดเร็ว  ก็ต้องถูกรวบรวมนำไปส่งไปที่ ตร.ภาค ใช้เวลาในการพิจารณานาน  รวมไปถึงขัดต่อหลักการตรวจสอบถ่วงดุลการสอบสวนสามฝ่ายตามเจตนารมณ์ของป.วิอาญาที่มีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว โดยไม่ได้มีปัญหาหรือเหตุผลที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด!