‘นิติวิทยาศาสตร์’และ’ทาสสอบสวน’โซ่ตรวนคือ’ชั้นยศ’และ’วินัยแบบทหาร’

‘นิติวิทยาศาสตร์’และ’ทาสสอบสวน’โซ่ตรวนคือ’ชั้นยศ’และ’วินัยแบบทหาร’

ยุติธรรมวิวัฒน์
              

  “นิติวิทยาศาสตร์” และ “ทาสสอบสวน”  โซ่ตรวนคือ “ชั้นยศ” และ “วินัยแบบทหาร”

                                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร     

                ผู้คนที่พอมีสติและไม่หูหนวกหรือตาบอดพร้อมกันทั้งสองข้างต่างคงต้องยอมรับว่า สังคมไทยในเวลานี้มีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย คือ รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย ประชาชนไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือชนชั้นใดต้องอยู่ภายใต้กติกาของสังคมที่บัญญัติไว้อย่างเท่าเทียมกัน

แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมหรือ การบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนใดอย่างร้ายแรง!

เริ่มตั้งแต่การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา  หรือว่า “การออกหมายจับ” ของศาล การค้านประกัน “แบบมั่วๆ” ของตำรวจโดยไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะหลบหนี หรือมีพฤติกรรมไปยุ่งเกี่ยวกับพยานอย่างใด?

รวมไปถึง “การสั่งฟ้องคดี” ของอัยการที่ “ต่ำกว่ามาตรฐานสากล” คือคดีมีหลักฐานเพียงแค่ “พอฟ้อง”!  

หรือแม้กระทั่ง “คำสั่ง” หรือ “คำพิพากษาของศาล” ที่หลายคดีมีคำถามเกิดขึ้นโดยไร้คำตอบมากมาย

เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้คนที่ยากจนหรือบุคคลฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายโดยไม่มีใครรู้ว่าปัญหาจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและอย่างไร?

จะมีผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนและคนหนุ่มสาวต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อกันมากน้อยเพียงใด การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้น

อาจกล่าวได้ว่านอกจากปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นหลังจากที่ คสช.ได้ทำรัฐประหาร โดยได้มีการซ่อนเงื่อนสืบทอดอำนาจทั้งโดย ส.ว.แต่งตั้ง และแผนยุทธศาสตร์ชาตินานถึง 20 ปี ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยใน ชั้นสอบสวน หรือการรวบรวมพยานหลักฐานก็เป็นปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งก่อให้บ้านเมืองเกิดวิกฤติขึ้น

จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างเร่งด่วน ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภาย ในระยะเวลา 1 ปี แต่จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะออกเป็นกฎหมายได้เมื่อใด?

เมื่อประกาศใช้ ป.วิ อาญา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ พ.ศ.2477 เพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยให้เป็นเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ

งานสอบสวนได้ถูกกำหนดให้เป็นอำนาจและบทบาทหลักของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคทั้งหมด

ตำรวจในจังหวัดต่างๆ มีหน้าที่ตรวจตราจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าไปส่งให้นายอำเภอและปลัดอำเภอสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ ป.วิ อาญาบัญญัติไว้ใน มาตรา 131

ซึ่งหมายความว่า งานสอบสวนของชาติส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นระบบพลเรือน ไม่ได้เป็นข้าราชการผู้มียศแบบทหารแต่อย่างใด

ฉะนั้น ปัญหาการที่ผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ จะสั่งให้ปลัดอำเภอทำสอบสวนโดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการ สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน เพื่อล้มคดี หรือ ยัดข้อหา ประชาชน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

เพราะนอกจากกระทรวงมหาดไทยจะไม่ได้มีโครงสร้างและระบบการปกครองที่มีชั้นยศและวินัยแบบทหาร  และถูกปลูกฝัง วัฒนธรรมเผด็จการที่จำเป็นสำหรับการรบ อย่างที่โรงเรียนทหารทุกแห่งสอนกัน เช่น คำสั่งผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์ หรือ ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แล้ว

พื้นฐานการศึกษาของพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองส่วนใหญ่ล้วนมี คุณวุฒิทางกฎหมาย คือ นิติศาสตรบัณฑิต หรือรัฐศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกประเทศด้วยกันทั้งสิ้น

แต่กระบวนการยุติธรรมอาญาชั้นสอบสวนของไทยได้เกิดการพลิกผันครั้งใหญ่ใน ยุครัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี พ.ศ.2506 

ได้มีการออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้ตำรวจรับผิดชอบการสอบสวนในส่วนภูมิภาคแทนฝ่ายปกครองทั้งหมด จึงทำให้งานสอบสวนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดถูกผูกขาดโดยองค์กรตำรวจเพียงหน่วยเดียวนับแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน

นี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้ งานสอบสวนประเทศไทยถูกสั่งตามชั้นยศแบบทหารได้ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบ-ไม่สอบ พยานปากใด หรือ ไม่รวบรวมหลักฐานอะไรไว้ให้ปรากฏในสำนวนที่ส่งให้อัยการ ก็ได้

ส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ได้รับความอยุติธรรม จนบ้านเมืองแทบลุกเป็นไฟ ไม่ต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน!

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้แก้ปัญหาด้วยการออกข้อบังคับเพิ่มเติมใน ปี 2509

ให้ฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้

 รวมทั้งได้เพิ่มคดีป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติเข้าไปในข้อบังคับปี พ.ศ.2523 ให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนรับผิดชอบด้วย

ความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนภูมิภาคจากการสอบสวนโดยมิชอบของตำรวจจึงถูกตรวจสอบและถ่วงดุลโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เกิดคุณูปการต่อประชาชนให้ได้รับความยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

แต่ ในปี 2556 ได้มี ผบ.ตร.คนหนึ่งเกิด ความคิดพิลึก ว่า ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ไม่น่าจะนำมาบังคับใช้กับตำรวจแห่งชาติได้เนื่องจากไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยมาแต่ปี 2547 แล้ว

จึงออกคำสั่งที่ 419/2556 ห้ามพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอตามที่แจ้งหรือสั่งการมาอย่างเด็ดขาด!

แต่พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้นแต่อย่างใด ยังคงส่งสำนวนให้นายอำเภอตามที่แจ้งขอเคยปฏิบัติ โดยถือว่าเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง ป.วิ อาญา ให้อำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการไว้อย่างสมบูรณ์

เป็นเหตุให้ ผบ.ตร.ออกคำสั่งอีกฉบับหนึ่งในเวลาต่อมากำชับว่า ผู้ใดฝ่าฝืนส่งสำนวนให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอจะถูกลงทัณฑ์ทางวินัย สั่งให้นำตัวไป กักขัง หรือ กักยาม จำกัดอิสรภาพแบบทหารได้!

แม้คำสั่งดังกล่าวจะมิชอบด้วยกฎหมาย แต่พนักงานสอบสวนทุกคนก็ต้อง จำใจปฏิบัติตามกันโดยดุษณี!

ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่รับคำร้องทุกข์ ออกเลขคดี ในกรณีที่มีผู้เสียหายไปแจ้งความ รวมทั้ง การสอบสวนอย่างพิลึกพิลั่น สอบปากคำซ้ำซากจนพยานหรือผู้เสียหาย กลายเป็นผู้ต้องหา เช่นกรณี นายฐานะพล เสาวคนธ์ ที่ภรรยาถูกตำรวจแม่อายห้าคนขอตรวจค้นและยัดข้อหาว่านำพาคนต่างด้าว เรียกค่าไถ่ 300,000 บาท

สอบกันจนผู้เสียหายได้กลายเป็นผู้ต้องหาว่าแจ้งความเท็จแกล้งให้ตำรวจผู้รีดไถได้รับโทษอาญา

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือถึงหัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.แม่อาย ให้ส่งสำนวนมาตรวจสอบหรือเข้าควบคุม แต่ตำรวจ ก็ไม่ยอมส่งให้ ผู้ว่าฯ เลยส่งหนังสือการขอนั้นให้อัยการจังหวัดทราบเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการคืนสำนวนกลับไปให้ตำรวจทำใหม่ให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย!

หัวใจของการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง นอกจากต้องจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ทำให้ตำรวจบางหน่วยไม่มียศและระบบบังคับบัญชาแบบทหาร เช่น งานสายการแพทย์ พยาบาล งานพิสูจน์หลักฐาน และการสอนในสถานศึกษา ปรากฏอยู่ในมาตรา 9 (2) ของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับมีชัย

รวมทั้งกำหนดตำแหน่งสายงานสอบสวนให้เป็นเช่นเดิมก่อนมีประกาศ คสช.ยุบตำแหน่ง และมีหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเน้นเฉพาะในสายปรากฏอยู่ในมาตรา 77

ส่งผลทำให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระจากหัวหน้าสถานีหรือหัวหน้าตำรวจจังหวัดซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราป้องกันอาชญากรรมจับผู้กระทำผิดซึ่งหน้าส่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานด้วยความยุติธรรม

แต่ หัวใจสำคัญในสองเรื่องนี้กลับหายไป! เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ส่งร่างกฎหมายไปให้ตำรวจแห่งชาติพิจารณา

ซ้ำได้มีการร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับกลายเป็นว่า ผู้ปฏิบัติงานสายการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้เก็บรวบรวมและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานยังคงมียศและวินัยแบบทหารเช่นเดิมต่อไป!

อ้างว่าได้มีการบัญญัติไว้ให้นักวิทยาศาสตร์ มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เอาไว้แล้วตามมาตรา 8 วรรคสอง

แต่ภายใต้โครงสร้างองค์กรและระบบการปกครองแบบมีชั้นยศและวินัยแบบทหารของตำรวจเช่นทุกวันนี้

ความเป็นอิสระทั้ง เจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐานและพนักงานสอบสวน ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง

โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนทุกคนยังคงอยู่ในสภาพ  ทาสสอบสวน 

เนื่องจากถูกพันธนาการด้วย “โซ่ตรวน” ตามชั้นยศ รวมทั้งระบบการปกครองและวินัยแบบทหาร! 

การ ทำสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามสั่ง ของเจ้านายที่เป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ สั่งในที่ประชุมโขมงโฉงเฉงอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ต้องปรากฏหลักฐานการสั่งอะไรในสำนวน

แต่ ทาสสอบสวน ทุกคน ก็ยังต้องก้มหน้าปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็น การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน ล้มคดี หรือ ยัดข้อหา ประชาชนออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือ เสนอศาลให้ออกหมายจับ ก็ตาม!.

นิติวิทยาศาสตร์

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2564