องค์ประกอบ ก.ตร. ‘กับดักปฏิรูปตำรวจ’

องค์ประกอบ ก.ตร. ‘กับดักปฏิรูปตำรวจ’

ยุติธรรมวิวัฒน์
         

                                                   องค์ประกอบ ก.ตร. “กับดักปฏิรูปตำรวจ”

                                                                                พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

                ปัญหาสารพัดเกี่ยวกับตำรวจที่ปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี แก๊งพลตำรวจเอก สองสามคนสุมหัวกัน เปิดบ่อนการพนัน ตู้ม้า และแหล่งอบายมุขทั่วไทย!

“ขยิบตา” ให้ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาทำกันมานานหลายปี

หลายคน “รับส่วยสินบน” จนมีฐานะร่ำรวยเข้าขั้น “เศรษฐี”

แม้จะมีฝ่ายทหารและชุดปฏิบัติการกรมการปกครอง  รวมทั้งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ถือคำสั่ง  คสช. คอยตรวจสอบและ สืบจับ ได้ ไม่ว่าเป็นพื้นที่ใด

ตำรวจผู้ใหญ่ก็จะ ตบตานายกรัฐมนตรี ด้วยการ เล่นละคร สั่งย้ายหัวหน้าสถานีและระดับรองผู้รับผิดชอบไปประจำ ศูนย์ปฏิบัติการ หรือ สุสานตำรวจ ระดับต่างๆ กันช่วงเวลาหนึ่ง

ซึ่งสื่อมวลชนและผู้คนส่วนใหญ่ต่างคิดว่า ตำรวจผู้รับผิดชอบได้ถูกลงโทษทางวินัยตามกฎหมายแล้ว และคงไม่มีใครกล้าเพิกเฉยละเลยต่อหน้าที่อีกต่อไป

แต่ปัญหาแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย ทำลายอนาคตของคนหนุ่มสาวรวมทั้งเยาวชนและสังคม ก็ยังคงเกิดขึ้นมากมายทั่วไทย

จนสุดท้าย นายกรัฐมนตรีต้องหลุดปากพูดออกมาคล้ายกับว่า “หมดปัญญาแก้ไข” ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน!

โชคดีที่เกิดสถานการณ์โควิดระบาดรอบสอง แม้จะต้อง แลกกับความเดือดร้อนของประชาชนคนไทยทั้งชาติอย่างแสนสาหัสก็ตาม!

ทำให้ทุกองค์กรโดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขต้อง สอบสวนหาความจริง เกี่ยวกับสาเหตุการแพร่ระบาด

พบว่าปัญหาสำคัญมาจากบ่อนการพนันและตู้ม้ามากมายในหลายจังหวัด

นำมาซึ่งการสั่งย้ายหัวหน้าตำรวจทั้ง ผบก.และ ผบช. ไปประจำ “สุสานตำรวจ” โดยที่ไม่ต้องมีหลักฐานการจับกุมอะไรเช่นที่ผ่านมา

ซ้ำยังได้มีการตั้งข้อหา ผิดวินัยร้ายแรง อดีต ผบก. สองจังหวัด คือชลบุรีกับระยอง มีโทษ ไล่ออกหรือปลดออก

 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการตำรวจ อีกด้วย!

ซึ่งถ้าผลสุดท้ายได้มีการลงโทษ ไล่ออก หรือ ปลดออก ตำรวจระดับ ผบก.ทุกจังหวัด รวมไปถึงระดับ ผบช.และรองฯ ผู้รับผิดชอบ ที่ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรงในหลายๆ กรณีจริง

ก็จะเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติงานของตำรวจผู้ใหญ่ในทุกกรณีอย่างดียิ่ง

หลายเรื่องหลายสิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นปัญหาและ “หมดปัญหาแก้ไข” ก็แทบจะไม่มีให้เห็นเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป                                  

รวมทั้งในกรณีหลักฐาน “ตั๋วช้าง” ที่คุณรังสิมันต์  โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล นำไปเปิดโปงในสภาว่า การแต่งตั้งตำรวจมี โพย ส่งถึงผู้มีอำนาจยาวเป็นหางว่าว ให้ออกคำสั่งแต่งตั้งตำรวจคนนั้นคนนี้!

การบริหารงานตำรวจไม่ได้มีความยุติธรรมตามหลักเกณฑ์หรือหลักการในระบบคุณธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่ตามที่เขียนไว้ในกระดาษอย่างสวยหรูดูดีแต่อย่างใด?

เป็นที่รู้กันว่า หลักเกณฑ์เหล่านี้มีไว้เพียงเพื่ออ้างและใช้กับ ตำรวจที่ไร้เส้นสาย หรือไม่อยู่ใน เครือข่ายอุปถัมภ์สำคัญ เท่านั้น                   

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับแปลงสาร หรือ ฉบับลักไก่ ที่รัฐบาลได้ เปิดโอกาส ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปร่างขึ้นใหม่ หลังจากที่ ร่างฉบับมีชัยได้ถูกปฏิเสธไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา “ละล้าละลัง”อยู่นานนับปี!    

เนื่องจาก มีตำรวจผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่ง ไม่เห็นด้วย ในแทบทุกประเด็น ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดอำนาจของตนและพวกพ้องรวมทั้งบริวาร!

ทำให้รองนายกรัฐมนตรีต้องมีการเรียกตัวแทนฝ่ายตำรวจมา เจรจาต่อรอง กันหลายรอบ!

ขอให้เห็นแก่ชาติบ้านเมืองและประชาชนบ้าง! คงไว้ ในสาระสำคัญส่วนหนึ่ง ตามร่างฉบับมีชัย

ในอันที่จริง ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่การปฏิรูประบบตำรวจอะไรที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องตำรวจผู้ใหญ่ไม่ทำหน้าที่ รวมทั้งการมีพฤติกรรม ทุจริตฉ้อฉล รับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมายและผู้ใต้บังคับบัญชาสารพัดรูปแบบได้แต่อย่างใด

นอกจากนั้น ในส่วนของ การสอบสวน ตำรวจผู้ใหญ่ก็ยังสามารถสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน ล้มคดี หรือ ยัดข้อหาประชาชน ได้เช่นเดิม!

การปฏิรูปหลายเรื่องที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน หวังให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ก็ได้ถูกฝ่ายตำรวจตัดออกไป และเขียนไว้ในลักษณะที่ จะทำหรือไม่ก็ได้?

เช่น มาตรา 7 ตามร่างฉบับมีชัยเรื่องปัญหา ตำรวจรับใช้ ภายใต้ ข้ออ้างกำมะลอ เพื่อรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ รวมทั้งตำรวจผู้ใหญ่ที่อยู่ในราชการหรือแม้กระทั่งเกษียณอายุแล้ว

รัฐต้องเสียกำลังตำรวจจำนวนมาก รวมหลายร้อยหรืออาจหลายพันคน โดยไม่จำเป็นและ ไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับประชาชนผู้จ่ายเงินภาษีให้รัฐ แต่อย่างใด

นักการเมืองหรือเจ้าพนักงานของรัฐตำแหน่งใดมีความจำเป็นต้องมีตำรวจติดตามเพื่อรักษาความปลอดภัยทั้งขณะอยู่ในตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ไปแล้วนานแค่ไหน กำหนดให้ทำได้เฉพาะที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น

แต่บทบัญญัติสำคัญในเรื่องนี้ได้ถูกตำรวจผู้ใหญ่ตัดออกไป

ส่งผลทำให้พวกนายพลตำรวจทั้งในและนอกราชการจำนวนมากยังมี ตำรวจรับใช้ ประจำตัวและครอบครัวกัน  ตามระเบียบ ถึง สองสามคนไปจนตาย เช่นที่ประชาชนเห็นกันเช่นเดิมต่อไป!

หรือใน มาตรา 6 วรรคสาม เรื่อง การตราพระราชกฤษฎีกาโอน หน่วยตำรวจเฉพาะทาง ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ รวมทั้ง ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดตามกฎหมายนั้นๆ ด้วย ซึ่งปรากฏในกฎหมายตำรวจทุกฉบับมา หลายสิบปี!

 แต่เมื่อไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาอะไรไว้ ก็ไม่เคยมีผลในการปฏิบัติจริงแต่อย่างใด?

รวมทั้งในมาตรา 9 กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้ตำรวจบางหน่วยไม่ต้องมียศแบบทหาร เช่น งานสายการแพทย์  พยาบาล การพิสูจน์หลักฐาน และการสอนในกองบัญชาการศึกษาและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ก็ถูกฝ่ายตำรวจนำไปบัญญัติไว้ในมาตรา 8 ให้เป็นอำนาจของ ก.ตร. เป็นผู้กำหนด

ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ต้องใช้เวลา อีกนานกี่สิบปี?

แทนที่จะสามารถเลิกยศตำรวจและวินัยแบบทหารในงานที่ไม่มีความจำเป็นเช่นในประเทศที่เจริญทั่วโลกได้โดยเร็ว

นอกจากนั้นก็ได้มีการแก้ไของค์ประกอบของ ก.ตร. จากร่างฉบับมีชัยที่ให้ รอง ผบ.ตร.เป็น แค่สี่ตำแหน่ง คือ ฝ่ายปราบปราม สอบสวน และบริหาร รวมทั้งจเรตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งหมด 16 คน

ร่างใหม่ให้กลายเป็นว่า รอง ผบ.ตร.ทุกคน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ห้าหรือกว่าหกคนร่วมเป็นกรรมการด้วย

เมื่อนับรวมกับ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็น อดีต ผบช.ตำรวจ อีก 3 คน ที่เดิมกำหนดให้ ตำรวจชั้นสัญญาบัตรทุกคน มีสิทธิเลือก

ก็กลับถูกตัดสิทธิออกไปอย่างไร้เหตุผล โดยให้ตำรวจระดับ รอง ผกก.ขึ้นไปเท่านั้นเลือกได้

องค์ประกอบของ ก.ตร.ตามร่างใหม่ก็กำหนดให้ ผบ.ตร. เป็นรองประธาน

โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด และปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเพียงกรรมการ!

เมื่อรวมเสียงฝ่ายตำรวจผู้ใหญ่ในการประชุม ก.ตร.ทุกครั้งจะนับได้ ไม่ต่ำกว่าสิบคน ในจำนวนรวม 19 คน!

ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรที่สำคัญซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจไม่ได้บัญญัติไว้ให้ชัดเจน

จึงเป็นเรื่องยากที่ ก.ตร.ฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นเสียงข้างมากจะหยิบยกขึ้นพิจารณา หรือว่าผ่านความเห็นชอบหลักเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ ให้ดำเนินการโดยขัดต่อประโยชน์ส่วนตนได้

เช่น หากในอนาคต นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงด้วยการกระจายอำนาจสู่จังหวัด  เพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ เป็นประธาน ในการจัดทำแผนการรักษาความสงบเรียบร้อยในอำเภอและจังหวัดให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นตามมาตรา 12 วรรคสาม

หรือกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ในฐานะ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ตาม มาตรา 15 วรรคสอง โดยออกเป็นระเบียบ ก.ตร. แทนระเบียบคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติหรือ ก.ตช. ซึ่งถูกยุบเลิกไปตามกฎหมาย

นโยบายหรือระเบียบดีๆ ที่เป็นการปฏิรูประบบตำรวจอย่างแท้จริงเหล่านี้

ก็จะไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของ ก.ตร. ชุดที่มีตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลทั้งในและนอกราชการ เป็นเสียงข้างมากม็ม นี้ได้โดยง่าย!.

องต์ประกอบก.ตร.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:ฉบับวันที่ 1 มี.ค. 2564