กฎหมายปฏิรูปตำรวจ’ฉบับลักไก่’ฉบับตามรัฐธรรมนูญไร้ความหมาย พวกนายพลตร.ไม่ยอมผ่านไม่ได้!

กฎหมายปฏิรูปตำรวจ’ฉบับลักไก่’ฉบับตามรัฐธรรมนูญไร้ความหมาย พวกนายพลตร.ไม่ยอมผ่านไม่ได้!

ยุติธรรมวิวัฒน์

กฎหมายปฏิรูปตำรวจ ‘ฉบับลักไก่’ ฉบับตามรัฐธรรมนูญไร้ความหมาย พวกนายพล ตร.ไม่ยอม ผ่านไม่ได้!

                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

ปัญหาตำรวจที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนและผู้คนที่ไร้อำนาจหรือเส้นสายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอย่าง แสนสาหัส

โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการทุจริตฉ้อฉล รับส่วยสินบนของพวกตำรวจผู้ใหญ่ ที่ส่งผลทำให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดโดย คนต่างด้าวหนีเข้าเมือง บ่อนการพนันและตู้ม้า ทำให้ชีวิตและทางฐานะเศรษฐกิจของคนไทยทั้งประเทศต้องประสบกับความยากลำบากกันเลือดตาแทบกระเด็นเป็นครั้งที่สอง

ปัจจุบัน คนจนแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกันแสนยากเย็น

หลายคนต้องเดินขึ้นโรงพัก “หลายเที่ยว” เทียวไปเทียวมาอย่างน่าเบื่อหน่าย!

บางคนก็ต้องรอให้พ่อแม่พี่น้องต้อง ถูกฆ่าตาย เช่นราย ลูกคลั่งยาบ้าฆ่าแม่ ในพื้นที่ สน.บางเสาธง เมื่อสามสี่วันก่อนนั้น!

ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนในประเทศไทยก็ ตกเป็นผู้ต้องหากันแสนง่าย ไม่ว่าจะด้วยกฎหมายมาตราใด  แม้กระทั่งบุคคลที่เป็น ผู้เสียหาย ที่ไปแจ้งความร้องทุกข์เอง!

มีโอกาสถูกตำรวจ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา  ว่า แจ้งความเท็จ! โดยไม่จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่า ได้กระทำผิดอาญาในวันเวลา สถานที่ใด และมีพฤติการณ์การกระทำอย่างไร?

ให้ทุกคนไปรู้เอาเองพร้อมกับ การแจ้งข้อหาจับพิมพ์ลายนิ้วมือหน้าห้องขัง ในวันไปพบพนักงานสอบสวนตามหมาย!

หากไม่ยอมไป “สองครั้ง” ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด

ตำรวจก็สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างต่อศาลให้ ออกหมายจับ ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่คดีมีพยานหลักฐานซึ่งอัยการจะสามารถสั่งฟ้องได้หรือไม่ก็ตาม?

เหตุผลหนึ่งซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. สั่งกำลังทหารบกเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลขณะนั้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 นอกจากบอกว่า เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การบริหารแผ่นดินที่ชะงักงันได้เดินต่อไปแล้ว

ก็บอกอีกว่า จะดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ที่อาจถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้

เริ่มตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีการจัดตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ขึ้นดำเนินการ

สุดท้าย ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีรนันทน์ ในฐานะ ประธาน สปช. ได้จัดทำรายงานการปฏิรูปตำรวจเมื่อประมาณ ต้นเดือนตุลาคม 2558  เสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ

มีสาระสำคัญให้โอนตำรวจเฉพาะทาง 12 หน่วย  ได้แก่ ตำรวจทางหลวง ตำรวจจราจร ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจรถไฟ ฯลฯ ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ

ปรับตำรวจบางส่วนให้เป็นระบบพลเรือน “ไม่มียศแบบทหาร” กระจายไปทำหน้าที่ในทุกหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าหน่วยนั้นตามหลักสากลเช่นเดียวกันกับประเทศที่เจริญทั่วโลก

ประหยัดงบประมาณในการบริหารและการอบรม  ไม่ต้องไป “ฝึกกระโดดร่ม” อะไรโดยไม่จำเป็นและเสียเวลา รวมทั้ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า!

นายกรัฐมนตรีก็ได้รีบนำรายงานนั้นเข้า ครม.พิจารณา ให้ความเห็นชอบแทบจะในวันรุ่งขึ้นทันที

และต่อมาเลขาธิการ ครม.ก็ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ส่งให้ ผบ.ตร.รวมทั้งกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ กำชับไว้ ให้รายงานผลความคืบหน้าโดยเร็ว

แต่จนกระทั่งบัดนี้ เวลาผ่านมากว่าห้าปี ก็ยังไม่มีใครได้ยินความเคลื่อนไหวของตำรวจแห่งชาติในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นกันแต่อย่างใด?

ครั้นถึงเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยประกาศใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2560 หลังจากที่ร่างฉบับ ดร.บวรศักดิ์ ซึ่งกำหนดให้ ปฏิรูปงานสอบสวนเป็นอิสระ ได้ถูกล้มไป!

ผู้คนที่สนใจเรื่องการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมหลายคนมีความหวังว่า น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรครั้งใหญ่ บ้าง

เพราะนอกจากมาตรา 258 ง. ที่บัญญัติไว้ให้มีการปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย ให้ คำนึงถึงอาวุโส แล้ว

มาตรา 260  ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่ง ต้องไม่มีตำรวจเป็นประธาน ประกอบด้วยอัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ฯลฯ ร่วมกันพิจารณาเสนอแนวทางปฏิรูปให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ

กฎหมายปฏิรูปต้องออกให้ได้ภายในหนึ่งปีหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ปรากฏอยู่ในวรรคท้าย

หากยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปตาม หลักอาวุโส ทั้งหมด

การห้ามไม่ให้ตำรวจเป็นประธาน หรือมีสัดส่วนจำนวนมากในคณะกรรมการดังกล่าว ก็เพื่อป้องกันปัญหา ประโยชน์ทับซ้อน ตามหลักที่ว่า ไม่มีมนุษย์คนใดคิดเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรที่จะทำให้ตนเองและพวกพ้องต้องเสียอำนาจหรือประโยชน์ที่เคยได้ เป็นธรรมชาติ

สุดท้ายได้มีการแต่งตั้ง พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้

ได้มีการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายเสนอให้นายกรัฐมนตรีทันภายในเวลาหนึ่งปี

แต่ไม่ทราบว่า นายกฯ ไม่พอใจต่อร่างดังกล่าวหรืออย่างไร จึงได้ตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งซึ่งมี นายมีชัย  ฤชุพันธุ์ เป็นประธานขึ้นดำเนินการใหม่

ซึ่งหมายความว่า กฎหมายปฏิรูปตำรวจไม่แล้วเสร็จในหนึ่งปีตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 260 บัญญัติไว้

ฉะนั้น การแต่งตั้งตำรวจก็ต้องดำเนินการตาม หลักอาวุโสทั้งหมด ตามที่กำหนดไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 260 ดังกล่าว

แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้ถือปฏิบัติตามนั้น

โดยได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 “โมเม” ตั้งชื่อเรื่องว่า หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส

แต่แท้จริง เนื้อในเป็นเพียงการแบ่งให้ในสัดส่วน 33 เปอร์เซ็นต์เช่นเดิม!

ไม่ใช่การให้ยึด “หลักอาวุโส” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด? ออกคำสั่งแต่งตั้งตำรวจประจำปีหลายระดับไปมากมาย

ก่อให้เกิดข้อกังขาว่า น่าจะขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ

แต่เนื่องจากในขณะนั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่มีอำนาจรัฐประหารอยู่ในมือ คือ หัวหน้า คสช. ระหว่างรอจัดตั้งรัฐบาลปัญหานี้ก็เลยแก้ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้อำนาจมาตรา 44 ของ รธน.ฉบับชั่วคราว ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265  บัญญัติไว้

ได้มีการออกคำสั่งที่ คสช.ที่ 26 พ.ย.61  รับรองว่า  ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีปัญหาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็น ประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ทุกประการ!

คำสั่งดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า “ให้การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมาย กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2561 และ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 กฎระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วาระการแต่งตั้งประจำปี พ.ศ.2559 จนถึงวันที่กฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจตามแนวทางการปฏิรูปตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลใช้บังคับ  เป็นการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ และให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด”

การออกคำสั่ง คสช.ที่เป็นการ ยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่นนี้ กระทำได้หรือไม่? ไม่มีประชาชนผู้ใดสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพราะถ้าไม่ได้เป็นตำรวจผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียหาย ก็ไม่สามารถยื่นคำร้องได้

พ.ร.บ.ตำรวจฉบับมีชัย ที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นการปฏิรูปให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอะไร ถือว่าได้ เพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ยังดี

นายมีชัยเสนอไปให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ แต่กลับไม่ได้นำมาผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

มีการส่งกลับไป ให้ตำรวจแห่งชาติพิจารณาซ้ำซาก! ตำรวจผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยใน แทบทุกประเด็น ที่เป็นแม้การปฏิรูปเพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น

เป็นเหตุให้มีการจัดทำร่างขึ้นใหม่กันทั้งฉบับ

มาตราใดที่จะทำให้ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลเสียผลประโยชน์หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบตำรวจโดยเฉพาะการเลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายที่มีนัยสำคัญได้ถูกตัดออกหมด เช่น การ Set Zero ตำรวจ ติดตามรับใช้ บุคคลสำคัญรวมทั้ง ตำรวจผู้ใหญ่ที่ได้เกษียณจากราชการกลับไปนอนเล่นเลี้ยงลูกหลานกันที่บ้านแล้ว!

กำหนดใหม่ถ้าตำแหน่งใดมีความจำเป็น ให้กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นอำนาจของ ผบ.ตร.เช่นปัจจุบัน

หลักเกณฑ์แต่งตั้งก็ไม่ได้ยึดหลักอาวุโส “แบ่งให้ 33 เปอร์ เซ็นต์” เช่นเดิม และไม่ได้มีคะแนนประเมินผลจากภาคประชาชนตามที่ปรากฏในร่างที่ชอบด้วยกฎหมาย และอีกหลายเรื่องซึ่งถูกทำให้ “หายไป”!

โดยส่งร่าง ฉบับลักไก่ ให้นายกฯ นำเข้า ครม.เห็นชอบ และกำลังจะเสนอต่อทั้งสองสภา เพื่อให้รีบตราเป็นกฎหมายโดยเร็ว

เพื่อเป็นการ “ฆ่าตัดตอน” ร่างฉบับมีชัย  ไม่ให้มีโอกาสเข้าสู่สภาในอนาคตอีกต่อไป!

ขอฝาก ท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ช่วยพิจารณาว่า

สมควรหรือไม่ที่จะปล่อยให้ร่างกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้ ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จะถึง.

กฎหมายปฏิรูปตำรวจ
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 25 ม.ค. 2564