‘จาตุรนต์’จวกตร.ยัดข้อหามั่ว จ่อร้องอสส.ถอนฟ้องหลังศาลยกฟ้องคดียุยงปลุกปั่น

‘จาตุรนต์’จวกตร.ยัดข้อหามั่ว จ่อร้องอสส.ถอนฟ้องหลังศาลยกฟ้องคดียุยงปลุกปั่น

 

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  วันที่ 22 ธันวาคม 2563 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังศาลพิพากษายกฟ้องคดียุยงปลุกปั่น ตาม ป.อาญา มาตรา 116 ว่า วันนี้ศาลพิจารณาตัดสินยกฟ้อง ด้วยเหตุผลสำคัญคือว่าการแสดงความเห็นของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งรับรองโดยกฎหมายทั้งของประเทศไทย และอนุสัญญาระหว่างประเทศ เป็นการแสดงออกโดยสุจริตไม่ได้เป็นการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการกระด้างกระเดื่อง การใช้กำลังประทุษร้าย หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นอกจากนั้น ยังได้เรียกร้องให้ประชาชนใช้ความอดทนเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไปโดยสันติวิธี และในคำแถลงนั้นยังได้แถลงเรียกร้องให้ คสช.ไม่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เพราะฉะนั้นความเห็นเหล่านี้จึงไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิด ในมาตรา 116  ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ว่าการที่ตนโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว รวมทั้งข้อความบนเฟซบุ๊กดังกล่าวนั้นได้โพสต์ขึ้นในระหว่างที่ตนถูกควบคุมตัวไปอยู่ในคุกแล้ว ไม่มีเครื่องมือสื่อสารใดๆ

 

นายจาตุรนต์  กล่าวว่า ที่น่าสนใจในการดำเนินคดีนี้ โดยเฉพาะขั้นตอนของตำรวจในชั้นสอบสวน พบว่ามีการจับกุมและตั้งข้อหาก่อนที่จะสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งที่การรวบรวมพยานหลักฐานนั้น เป็นการทำเพื่อสนับสนุนการตั้งข้อหาของพนักงานสอบสวน การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีนี้เป็นไปในลักษณะที่บิดเบือนการใช้กฎหมาย เป็นการทำเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่าง ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่อง ที่ตนได้มีความเห็นตลอดมา

 

“ระหว่างที่ถูกดำเนินคดีเป็นเวลา 6 ปี ตนเห็นว่ามีเรื่องที่ควรจะจัดการต่อ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดี ในลักษณะการกลั่นแกล้งคนคิดเห็นต่างจากรัฐ ตนเห็นว่าคดีนี้มีความไม่ชอบมาพากลมากมายหลายอย่าง ก็คือมีการตั้งใจตั้งข้อหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อให้นำตัวตนไปส่งศาลทหาร ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี โดยพยานฝ่ายโจทก์เอง ให้การต่อตำรวจและชั้นสืบพยานศาลไม่เห็นว่าคำพูด คำแถลงของตนเป็นการผิดกฎหมายตามมาตรา 116 แต่อย่างใด พยานที่มาให้การเรื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเฟซบุ๊กนั้นเป็นของใคร การดำเนินคดีใช้เวลา 6 ปีกว่า อยู่ที่ทหาร 5 ปีกว่า สอบพยานไปได้เพียง 2 ปากเท่านั้น มีการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกให้ตนต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพหลายอย่าง”

 

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาอยู่ที่ศาลอาญาใช้เวลาทั้งหมดไม่ถึง 6 เดือน ก็สามารถสืบพยานทั้งหมดและตัดสินได้ในวันนี้ การดำเนินการในลักษณะนี้ เป็นการดำเนินคดีตามขั้นตอนจากการโอนคดีจากศาลทหารมาศาลอาญา แต่ก็ยังมีปัญหาว่าอัยการไม่ได้ใช้ดุลพินิจตรวจสอบสำนวน ว่ามีหลักฐานพยานเพียงพอจะฟ้องหรือไม่ อัยการสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดก็ดำเนินคดีต่อ เหมือนกับว่าเห็นด้วยทุกประการทั้งๆ ที่ไม่มีพยานหลักฐาน การที่อัยการดำเนินการเช่นนี้ตนเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน

 

ดังนั้นสิ่งที่ตนจะดำเนินการต่อไป มี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.เมื่อได้บันทึกคำให้การในรายละเอียดแล้ว ตนและคณะทนายความ จะร่วมกันดำเนินการนำข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในการดำเนินคดี สืบพยานและคำพิพากษาของศาล ไปร้องต่ออัยการสูงสุด ให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้องคดีนี้ ความจริงขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ฝ่ายโจทก์จะอุทธรณ์หรือไม่ หมายถึงอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ ตนไม่ต้องการก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการ แต่อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะพิจารณาถอนฟ้องคดีนี้ได้ และข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ปรากฏในการสืบพยาน รวมทั้งในคำพิพากษาของศาลมีเหตุผลที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาใช้ดุลยพินิจโดยใช้หลักนิติธรรมถอนฟ้องคดีนี้ออกไป ซึ่งถ้าถอนแล้วก็จะไม่มีการอุทธรณ์อีกต่อไป

 

2.ตนกับคณะทนายจะขอเสนอต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินคดี การฟ้องคดีที่โอนจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรมใหม่ คือไม่ใช่รับคดีมาแล้ว ไม่พิจารณาหลักฐานเพิ่มเติมอะไรเลย ทั้งๆ ที่ในศาลทหารไม่มีพยานหลักฐานอะไรเลย จนถึงขนาดที่ว่าคดีนี้ไม่ควรมาถึงชั้นศาลตั้งแต่ต้น อัยการก็ควรจะต้องพิจารณาสั่งไม่ฟ้องได้ และนี่เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ควรจะพิจารณาหลักเกณฑ์นี้เสียใหม่ ว่าเมื่อโอนคดีมาจากศาลแล้ว อัยการจะต้องใช้ดุลพินิจตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินคดี ในเรื่องคดีความมั่นคง จากคดีนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการใช้อำนาจ บังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่บิดเบือนไม่ใกล้ชิดต่อข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่าง

 

“ในความเห็นของผมการกระทำอย่างนี้เป็นการใช้กฎหมายพร่ำเพื่อ และประเทศไทยก็ยังไม่มีวิธีการที่จะป้องกันการกระทำอย่างนี้ ทำให้มีการใช้กฎหมายตามใจชอบเพื่อปิดปากผู้ที่เห็นต่าง สร้างความเดือดร้อน เป็นภาระต่อนักศึกษาและประชาชนหลายร้อยคนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์การดำเนินคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงเสียใหม่ ตนจะร่วมกับทนาย เสนอเรื่องไปยังองค์กรของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแก้ไขกฎหมายและขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ต่อเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ให้หาทางระงับยับยั้งการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากคนเห็นต่าง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ในทุกวันนี้”

 

“สุดท้ายคำพิพากษาในวันนี้ ทำให้ผมได้รับความยุติธรรมขึ้นมาขั้นหนึ่ง แต่มันได้กำลังบอกว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากไม่ได้รับความยุติธรรมจากการกระทำของรัฐ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ผมมีความรู้สึกว่า อยากจะใช้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อเรียกร้องหาความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา” นายจาตุรนต์ กล่าว

 

เมื่อถามว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เริ่มคดีนี้ตั้งแต่ต้นด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน และจะนำเอาคำพิพากษาวันนี้ หรือจะถ้าจะมีคำพิพากษาอื่นๆ อีก สุดท้ายก็จะนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด แต่เท่าที่ดูก็เห็นปัญหาชัดเจนว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการทำไปโดยไม่ชอบ ตามหลักนิติธรรม และกระบวนการ วิธีพิจารณาความอาญาอย่างชัดเจน