พงส.ฝ่ายปกครองหนุนยกเลิกตร.ทำความเห็นแย้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง

พงส.ฝ่ายปกครองหนุนยกเลิกตร.ทำความเห็นแย้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง

 

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2563 ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ประกาศหนุนกรมการปกครองแก้ไข ป.วิ.อาญา ยกเลิก มาตรา 145/1 ยก9เหตุผล‼ควรยกเลิกอำนาจการทำความเห็นแย้ง กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ฯลฯ ของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค กลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตามเดิม เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถดำรงความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ ดังต่อไปนี้

  1. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 เป็นการออกกฎหมายที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร หรือการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน
  2. ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ลดจำนวนองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมให้น้อยลง โดยขาดองค์กรที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่กลั่นกรองการสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน
  3. ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ทำให้ฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นผู้ทำสำนวนการสอบสวนและความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการ แต่ในชั้นของการทำความเห็นแย้งกลับเป็นหน้าที่ของฝ่ายตำรวจเช่นเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นกลางและขัดกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งควรกระทำโดยหน่วยงานกลางที่ไม่มีส่วนได้เสีย ทางคดีและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียในทางคดีอาญา
  4. ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ขัดแย้งต่อหลักการควบคุมตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม เพราะปกติพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานและเสนอความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการ แต่การที่กำหนดให้ฝ่ายตำรวจทำหน้าที่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ฯลฯ ของพนักงานอัยการ ด้วย จึงขัดแย้งต่อหลักการดังกล่าว
  5. ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ก่อให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาทำความเห็นแย้ง เนื่องจากสำนักงานตำรวจภูธรภาคมีเพียง 9 ภาค และบางพื้นที่อยู่ห่างไกลจากสำนักงานอัยการจังหวัดมาก จึงเกิดความสิ้นเปลืองและความล่าช้าในการเดินทาง ส่งผลต่อการพิจารณาสำนวนคดีที่ไม่สะดวก หากเปรียบเทียบกับศาลากลางจังหวัดซึ่งมีทั้ง 76 จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมทำการพิจารณาคดีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด
  6. การทำความเห็นแย้งของผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น การยกเลิก ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 จึงเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการภารกิจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนโดยตรง
  7. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ เพื่อช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ในทุกจังหวัดและทุกอำเภอ ทั่วประเทศไทย ดังนั้น การยกเลิก ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ให้อำนาจการทำความเห็นแย้งกลับมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 145 (เดิม) ประชาชนจึงมีช่องทางในการร้องขอความเป็นธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายให้เกิดความเดือดร้อนแต่อย่างใด
  8. ประชาชนมีความใกล้ชิดกับฝ่ายปกครอง (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ฯลฯ) และมีความเชื่อมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอย่างมาก
  9. การยกเลิก ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ย่อมสอดคล้องกับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย ซึ่งกำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคนกลางและไม่มีส่วนได้เสียทางคดี ย่อมปราศจากการแทรกแซงหรือการครอบงำ ที่จะสามารถดำรงความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (โดยเสนอขอยกเลิก มาตรา 145/1) ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง http://dopacrr.dopa.go.th/draft_law/app/people