หนทางความสงบเร่งร่าง รธน.ใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

หนทางความสงบเร่งร่าง รธน.ใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ยุติธรรมวิวัฒน์

หนทางความสงบ เร่งร่าง รธน.ใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย  และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

                                                                พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร 

 

การแต่งตั้งตำรวจระดับ รอง ผบก.และ ผกก. ซึ่งได้มีการ หมกเม็ด แก้ไขกฎหมายใน ยุคเผด็จการ คสช. จากเดิมที่เป็นอำนาจของ ผบช. ให้กลายเป็น รวมอำนาจอยู่ที่ ผบ.ตร. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จะได้พูดย้ำหลายครั้งเรื่อง ห้ามซื้อขายตำแหน่งอย่างเด็ดขาด

ซึ่งข้อเท็จจริงของการแต่งตั้งในครั้งหรือวาระนี้ แม้ปัญหา อาชญากรรมการค้าตำแหน่ง จะลดน้อยลง!

แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในการแต่งตั้งระดับต่างๆ แต่อย่างใด?

เพราะตราบใดที่การเลื่อนตำแหน่งตำรวจในกลุ่มที่อ้างว่า มีความรู้ความสามารถ 67 เปอร์เซ็นต์ ยัง ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่

ทุกคนที่มีสิทธิ ต่างก็พยายามไขว่คว้าด้วยการวิ่งเต้นหา เส้นสาย หรือใช้ ตังค์ รวมทั้ง ประโยชน์ตอบแทน  ไม่ว่าแบบหนึ่งแบบใดเพื่อให้ได้ ตั๋ว มา หรือว่า เพื่อรักษาตำแหน่งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง!           

งานตำรวจหรือการตรวจตรารักษากฎหมายนั้น อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีความรู้ด้านศาสตร์หรือวิชาการที่ลึกซึ้งอะไรมากมาย

แต่หัวใจสำคัญคือการ รู้จักภูมิประเทศสังคมและมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนรวมทั้งสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดหนึ่งมาตลอดชีวิต แต่ถูกแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งไปอยู่อีกจังหวัดหนึ่งซึ่งตนไม่รู้จักประชาชนและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่แม้แต่คนเดียว

แต่ ผบก.และ ผบช.ผู้เสนอแต่งตั้งอ้างว่าเป็นผู้มีความสามารถในการรักษากฎหมายได้ดีกว่า แม้กระทั่งคนที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ซึ่งอยู่ในจังหวัดนั้นมานานและอาวุโสกว่า

จึงไม่มีใครเชื่อว่าไม่ได้มาจากการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย หรือ ใช้เงิน แลกเปลี่ยนมาแต่อย่างใด

คำถามต่อตำรวจพวกนี้จึงมีแต่ว่า จ่ายไปกี่กิโล เท่านั้น!

ทางแก้ปัญหา การค้าตำแหน่ง รวมทั้ง ความไม่เป็นธรรม ในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่ง ปัจุจบันแทบไม่เคยได้ยินใครพูดถึง จึงไม่ใช่เรื่องใครจะออกมาบอกว่า ต้องไม่มีการซื้อขายอีกต่อไป

หากแต่ต้องเริ่มจาก ผู้นำ โดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. ต้องมี ความจริงใจ ในการ กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม กับตำรวจส่วนใหญ่

ไม่ว่าตำรวจคนนั้นจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย รร.นรต. หรือกลุ่มที่เรียกกัน “ชั้นประทวน” ผู้สอบเลื่อนชั้นในสายงานต่างๆ มาก็ตาม

คำสั่งเลื่อนตำแหน่งและโยกย้าย ทุกรายชื่อ ต้องสามารถ ตรวจสอบและอธิบาย ได้ว่า คนที่ทำงานในจังหวัดหรือหน่วยงานนั้นมานานและมีอาวุโสสูงกว่า ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือแม้กระทั่ง ถูกย้ายไปจากตำแหน่งเดิม เพราะเหตุใด?

ถ้าบอกว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายหรืออธิบายไม่ได้ นั่นหมายความว่า การแต่งตั้งมีเบื้องหลังมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนึ่งอย่างใดแน่นอน!

เมื่อหลายวันก่อน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดเรื่องการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวว่า คณะราษฎร 63 ว่า

ต่อไปจะมีการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับและทุกมาตราอย่างเคร่งครัด!

ผู้คนในโลกประชาธิปไตยได้ฟังแล้วต่างงุนงงไปตามๆ กันว่า การรักษากฎหมายมีแบบ เคร่งครัด และ ไม่เคร่งครัด ด้วยหรือ?

ในสังคมที่เจริญทั่วโลก งานรักษากฎหมายไม่มีคำพูดเช่นนี้แต่อย่างใด?

เพราะนั่นหมายความว่า รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจในการกำหนดนโยบายเหนือกฎหมาย โดยสามารถสั่งให้ตำรวจ ไม่ดำเนินคดี หรือให้ ดำเนินคดี กับใครตามกฎหมายฉบับหรือมาตราใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นหรือไม่ก็ได้!

ปัญหาสำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ นอกจากเรื่องที่ กฎหมายหลายฉบับ ได้ถูกจัดทำขึ้นในยุคเผด็จการโดยผ่าน สนช.ลากตั้ง

หรือแม้กระทั่ง รัฐธรรมนูญ ที่ คนกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันร่างขึ้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจ 

ส่งผลทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง โดยอ้างกันแต่ว่า ได้ ผ่านการทำประชามติ แล้วเท่านั้น

ซึ่งผู้คนต่างก็รู้กันว่าเป็น ประชามติแบบมัดมือชก  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้ลงมติ รับๆ ไป โดยไม่ได้มีความเข้าใจต่อเนื้อหาในแต่ละบทมาตราอย่างถ่องแท้แต่อย่างใด

พวกเขาเพียงหวังให้บ้านเมืองกลับมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเพราะไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่านี้ต่างหาก?

นอกจากนั้น เมื่อมาถึงขั้นการบังคับใช้ ผู้มีอำนาจก็ยังสามารถกระทำได้ตามใจ จะใช้หรือไม่ใช้รัฐธรรมนูญมาตราใดก็ได้!

เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 260  กำหนดให้มีการ จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งปี

และถ้ารัฐบาลไม่ทำหรือไม่มีปัญญาออกกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จ การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งตำรวจ ให้ใช้หลักอาวุโสทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 33 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏถ้อยคำอยู่ใน วรรคท้าย

แต่ก็ไม่เห็นนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอะไรกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้แต่อย่างใด?

ซ้ำยังไปนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับแปลงสาร ที่คณะกรรมการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้จัดทำ มาดำเนินการแทน!

นอกจากนั้น งานรักษากฎหมายของตำรวจไทยก็มีปัญหาประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาอย่างร้ายแรง

ระบบงานที่เป็นอยู่ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ  สามารถถูก พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ สั่งแม้กระทั่งด้วยวาจา ให้ ออกหมายเรียกคนนั้นคนนี้เป็นผู้ต้องหา

หรือว่าสั่งให้ไปเสนอศาลออก หมายจับ บุคคลมาดำเนินคดี ไม่ว่าจะมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่ อัยการจะสั่งฟ้องให้ศาลพิพากษาลงโทษ ได้หรือไม่ก็ตาม?

การออกหมายอาญาเหล่านี้ ตำรวจไทย กระทำกันแสนง่าย โดย ไม่มีมาตรฐานสากลแต่อย่างใด!

ตัวบทกฎหมาย หลายเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ รวมทั้ง การบังคับใช้ ก็ไม่มีมาตรฐาน จึงทำให้การรักษากฎหมายของตำรวจไทยไม่เป็นที่เชื่อถือของประชาชนตลอดมา

ต่อปัญหาการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในสถานที่ต่างๆ เป็นรายวันที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรกระทำขณะนี้ก็คือ เร่งรัดการจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อทำให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

รวมทั้งตรวจสอบควบคุมให้ ผบ.ตร.ดำเนินคดีกับบุคคลที่ มีพยานหลักฐานชัดเจน ว่ากระทำผิดกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นฉบับหรือมาตราใด ทุกฝ่ายและทุกคน

การกระทำใดที่แม้จะไม่เหมาะสมและอาจสร้างความไม่พอใจให้กับหลายคน แต่เมื่อไม่ได้เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายมาตราใดที่ชัดเจน ก็ต้องเว้นไว้ ไม่กล่าวหาใครมั่วๆ เช่นที่ บางคนพยายามทำ หรือ ปลุกปั่นยุยง กันเช่นทุกวันนี้

ไม่ใช่เมื่อเกิดปัญหามีการกระทำความผิดอาญาไม่ว่าบทหรือมาตราใดในระหว่างการชุมนุมแต่ละครั้ง

แม้กระทั่งเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามายั่วยุหรือทำร้ายก่อน โดยที่ ตำรวจก็ไม่ได้ป้องกันหรือจัดการตามกฎหมายให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมอย่างสงบได้

พออีกฝ่ายมีการ ตอบโต้ป้องกันตัว หรือแม้กระทั่งบางคน ตามน้ำ ไปบ้าง

ก็นำไปอ้างหรือโฆษณาว่าเป็นการชุมนุมที่ ไม่สงบ   เพื่อทำให้ความชอบธรรมในการชุมนุมตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายไป

หรือแม้กระทั่งผู้ชุมนุมบางคนอาจโดนข้อหาตาม มาตรา 116 ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความสงบขึ้นในราชอาณาจักร!

ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นอย่างแน่แท้หรือไม่?

การ “ยัดข้อหา” ให้ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวแต่ละคนอย่างเหวี่ยงแห โดยปราศจากพยานหลักฐานชัดเจนที่อัยการจะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้อย่างแน่แท้

มีแต่จะสร้าง ความคับแค้นใจ ให้เพิ่มขึ้น และ สังคมจะหาบทสรุปรวมทั้ง จุดจบอย่างสงบ ได้ยากยิ่ง!. 

หนทางความสงบ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 2563