มิติใหม่อัยการแผ่นดิน!’วงศ์สกุล’ระดมความเห็นปรับโครงสร้างมุ่งสู่มาตรฐานสากล

มิติใหม่อัยการแผ่นดิน!’วงศ์สกุล’ระดมความเห็นปรับโครงสร้างมุ่งสู่มาตรฐานสากล

 

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2563 ที่อิมแพ็คฟอรั่ม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี  สำนักงานอัยการสูงสุด จัด การสัมมนาเชิงวิชาการ “มิติใหม่อัยการแผ่นดิน” โดยมีผู้บริหารและพนักงานอัยการทั่วประเทศ 1,529 คน พร้อมข้าราชการฝ่ายธุรการกว่า 500 คน คนเข้าร่วม

โดย นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์  อัยการสูงสุด กล่าวปาฐกถา เรื่อง “Vision to Mission วิสัยทัศน์สู่มิติใหม่อัยการ” ว่า ปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีความอิสระนั้น ตลอด 127 ปีที่ผ่านมา เราผ่านความเปลี่ยนแปลงกันมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายกระทรวงต้นสังกัดจากกระทรวงยุติธรรมไปกระทรวงมหาดไทย และไปเป็นส่วนราชการอิสระ จนกระทั่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับอัยการ จากพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ เป็นพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ขึ้นเป็นเวลาครบ 10 ปีพอดีซึ่ง การขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้านั้นไม่อาจสำเร็จลงได้ หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุดทุกคน

 

นายวงศ์สกุล กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุด เมื่อตนตั้งใจพยายามทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นบ้านที่น่าอยู่ของเราทุกคน ก็ลงมือทำอย่างเต็มที่ จนหลายสิ่งหลายอย่างเริ่มสำเร็จเป็นรูปธรรม เชื่อว่าทุกคนคงเห็นความเปลี่ยนแปลงของสำนักงานอัยการสูงสุดที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ของทุกท่านในทางที่ดีขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแยกและยกระดับงานสนับสนุนพนักงานอัยการออกมาเป็นสำนักงานเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด การตั้งหน่วยงานใหม่ การประกาศใช้ระเบียบการดำเนินคดีต่างๆ รวมทั้งระเบียบการฝึกอบรม

 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ที่แต่ละคนมีความรับผิดชอบอยู่ทั้งสิ้น ทั้งทางด้านโลจิสติกส์ ให้พวกเรามีสถานะความเป็นอยู่ทัดเทียมกับองค์กรอื่น มีความทันสมัยตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัลได้ทันท่วงที และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอดด้านองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังจะเห็นได้จากบรรดาหน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ทั้งสถาบันนิติวัชร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สถาบันฝึกอบรมการว่าความชั้นสูง สถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นสูง ล้วนแต่เป็นหน่วยงานด้านวิชาการที่จะเป็นคลังสมองของพวกเรา มีหน้าที่สร้างสรรค์และรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานอัยการให้ดียิ่งขึ้น

 

เหล่านี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น ที่บอกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งนั้น เพราะนอกจากการทำให้ทุกคนรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือก้าวใหม่ของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว การรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะโดยมีปฏิสัมพันธ์ตรงจากทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน พนักงานอัยการ หรือธุรการก็ตาม รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการปฏิบัติงาน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรตามนโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงต้องมีการเชิญอัยการและธุรการจากทั่วประเทศ ทุกสำนักงานมารวมกันในวันนี้ แม้บางท่านอาจมองว่าการสัมมนาในครั้งนี้ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่หากคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายบุคคลแล้ว     จะเป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิด และผมสัญญาว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการการสัมมนานั้นจะมีความคุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรอันจะส่งผลถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

 

ในการรับฟังความคิดเห็นจากการประชุมสัมมนาครั้งนี้ แม้ตนจะยึดมั่นในระบบอาวุโส ซึ่งเป็นรากฐานในการปฏิบัติงานของพวกเรามาโดยตลอด แต่ตนก็มีความเชื่อมั่นในแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างเต็มที่ เพราะความจริงแล้วผมมองไปไกลกว่านั้น คือมุ่งหวังให้สำนักงานอัยการสูงสุดของเราเป็นหน่วยงานนำ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยทั้งระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

 

นอกจากนี้ หลายสิ่งหลายอย่างที่หวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือแม้กระทั่งการสัมมนาในครั้งนี้เองที่มีการใช้ระบบการลงทะเบียนรวมไปถึงการเบิกจ่ายที่ไม่ใช้การลงลายมือชื่อ หรือส่งเอกสารเป็นกระดาษจำนวนมากแบบเดิมๆ เป็นต้น เหล่านี้คือสิ่งที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เริ่มลงมือปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เราสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมในการทำหน้าที่ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังดำเนินการพัฒนาระบบเทคโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงานอัยการ โดยเปลี่ยนสารบบคดี ระบบงาน สคช.และระบบข้อมูลบริหารงานบุคคล ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

 

เมื่อพูดถึงเรื่องของหน้าที่แล้ว หน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมก็ดี การรักษาผลประโยชน์ของรัฐก็ดี รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่เป็นภารกิจของพวกเรานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งพวกเราเองก็มีความภาคภูมิใจมาตลอดว่า  สำนักงานอัยการสูงสุดถือเป็นหน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน

 

อย่างไรก็ดี ในการที่จะพัฒนาต่อไปนั้น หากมองในมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียวคงไม่รอบด้านและไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแท้จริง ยิ่งในบริบทของสังคมปัจจุบันที่เราเองก็ไม่ใช่หน่วยงานเดียวในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนดังกล่าว แม้แต่หน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมด้านการฟ้องคดี อันเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ประชาชนทั่วไปจะนึกถึงนั้น ก็ไม่ได้ถูกผูกขาดไว้กับสำนักงานอัยการสูงสุดแต่เพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป ซึ่งหากมองในมุมหนึ่งก็อาจถือได้ว่าเป็นผลดีแก่ประชาชน ที่จะมีช่องทางหรือมีทางเลือกในการที่จะได้รับความยุติธรรมที่หลากหลาย และมีการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐอย่างเต็มที่

 

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การที่เราไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่มีหน้าที่ดังกล่าวทำให้เราต้องมาพิจารณาอย่างจริงจังและช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้บ้านของเรา คือสำนักงานอัยการสูงสุดนี้ เป็นหน่วยงานที่ดี ที่พึ่งได้และเป็นหน่วยงานหลักในบรรดาหน่วยงานทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ว่าใครก็นึกถึงและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในมุมนี้สำนักงานอัยการสูงสุดเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุดด้วย

 

ในปัจจุบันนี้สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังดำเนินแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยมีการเทียบตำแหน่งเลขาธิการ รองเลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 อันจะมีผลทำให้เป็นการเทียบตำแหน่งพนักงานอัยการโดยปริยาย

 

“ผมอยากให้มองอนาคตสำนักงานอัยการสูงสุดของเราควรจะพัฒนา และก้าวเดินไปในทางใด ขอให้อย่าลืมวัฒนธรรมสำคัญขององค์กรเรา คือ “ความสามัคคีและความเป็นพี่น้อง” สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้องค์กรของเราผ่านปัญหา อุปสรรคต่างๆ ไปได้ และร่วมกันกับผมและคณะผู้บริหารชุดปัจจุบัน เป็นพลังในการขับเคลื่อนสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป เพื่อไปสู่ “มิติใหม่ อัยการแผ่นดิน” นายวงศ์สกุล กล่าว

มิติใหม่อัยการแผ่นดิน

ต่อมา นายวงศ์สกุล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในส่วนราชการของอัยการสูงสุด ได้มีการปรับเปลี่ยนตามสังคมที่เปลี่ยนแปลง ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงคนในองค์กร อัยการเองที่จะมีส่วนเข้ามาคิดและปฏิบัติหน้าที่ การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นความจำเป็นที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและทัศนคติ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของสังคม ในช่วงปีที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุด มีการปรับปรุงระเบียบโครงสร้างจำนวนมาก ซึ่งทำให้ตอบสนองในการบริการประชาชน ซึ่งการจะปรับเปลี่ยน เราจำเป็นจะต้องระดมความคิด จากพนักงานอัยการและประชาชน สื่อมวลชน และผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ในการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ได้ประโยชน์มากที่สุด นับตั้งแต่การใช้กฎหมายอัยการในปี 2553 ซึ่งครบ 10 ปี ตัวระเบียบและข้อกฎหมายอาจจะมีการขัดข้อง เราจึงต้องเชิญบุคลากรมาเพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อที่จะได้ปรับปรุงต่อไป

 

ในการสัมมนาวันนี้ มีพนักงานอัยการและบุคลากร 60-70 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศมาร่วมให้ความคิดเห็น ซึ่งข้อคิดเห็นที่ได้ในการจัดสัมมนา จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในอนาคตได้ เรามีบุคลากรใหม่ในช่วง 1-2 ปี เพิ่มขึ้นนับพันคน ถือเป็นสายเลือดใหม่ของอัยการ ก็จะนำสู่การเปลี่ยนแปลง โดยกฎหมายของอัยการที่เราต้องแก้อันดับแรก จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับตัวองค์กร อย่างที่เราได้มีการปรับโครงสร้างทางธุรการ จากสำนักงานนโยบายแผนและยุทธศาสตร์มาสู่สำนักงานเลขาธิการอัยการสูงสุด

 

เมื่อถามเกี่ยวกับการใช้งบประมาณจัดงานครั้งนี้ตามที่มีสื่อมวลชนบางสำนักเผยแพร่ ซึ่งอาจถูกมองว่าใช้งบประมาณสูง นายวงศ์สกุล กล่าวว่า งบประมาณเราใช้ต่อหัวไม่กี่พันบาท เราใช้งบประมาณคุ้มค่า เราไม่ได้จัดงานประเภทนี้มาหลายสิบปีแล้ว การระดมความคิดเห็นเราจะนำมาพัฒนาบุคลากรของเราเอง ปรับทัศนคติในการทำงาน คุ้มค่าในการทำงานให้บริการประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด