การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : กระบวนการสอบสวน-ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ   

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : กระบวนการสอบสวน-ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ   

                      การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : กระบวนการสอบสวน

                              Criminal Justice Reform: Investigation      

 

                                                                                                                 ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ                                           

 

กระบวนการยุติธรรมชั้นต้นโดยเฉพาะในส่วนงานสอบสวนของตำรวจเป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่งกรณีที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาขาดความเที่ยงธรรม รากฐานของปัญหามีหลายประการ แต่มีปัญหาพื้นฐานที่สำคัญคือ (1) ปัญหาโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วางโครงสร้างเป็นพีระมิด (2) ปัญหาการเข้าสู่ตำแหน่งมีต้นทุนสูง(3) ปัญหาการไม่สามารถถ่วงดุลตรวจสอบได้ของกระบวนการสอบสวนโดยองค์กรอื่น และ (4) การขาดหลักประกันความอิสระของพนักงานสอบสวน ปัญหาดังกล่าวมีแนวทางการแก้ไข ดังนี้ (1) การกระจายอำนาจให้กับตำรวจในระดับจังหวัด (2) การสร้างหลักประกันความอิสระให้แก่พนักงานสอบสวน (3) การปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน (4) การโอนภารกิจงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยงานอื่น การกระจายงานสอบสวนให้หน่วยงานต่างๆ การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะมีส่วนอย่างสำคัญในการยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยให้ได้มาตรฐานสากล

 

บทนำ

                การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นประเด็นปัญหาที่มีความพยายามมาอย่างยาวนาน แต่จนถึงปัจจุบันความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในสังคมไทยปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือการปฏิรูประบบราชการ หากมองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ต้นทางเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการในมิตินี้ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการปฏิรูป หากเป็นส่วนราชการทั่วไปจะได้รับการปฏิรูปหรือไม่ได้รับการปฏิรูปก็ไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนมากนัก เพราะส่วนราชการอื่นๆ เกี่ยวข้องกับประชาชนในมิติที่แตกต่างกันออกไป  แต่สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วไปเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชน ไปเกี่ยวความเป็นความตายของประชาชนและเกี่ยวกับความสงบสุขโดยรวมของประชาชน  หากกลไกนี้เป็นกลไกที่บิดเบือนอยู่ใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ เครื่องมือหรือกลไกของมาตรการนี้ก็จะบิดเบี้ยวบิดผันไปตามอำนาจอิทธิพลที่มีเหนือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน นำไปสู่ความไม่เชื่อถือของผู้คนในสังคมและรวมไปถึงนานาอารยประเทศย่อมไม่เชื่อถือเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในห้วงที่ผ่านมาสะท้อนถึงปัญหาในทางโครงสร้างของระบบการสอบสวนของไทยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ อันนำไปสู่ปัญหาสองมาตรฐาน ปัญหาการจับแพะ ปัญหาการปล่อยผู้ต้องหาให้พ้นผิด ปัญหาการทำสำนวนให้อ่อน ฯลฯ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเช่นนี้มีแต่จะผลักคนจนให้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมอันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ สภาพการณ์ต่างเหล่านี้ๆ จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนผ่านการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในบทความนี้จะได้กล่าวถึง 1.เพราะเหตุใดต้นธารของกระบวนยุติธรรมทางอาญาของไทยจึงขาดความเที่ยงธรรม 2.แนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1.เพราะเหตุใดต้นธารของกระบวนยุติธรรมทางอาญาของไทยจึงขาดความเที่ยงธรรม

                หากจะกล่าวถึงปัญหาพื้นฐานในทางโครงสร้างและปัญหาในเชิงระบบแล้วอาจแยกปัญหาหลักๆ ที่กระทบต่อความเที่ยงธรรมในฐานะที่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมได้ ดังนี้

1.1 ปัญหาโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วางโครงสร้างเป็นพีระมิด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในขณะเดียวกันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง โดยโครงสร้างเช่นนี้ย่อมทำให้องคาพยพทั้งหมดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองด้วยโดยทางอ้อม ซึ่งหากแยกภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกเป็นภารกิจด้านป้องกันและปราบปรามกับด้านงานสอบสวนแล้ว ย่อมทำให้พนักงานสอบสวนตกอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองไปด้วยโดยทางอ้อม(ผ่านระบบการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และนี่เป็นเหตุผลประการที่หนึ่ง เพราะเหตุใดการดำเนินการสอบสวนฝ่ายการเมืองหรือผู้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองทั้งหลายเครื่องมือหรือกลไกนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเที่ยงธรรม

1.2 ปัญหาการเข้าสู่ตำแหน่งมีต้นทุนสูง การเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าสถานีตำรวจในบางพื้นที่มีต้นทุนสูงการได้มาซึ่งตำแหน่งเหล่านี้อาจมีหลายวิธี เช่น ผู้ใหญ่ช่วยผลักดันให้ อาศัยนายทุนในพื้นที่จัดการให้ หรือจัดการด้วยตนเอง ฯลฯ ไม่ว่าจะโดยวิธีใดๆ ก็ตามย่อมส่งผลต่อการทำหน้าที่ของหัวหน้าสถานีตำรวจในการสรุปสำนวนทำความเห็นทางคดีส่งไปยังพนักงานอัยการ ยกตัวอย่างกรณีตำรวจไซด์ไลน์ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่ได้รับมาไม่ใช่เงิน ยืมกลไกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไปดำเนินการกับการค้ามนุษย์ของผู้ประกอบกิจการดังกล่าวได้อย่างไรในเมื่อผู้นำสูงสุดของหน่วยงานมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับการประกอบกิจการดังกล่าวเสียเอง หากสภาพการณ์โดยรวมเป็นเช่นนี้การจะอาศัยเครื่องมือกลไกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยลำพังในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในบ้านเมืองจึงประกอบด้วยข้อจำกัดนานาประการที่ไม่สามารถบรรลุความมุ่งหมายได้

1.3 ปัญหาการไม่สามารถถ่วงดุลตรวจสอบได้ของกระบวนการสอบสวนโดยองค์กรอื่นๆ หากกล่าวเฉพาะอำนาจในการสอบสวนของพนักงานตำรวจ ในอดีตพนักงานฝ่ายปกครองยังสามารถควบคุมการสอบสวนที่เกิดขึ้นในจังหวัดได้ แต่ต่อมาภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าว ทำให้การถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจในการสอบสวนของตำรวจหมดสิ้นไป ส่วนการตรวจสอบสำนวนของอัยการเพื่อสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีนั้นแท้จริงแล้วเป็นกระบวนการเดียวกันที่มีความมุ่งหมายที่จะพิสูจน์ความผิดของการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำผิดอาญา ดังนั้น การดำเนินการของตำรวจและอัยการจึงมีความมุ่งหมายเดียวกันในการพิสูจน์ความผิดที่เกิดขึ้น แต่โดยเหตุที่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยแยกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ของพนักงานสอบสวน ส่วนที่ 2 ของพนักงานอัยการ และส่วนที่ 3 ศาลยุติธรรม ดังนั้น เมื่อโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นเช่นนี้ การตัดอำนาจในการควบคุมการสอบสวนของพนักงานฝ่ายปกครองยิ่งก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในการช่วยถ่วงดุลตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย

1.4 การขาดหลักประกันความอิสระของพนักงานสอบสวน โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนก็อยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบการบังคับบัญชาตามสายงานปกติทั่วไป นอกจากนี้ระบบวินัยของตำรวจเป็นระบบวินัยตามชั้นยศแบบระบบวินัยทหาร ดังนั้น ระบบการบังคับบัญชา ระบบชั้นยศและระบบวินัยทหารจึงไม่สอดคล้องกับภาระหน้าที่ในฐานะที่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แท้จริงแล้วงานการสอบสวนในทางอาญาเป็นงานของสายวิชาชีพที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ด้านกฎหมาย มีทักษะในการแสวงหาข้อเท็จจริงและมีความเชี่ยวชาญในด้านการพิสูจน์หลักฐาน นอกจากนี้ ในระบบงานสอบสวนจะต้องมีการควบคุมจริยธรรมของพนักงานสอบสวน ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการควบคุมของสายบังคับบัญชา

สภาพปัญหาทั้ง 4 ประการข้างต้นจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงระบบ ปัญหาเชิงหลักการ และปัญหาความอิสระของพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ ดังนั้น การแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจะต้องพิจารณาหลักการ 4 ประการข้างต้นเป็นสำคัญ

 

2.แนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ในที่นี้จะได้กล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งมีข้อเสนอที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

2.1 การกระจายอำนาจให้กับตำรวจในระดับจังหวัด ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่าโครงสร้างตำรวจมีลักษณะเป็นพีระมิด เป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ก่อให้เกิดปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย การวิ่งเต้นขอตำแหน่ง ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการทำภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีการกระจายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปสังกัดอยู่กับจังหวัดโดยให้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ส่วนการบริหารงานกิจการตำรวจและการบริหารงานบุคคลในจังหวัดหนึ่งๆ ควรมี “คณะกรรมการตำรวจระดับจังหวัด” ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนประชาชนในพื้นที่เข้ามาเป็นกรรมการ และเป็นองค์กรที่รับผิดชอบดูแลในระดับจังหวัด

2.2 การสร้างหลักประกันความอิสระให้แก่พนักงานสอบสวน โดยที่งานสอบสวนเป็นลักษณะของงานในทางวิชาชีพที่ต้องการความเป็นอิสระในการดำเนินการสอบสวน ดังนั้น งานสอบสวนจึงมีความแตกต่างไปจากงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมซึ่งต้องการระบบการบังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพ ระบบงานวินัยที่เคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ หากสามารถแยกตำแหน่งพนักงานสอบสวนออกจากตำแหน่งอื่นได้จะทำให้เกิดความชัดเจนในการที่จะสร้างหลักประกันความเป็นอิสระของตำแหน่งพนักงานสอบสวน ดังนั้น แนวทางในการสร้างหลักประกันให้กับพนักงานสอบสวน หากไม่สามารถแยกตำแหน่งพนักงานสอบสวนออกมาสังกัดหน่วยอื่นก็จะต้องแยกสังกัดภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้พนักงานสอบสวนมีสังกัดของตนเองและความเติบโตก้าวหน้าในสายงานของพนักงานสอบสวน และประการสำคัญจะต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สอบสวน พร้อมทั้งมีเครื่องมือและบุคลากรที่จะช่วยในการทำภาระหน้าที่ของงานสอบสวนที่เพียงพอ

2.3 การปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน กระบวนยุติธรรมทางอาญาอาจแยกออกได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง เป็นขั้นตอนการแสวงหาบุคคลผู้กระทำความผิด ตั้งแต่มีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและทำการสอบสวนผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดจนกระทั่งนำตัวบุคคลดังกล่าวไปฟ้องร้องยังศาลยุติธรรม  ในขั้นนี้ระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ทั้งหมดจะใช้ “ระบบค้นหาความจริง” (inquisitorial system) ขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นการพิจารณาและพิพากษาของศาลยุติธรรม  โดยมีโจทก์ฝ่ายหนึ่ง และมีจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ขั้นนี้ระบบของประเทศต่างๆ ส่วนมากใช้ระบบไปในทาง “ระบบกล่าวโทษ” (accusatorial system) ดังนั้น การปรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในขั้นที่หนึ่งให้เป็นกระบวนการเดียวกันมีข้อพิจารณา ดังนี้

2.3.1 ให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบมีบทบาทหน้าที่ควบคุมการสอบสวน การใช้มาตรการบังคับ และกระบวนการในชั้นก่อนฟ้องคดีทั้งหมด โดยให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง และเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนมีอำนาจหน้าที่กำกับและควบคุมการสอบสวนโดยทั่วไปของพนักงานสอบสวน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง (1) พิจารณาคำขอของพนักงานสอบสวนในการขอให้ศาลออกหมายจับ หมายค้นและหมายขัง  ตลอดจนคำคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวน ในการนี้ให้พนักงานอัยการยับยั้งคำขอหรือคำคัดค้านดังกล่าวได้ (2) ตรวจสำนวนการสอบสวนหรือให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนมาให้พิจารณาหรือให้พนักงานสอบสวนรายงานข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับคดี (3) ขอให้ศาลขัง ปล่อยผู้ต้องหา หรือปล่อยชั่วคราว แล้วแต่กรณี

2.3.2 กำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้กลั่นกรองคำร้องขอออกหมายอาญาต่อศาล เนื่องจากเป็นผู้ที่ควบคุมหรือกำกับดูแลการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญา โดยอาจเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งในการกลั่นกรองนั้นพนักงานอัยการต้องพิจารณาและให้เหตุผลอย่างชัดเจนในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการขอออกหมายนั้น และมีอำนาจยับยั้งคำร้องดังกล่าวได้ เมื่อเห็นว่าไม่มีเหตุผลสมควรที่จะออกหมาย

2.3.3 สร้างกลไกการควบคุมตรวจสอบงานสอบสวนในขั้นตอนที่หนึ่ง ในส่วนของพนักงานสอบสวนนอกจากจะอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาตามสายงานแล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมตำรวจสอบสวน ซึ่งได้แก่ “คณะกรรมการควบคุมตำรวจสอบสวน” ซึ่งหากการสอบสวนของตำรวจไม่ให้ความเป็นธรรมประชาชนสามารถร้องเรียนมายังคณะกรรมการดังกล่าวหรือพนักงานอัยการได้ ในส่วนของพนักงานอัยการกำหนดให้คณะกรรมการอัยการทำหน้าที่ในการควบคุมจริยธรรมของพนักงานอัยการ

กล่าวโดยสรุป หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นตอนที่หนึ่งจำเป็นจะต้องสร้างกลไกให้มีการคานกันของระบบสอบสวนและมีระบบการตรวจสอบภายใน กล่าวคือ ตำรวจสอบสวนอยู่ภายใต้การควบคุมในด้านการทำงานโดยพนักงานอัยการและอยู่ภายใต้การตรวจสอบความประพฤติโดยคณะกรรมการควบคุมตำรวจสอบสวน ส่วนพนักงานอัยการให้มีระบบการควบคุมจริยธรรมของพนักงานอัยการโดยคณะกรรมการอัยการ

2.4 การโอนภารกิจงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยงานอื่น การกระจายงานสอบสวนให้หน่วยงานต่างๆ ที่รักษาการตามกฎหมายเฉพาะอยู่แล้วแต่ไม่มีอำนาจสอบสวน หรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะตามกฎหมายต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่สรรพสามิต เจ้าหน้าที่สรรพากร เป็นต้น เพื่อกระจายความรับผิดชอบไม่ให้ภาระงานตกอยู่กับหน่วยใดหน่วยหนึ่งมากเกินไป และเป็นการช่วยพัฒนาให้มีหน่วยงานสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในการทำงานด้านการป้องกันอาชญากรรมและงานสอบสวน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานสอบสวนในอนาคต โดยการจัดโครงสร้างงานสอบสวนให้มีลักษณะของการทำงานเป็นกลุ่มโดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ส่วนพนักงานอัยการจะมีบทบาทในการตรวจสอบและกลั่นกรองการขอหมายอาญา บทบาทในการควบคุมการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะเหล่านี้จะมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานอัยการ

 

บทสรุป แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางการปฏิรูประบบราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการกระจายโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางไปสังกัดในระดับจังหวัดและให้มีคณะกรรมการตำรวจระดับจังหวัด ประการต่อมาคือการสร้างหลักประกันความอิสระให้แก่พนักงานสอบสวน โดยที่งานสอบสวนเป็นลักษณะของงานในทางวิชาชีพที่ต้องการความเป็นอิสระในการดำเนินการสอบสวน และหัวใจสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือ การปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน โดยให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบมีบทบาทหน้าที่ควบคุมการสอบสวนและสร้างกลไกให้มีการคานกันของระบบสอบสวนและมีระบบการตรวจสอบภายใน และประการสุดท้ายการโอนภารกิจงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยงานอื่น การกระจายงานสอบสวนให้หน่วยงานต่างๆ ที่รักษาการตามกฎหมายเฉพาะอยู่แล้วแต่ไม่มีอำนาจสอบสวน หรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะตามกฎหมายต่างๆ แนวทางดังกล่าวข้างต้นจะทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานของนานาอารยประเทศ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ทั้งจากประชาชนชาวไทย รวมทั้งนานาประเทศ อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย

 

 ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนา “สังคายนากระบวนการยุติธรรม ของ Innocence International Thailand