สภาฯยกเครื่องกฎหมาย’แพะ’คดีอาญา เจ็บจริง ต้องจ่ายจริง รื้อฟื้นคดีใหม่ได้ง่ายขึ้น

สภาฯยกเครื่องกฎหมาย’แพะ’คดีอาญา เจ็บจริง ต้องจ่ายจริง รื้อฟื้นคดีใหม่ได้ง่ายขึ้น

 

เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2563 เวลา 09.30 – 12.00 น. อนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งมีนายอาดิลัน  อาลีอิสเฮาะห์  ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ  จังหวัดยะลา เป็นประธาน ได้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยคดีอาญาขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

 

ทั้งนี้เนื่องมาจากกฎหมายเดิม มีปัญหาไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมตัวแล้วอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง  แต่ไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยา จำเป็นต้องเพิ่มเติมให้คุ้มครองผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรมในชั้นสอบสวนด้วย

 

นอกจากนั้น หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าทดแทนเดิม ก็กำหนดให้เฉพาะบุคคลผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดเท่านั้น  ซึ่งตามข้อเท็จจริง ศาลแทบไม่เคยมีศาลใดพิพากษายืนยันเช่นนั้นเลย  ทำให้การจ่ายเงินจริงมีปัญหา  จำเลยผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังได้รับเงินเยียวยากันน้อยมาก  ประมาณว่าไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

 

ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมาธิการชุดที่นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะห์   เป็นประธานนี้ จะถูกส่งให้ กมธ.กฎหมายและการยุติธรรมฯ  ในสัปดาห์หน้าวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ย.63 และเมื่อผ่านความเห็นชอบจะส่งให้ประธานสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระในการพิจารณาในประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล หรือหากล่าช้า  ส.ส.จำนวน 20 คน ก็จะเข้าชื่อกันเสนอเป็นร่างกฎหมายของ สส.เองต่อไป

 

นอกจากนั้น อนุ กมธ.ก็ยังได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ด้วยเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ในความเป็นจริง การนำคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่สำหรับประเทศไทยเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง โดยจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญเท่านั้น  ทั้งที่มีผู้ร้องเรียนและยื่นคำร้องว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามคำพิพากษามากมายหลายร้อยราย  แต่กฎหมายกลับมีข้อจำกัดในการรับพิจารณาของศาลอย่างมาก  ไม่สอดคล้องกับหลักสากล รวมทั้งไม่เคยมีผลนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิมที่ลงโทษจำเลยได้แม้แต่รายเดียว  จำเป็นต้องแก้ไขให้สามารถกระทำได้ง่ายขึ้น  หากปรากฎพยานหลักฐานที่จะทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง.