กฎหมายการรื้อฟื้นคดีอาญาสร้างภาระการทวงคืนความยุติธรรม

กฎหมายการรื้อฟื้นคดีอาญาสร้างภาระการทวงคืนความยุติธรรม

  กฎหมายการรื้อฟื้นคดีอาญาสร้างภาระการทวงคืนความยุติธรรม 

                                                                                                ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง

ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศทั่วโลก จะมีจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับมาตรฐานของระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้ประเทศที่มีมาตรฐานที่ดีเยี่ยมก็เกิดความผิดพลาดขึ้นได้เช่นเดียวกัน การจับกุม คุมขัง ฟ้องดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษคนบริสุทธิ์หรือแม้กระทั่งที่ศาลการพิพากษายกฟ้องอาชญากรไม่ว่าเพราะพยานหลักฐานไม่พอหรือใช้ดุลยพินิจไม่สมเหตุผล ล้วนเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งผู้พิพากษา อัยการ และตำรวจ ร่วมกันก่อให้เกิดขึ้น การฟ้องดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษคนบริสุทธิ์ หรือการพิพากษายกฟ้องปล่อยให้อาชญากรตัวจริงลอยนวลไม่ได้รับโทษ ล้วนเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐทั้งบุคลากร งบประมาณ ภาษีอากรที่เสียหายและสูญเปล่าทั้งสิ้น

ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งจากความไม่ตั้งใจ เช่น พยานจำตัวคนผิดหรือเบิกความเท็จกลั่นแกล้ง ความบกพร่องในการเก็บพยานหลักฐาน เป็นต้น ส่วนความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดโดยตั้งใจ เช่น จากการทุจริตบิดเบือนพยานหลักฐานอันมีเหตุจูงใจมาจากการเรียกรับผลประโยชน์ ของเจ้าหน้าที่นั้นเอง หรือการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาหรือนักการเมืองภายนอก เป็นต้น

รัฐจึงมีหน้าที่จะต้องสร้างกระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาเพื่อแก้ไขเยียวยาและคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า

1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้น เป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง

2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม 1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ

3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

โดยผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้แก่ 1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด (แต่บุคคลนั้นยังติดคุกอยู่) 2) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ (ผู้แทนยากจน ไม่มีความรู้) ผู้บุพการี (อาจจะทั้งแก่ชรา ยากจนและไร้ความรู้) ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง และ พนักงานอัยการเฉพาะในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิมที่มีคำพิพากษาลงโทษนั้น

พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มีข้อบกพร่องไม่ได้มาตรฐานสากลและก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนในการทวงคืนความยุติธรรมที่สำคัญ 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

ประการแรก ตามพระราชบัญญัติ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 นี้ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการในการสืบสวนสอบสวนเพื่อรื้อฟื้นคดีได้เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าด้วยข้อจำกัดในมาตรา 6 จำกัดเฉพาะในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิมเท่านั้น

เนื่องจากคดีอาญากว่าร้อยละ 90 เป็นการดำเนินการฟ้องโดยพนักงานอัยการจึงมีคดีน้อยมากที่ประชาชนฟ้องร้องกันเองที่จะขอให้พนักงานอัยการคืนความยุติธรรมให้ แต่คดีส่วนใหญ่ที่ประชาชนต้องเดือดร้อนจากการต้องได้รับโทษ อันเกิดจากความผิดพลาดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมของรัฐไม่มีโอกาสจะได้รับการชดเชยจากรัฐในการแก้ไขเยียวยาเพื่อรื้อฟื้นคืนความยุติธรรมแก่ตนเองเพื่อพ้นจากความผิดพลาดนั้น กรณีเช่นนี้ในต่างประเทศทั่วไปประชาชนไม่จำต้องเดือดร้อนซ้ำซากในการขวนขวายเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายเพราะสามารถร้องขอให้พนักงานอัยการรื้อฟื้นคืนความเป็นธรรมแก่ตนในคดีอาญาที่ตนได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและลงโทษโดยผิดพลาดไปได้

ประการที่สอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาห้ามมิให้ศาลลงโทษจนกว่าเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แต่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ กลับกำหนดมาตรฐานการรื้อฟื้นคดีสูงถึงขนาดว่า จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งจะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญานั้นไม่ได้กระทำความผิด ด้วยเงื่อนเวลาที่ผ่านไปนานพยานหลักฐานสูญหาย ล้มตายหรือถูกทำลายไปหมดแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ติดอยู่ในคุก อีกทั้งส่วนใหญ่จะยากจนและไร้การศึกษา ไม่มีความรู้ทางกฎหมายจะสามารถหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นว่านั้นได้ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่จึงควรกำหนดให้จำเลยแสดงพยานหลักฐานเพียงแค่ให้เกิดข้อสงสัยที่ศาลไม่อาจจะลงโทษตนได้ก็ควรจะเพียงพอแล้วที่จะขอเพียงแค่การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ส่วนจะพิพากษาใหม่อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักการว่าห้ามมิให้ศาลลงโทษจนกว่าเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเหมือนเดิม

ประการที่สาม การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่จะกระทำได้เพียงครั้งเดียว โดยมาตรา 18 บัญญัติให้คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว เกิดคำถามว่าหากยื่นไปแล้วแต่ศาลใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ไม่รอบคอบสมเหตุผลเพียงพอ เช่น อาจจะเกิดจากทัศนคติที่ปกปิดความผิดพลาดบกพร่องแทนที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง หากภายหลังคดีมีพยานหลักฐานใหม่แสดงความบริสุทธิ์ของจำเลย กฎหมายฉบับนี้กลับไม่อนุญาตให้ยื่นคำร้องอีก หมายความว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะยอมให้คนบริสุทธิ์ต้องถูกจองจำติดอยู่ในคุกอยู่ต่อไปเช่นนั้นหรือ?

กล่าวโดยสรุป พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เป็นกฎหมายที่สร้างภาระแก่ประชาชนอย่างยิ่งในการร้องขอคืนความยุติธรรม จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนใน 3 ประเด็นคือ ให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่แก้ไขและคืนความเป็นธรรมได้รวมถึงคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีนั้นเองด้วย กำหนดให้จำเลยแสดงพยานหลักฐานเพียงแค่ให้เกิดข้อสงสัยว่าจำเลยไม่เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรฐานเดียวกับที่ศาลไม่อาจจะลงโทษจำเลยตั้งแต่แรกก็เพียงพอแล้วที่จะขอเพียงแค่การรื้อฟื้นคดีนั้นขึ้นพิจารณาใหม่และจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้บริสุทธิ์ได้พ้นจากการถูกจำคุกโดยไม่มีความผิดหากยังคงมีหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์แม้ว่าจะขอยื่นอีกกี่ครั้งก็ตาม

          นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่ประเทศไทยมีทั้งระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่วิปลาสและล้าหลัง เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตบิดเบือนพยานหลักฐานได้ง่ายๆสะดวกตามอำเภอใจและเรียกรับผลประโยชน์ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องตกเป็นแพะรับบาปมากมาย อีกทั้งกฎหมายที่จะรื้อฟื้นคดีเพื่อคืนความยุติธรรมยังล้าหลังไม่ได้มาตรฐาน ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงไม่อาจจะแปลกใจเลยว่านับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ใช้บังคับ ไม่เคยมีความสำเร็จในการรื้อฟื้นคดีอาญาเลย หรือมีใครเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไม่เคยมีความผิดพลาดลงโทษคนบริสุทธิ์เลย?.

 

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2563