วงเสวนาตอกย้ำกระบวนการยุติธรรมวิกฤติคนล้นคุกเร่งปฏิรูประบบค้นหาความจริง

วงเสวนาตอกย้ำกระบวนการยุติธรรมวิกฤติคนล้นคุกเร่งปฏิรูประบบค้นหาความจริง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ (ชั้น 1) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการเสวนาวิชาการหัวข้อ “วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย นายกฯ ต้องปฏิรูปอะไรและอย่างไร” จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ Innocence International Thailand (IIT)

วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย

โดย ผศ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นำเสนอความเป็นมา และกล่าวเปิดงานว่า การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลาย ๆ องค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อน และรณรงค์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ดร.วรรณชัย บุญบำรุง อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ระบบการพิจารณาคดีของประเทศที่ใช้แบบคอมมอนลอว์นั้น ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย เพราะประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้ล้วนเจริญแล้ว ทนายมีความรู้ความสามารถ ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำน้อย ดังนั้น ในเมืองไทย จึงน่าจะเหมาะสมกับระบบไต่สวนมากกว่าการกล่าวหา ทั้งนี้ สำหรับกฎหมายไทยแล้ว ต้องเรียกว่า กฎหมายไปทางผู้ปฏิบัติไปทาง โดยศาลจะมีอำนาจมาก สิ่งที่จะสามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น คือต้องปรับมายเซ็ทของเจ้าหน้าที่ ให้เห็นพ้องถึงประโยชน์ของการไต่สวน โดยนำระบบไต่สวนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.วรรณชัย เสนอว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) นายกสภาทนายความ อัยการสูงสุด ประธานศาลฏีกา ฯลฯ ต้องมาตกลงร่วมกัน หากเห็นว่าระบบไต่สวนจะต้องถูกใช้ในประเทศไทย ต้องตกลงกันว่าทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติได้จริง โดยนำกฎหมายพิจารณาความมาใช้ และโดยปกติแล้ว ศาลไทยมักไม่มีการค้นหาข้อเท็จจริงเชิงรุก และมักจะตัดการสืบพยานไป โดยเกรงเรื่องไม่เป็นกลาง

วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีนโยบาย 3 ส่วนที่จะต้องปฏิรูป 1) นโยบายทางนิติบัญญัติ เช่นว่าไทยมีกฎหมายอาญาเกินความจำเป็น ทำให้คนไทยติดคุกจำนวนมาก ยกตัวอย่าง คดีเสพยาเสพติด ซึ่งต่างประเทศนับเป็นผู้ป่วย แต่ไทยติดคุก นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา ยังตีกรอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษ เช่น โทษการจำคุก ที่ไม่ให้อิสระต่อศาล จึงเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็น โทษปรับที่คนรวยและคนจนเดือดร้อนไม่เหมือนกัน หากแก้ไขตรงนี้ก็จะลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันประเทศไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต แล้วมาใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตจริงๆ

2) นโยบายบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ควรให้อำนาจอัยการในการขอออกหมายจับ ขณะที่ตำรวจจะออกหมายจับควรได้รับการพิจารณาจากอัยการด้วย ตรงนี้เป็นการคุ้มครองประชาชน ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหา ในต่างประเทศอัยการจะมีหน้าที่เข้ามาดูฐานการตั้งข้อหา ขณะที่ประเทศไทยเป็นหน้าที่ของตำรวจตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ในหลายประเทศ ยังมีการสอบสวนฟ้องร้องโดยอัยการ ส่วนประเด็นที่ศาลต้องสืบพยาน สำหรับในประเทศไทยนั้นไม่เคยได้ใช้ เพราะศาลหวั่นเรื่องความเป็นกลาง

3) นโยบายการบังคับโทษ เพราะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นมีปัญหา ทำให้คนล้นคุก ตอนนี้เรามีนักโทษ 351,548 คน 1 ปีจ่ายค่าอาหาร 5.6 พันล้าน ส่วนค่าเสื้อผ้า 1 ปีตกประมาณ 3 พันล้าน เพราะมีปัญหาที่กระบวนการชั้นต้น

ผศ.ดร.ธานี กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับทิศทางในการปฏิรูป ต้องให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ซึ่งในบางประเทศมีตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของท้องถิ่น ให้ประชาชนเข้าไปเป็นองค์คณะในการพิพากษา เป็นต้น

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการ พัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า การไต่สวนหรือกล่าวหา ไม่ใช่สาระของความเป็นธรรม เพราะสาระสำคัญคือการพิสูจน์ความจริง และที่สุดแล้วมันคือการใช้หลักกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ เพราะอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น ใช้หลักกฎหมายเดียวกับไทย แต่กลับไม่มีปัญหา ทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลวเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องปฏิรูประบบการทำความจริงให้ปรากฏ ทำให้ประชาชนได้ความยุติธรรม

ดร. ธนัทเทพ เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ NIDA กล่าวว่า การตรวจสอบในหลายกรณี พบเหตุการณ์ทุจริต การได้ผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือการร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดกระบวนการทั้งต้น-กลาง และปลายน้ำ การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นส่วนที่เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจ และหน้าที่ตามกฎหมายได้ สิ่งที่ทำคือการปราบคนพาล อภิบาลคนดี เช่น เกาหลีใต้ที่ปราบคอร์รัปชั่นจนสามารถเป็นประเทศชั้นนำของโลก

วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย

พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤตร้ายแรงยิ่ง ผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งชาวต่างชาติไม่เชื่อถือเชื่อมั่น มีคนติดคุกล้นเกินถึง 3.6 แสนคน ในนี้ มีคนที่ไม่จำเป็นต้องติด เช่นอยู่ระหว่างฝากขังเพราะไม่ได้ประกันระหว่างดำเนินคดีถึงหกหมื่นคน บางส่วนรับสารภาพทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดแต่ไม่อยากสู้คดี เพราะรู้ว่าสู้ไปก็แพ้ จึงรับเพื่อให้ได้การลดโทษ คดีจะได้จบๆ ไปโเยเร็ว โดยเฉพาะคดียาเสพติด และหลายคดีก็ถูกลงโทษทั้งที่ไม่ได้กระทำผิด ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้น สามารถป้องกันได้ สำหรับคดีที่ศาลยกฟ้องของไทยก็สูงถึงร้อยละ 40 ส่วน 3 จังหวัดภาคใต้มีถึงร้อยละ 80 ซึ่งไม่ใช่ความยุติธรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงยิ่ง เพราะถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาก็เดือดร้อนจากการถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม อัยการสั่งฟ้องไปได้อย่างไร? และทำให้ผู้กระทำผิดตัวจริงลอยนวลไป! ไม่มีคำตอบกับผู้เสียหาย บางรายจึงได้ใช้วิธีไปตามฆ่าตามล้างแค้นกันเอง!

“นอกจากนี้ ความยุติธรรมที่มาช้าก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ น่ารำคาญอย่างมาก เช่นคดีบอสจนป่านนี้ผ่านมา 8 ปี คดีก็ยังไปไม่ถึงไหน หลายคดี การสอบสวนของตำรวจก็เป็น “การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” ส่งให้อัยการอ่านเพื่อสั่งคดีฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกด้วย อย่างคดีบอส มีการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนความเร็ว มีพยานหลักฐานการกระทำผิดเข้าข่าย “ซ่องโจร” ชัดเจน แต่จนกระทั่งป่านนี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ยังลอยนวล ไม่ถูกจับเหมือนกรณีที่ประชาชนคนยากจนกระทำผิด ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมี ช่องโหว่ให้สามารถกระทำได้มากมาย”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปต้องสร้างระบบตรวจสอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากพนักงานอัยการตามหลักสากล รวมทั้งนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในทุกขั้นตอนอย่างจริงจัง การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการสอบปากคำบุคคลซึ่งมีความสำคัญต่อคดีอย่างมาก ก็ต้องกำหนดให้กระทำด้วยการบันทึกเป็นภาพและเสียงเอาไว้ ลดปัญหาความคลาดเคลื่อนหรือปกปิดบิดเบือน “ที่พูดไม่จด ที่จดไม่ได้พูด” เช่นทุกวันนี้ หลักในการสั่งฟ้องคดี ของอัยการก็ต้อง “สิ้นสงสัย” ไม่ใช่แค่ “พอฟ้อง” ที่ทำให้ผู้คนได้รับความเดือดร้อนเพราะศาลยกฟ้องกันมากมายเช่นทุกวันนี้!

วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย