สป.ยธ.ยื่น’วิชา’ให้บี้นายกฯนำร่างพรบ.ตำรวจฉบับ’มีชัย’-ร่างพรบ.แก้ป.วิอาญาเข้าสภาฯ

สป.ยธ.ยื่น’วิชา’ให้บี้นายกฯนำร่างพรบ.ตำรวจฉบับ’มีชัย’-ร่างพรบ.แก้ป.วิอาญาเข้าสภาฯ

สป.ยธ. ยื่นหนังสือ ต่อ “วิชา”  ให้เสนอนายกฯ เร่งนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับ”มีชัย”และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา เข้าสภาเพื่อปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวน แทน “ฉบับปฏิลวง” ของ สตช. ซึ่งไม่มีที่ไปตาม รธน. และแก้ปัญหาอะไรไม่ได้แท้จริง

 

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 ก.ย. 2563 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  (สป.ยธ.)นำโดย พันตำรวจเอก วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสป.ยธ. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วิชา  มหาคุณ  ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เรื่อง  “           ขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักในการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี      เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในระบบตำรวจและงานสอบสวน” พร้อมกับแนบ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง  “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวน”  ของกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ส่งมาด้วย

 

โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวมีใจความดังนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งแต่งตั้งท่านเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการสอบสวนคดีนายวรยุทธ  อยู่วิทยา ที่รองอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเพื่อหาทางนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย  พร้อมทั้งให้ศึกษาปัญหาระบบสอบสวนและการสั่งคดีของพนักงานอัยการเสนอแนวทางแก้ไขให้ดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในระบบตำรวจและงานสอบสวนนั้น

 

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เห็นว่า ปัญหาสำคัญที่สุดเกิดจากงานสอบสวนความผิดอาญาแทบทั้งหมดได้ถูกผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่เพียงองค์กรเดียวทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคด้วยอำนาจของรัฐบาลเผด็จการที่ออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยไว้ในปี พ.ศ.2506   ซ้ำยังขาดการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ แม้กระทั่งพนักงานอัยการระหว่างสอบสวนตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง เป็นช่องทางให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจของไทยซึ่งมีจุดอ่อนที่ระบบการปกครองแบบมีชั้นยศ และวินัยเช่นเดียวกับทหาร  สามารถถูกผู้บังคับบัญชาสั่งการโดยมิชอบ ที่มักกระทำด้วยวาจาให้สอบสวนเพื่อกลั่นแกล้ง แจ้งข้อหาต่อประชาชน เสนอให้อัยการสั่งฟ้อง  หรือจะล้มคดีเสนอให้สั่งไม่ฟ้องเพื่อช่วยผู้กระทำผิดกันอย่างไรก็ได้  ซึ่งตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนแทบทุกคนล้วนจำใจต้องกระทำตามคำสั่งที่มิชอบนั้นด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อมิให้ถูกกลั่นแกล้งจากการถูกผู้บังคับบัญชาจับผิดลงโทษทางวินัยให้เสียอนาคต หรือแต่งตั้งโยกย้ายให้ได้รับความเดือดร้อนได้หลายรูปแบบ

ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน  ตามแนวทางที่สำคัญในระยะแรกดังนี้

  1. แยกงานสอบสวนให้เป็นสายงานเฉพาะจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรมในลักษณะเดียวกับงานนิติวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความรู้ความชำนาญ และหลักประกันความเจริญก้าวหน้าในสายงานโดยการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนและการเสนอสำนวนต่อพนักงานอัยการ ให้กระทำโดยพนักงานสอบสวนอาวุโสผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้างานสอบสวนและหัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานีและกองบังคับการเท่านั้น

2.การสั่งงานสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับคดี  ต้องกำหนดให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง เช่นเดียวกับการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการ

  1. การสอบปากคำบุคคล ไม่ว่าจะในฐานะผู้กล่าวหา ผู้ต้องหาหรือพยาน ต้องกำหนดให้บันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานให้พนักงานอัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้ทุกคดี
  2. คดีฆาตกรรมหรือสงสัยว่าน่าจะเกิดจากการฆาตกรรม พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้นายอำเภอ พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และแพทย์ ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน ลงลายมือชื่อรับรองไว้พร้อมกัน

5.คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือคดีที่มีผู้ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการว่าการสอบสวนมิได้เป็นไปตามกฎหมาย หรือพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์  ให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบและสั่งการสอบสวนคดีนั้นได้

6.การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ  ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการในการตรวจสอบพยานหลักฐาน    โดยอัยการจะเห็นชอบได้  ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษจำเลยได้สอดคล้องกับหลักสากลเท่านั้น

7.กระจายอำนาจสอบสวนโดยกำหนดว่า  “กระทรวง กรมที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด  ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย  โดยไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่ดำเนินการสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ของตน”  เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสอบสวนความผิดเฉพาะทางให้แต่ละหน่วยสามารถดำเนินคดีได้เอง

ประเด็นการแยกงานสอบสวนตามข้อ 1  สามารถกระทำได้โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับที่นายมีชัย  ฤชุพันธุ์ เป็นประธานและได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไว้  นำเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้

ประเด็นตามข้อ 2-7สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญา ของคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ  ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน  2563   และประธานรัฐสภาได้เสนอไว้  นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อแปรญัตติเพิ่มเติมในข้อ  2 ,3 ,4, 6 และ 7 เพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป