‘สันธนะ’ร้องศาลเอาผิด’จักรทิพย์’ตั้ง’สุวัฒน์’เป็นผบ.ตร.ไม่นำหนังสือคัดค้านเข้าก.ต.ช.

‘สันธนะ’ร้องศาลเอาผิด’จักรทิพย์’ตั้ง’สุวัฒน์’เป็นผบ.ตร.ไม่นำหนังสือคัดค้านเข้าก.ต.ช.

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2563 นายสันธนะ ประยูรรัตน์  อดีตรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.148/2563 ข้อหาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

นายสันธนะ เปิดเผยว่า มูลคดีสืบเนื่องจากมีหลักฐานว่าเมื่อระหว่างปี 2544-2547 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สมัยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 7 ซึ่งมีเงินเดือนเพียง 30,000 บาทเศษ แต่มีเงินเข้าออกบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวนกว่า 13 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มานอกเหนือจากเงินเดือนปกติของข้าราชการตำรวจ โดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นการร่ำรวยผิดปกติตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

 

นายสันธนะ  กล่าวต่อว่า ตนได้เคยยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)  ตามเลขรับที่ 19822 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2562 แล้ว ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ได้ยื่นเอกสารต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) และประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร.ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ต้องออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ รองผบ.ตร.ทันที ต้องจัดเตรียมข้อมูลประกอบการพิจารณาคัดเลือก เสนอชื่อข้าราชการตำรวจเพื่อดำรงตำแหน่งผบ.ตร.คนใหม่ แต่ได้บังอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ออกคำสั่งดังกล่าว และไม่นำหนังสือร้องคัดค้านของนายสันธนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนที่สุด บรรจุเข้าในวาระประชุมของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ โดยช่วยเหลือและปกปิด ทำให้ที่ประชุมลงมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ เป็นผบ.ตร.

 

“พฤติการณ์และการกระทำนี้ ส่งผลกระทบและความเชื่อมั่นของประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ในการอำนวยความยุติธรรม กระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายเป็นการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจซึ่งไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงความอาวุโสประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติประกอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547  จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดีนี้ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 09.30 น.”นายสันธนะ กล่าว