ปฏิรูปตำรวจริบหรี่!’คำนูณ’แฉร่างพ.ร.บ.ถูกตัดแต่งพันธุกรรมศรีธนญชัยแปลงสาร

ปฏิรูปตำรวจริบหรี่!’คำนูณ’แฉร่างพ.ร.บ.ถูกตัดแต่งพันธุกรรมศรีธนญชัยแปลงสาร

เมื่อวันที่22 ก.ย.2563 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ความเห็นเรื่อง ปฏิรูปตำรวจริบหรี่ ร่างพ.ร.บ.ถูกตัดแต่งพันธุกรรม เผย 3 ขั้นตอนศรีธนญชัยแปลงสาร มีใจความดังนี้

กรณีการปฏิรูปตำรวจในความหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ง. (4) ขออนุญาตพูดตามตรงหลังจากติดตามมาโดยตลอดและบางช่วงมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยว่ารัฐบาลหรือท่านนายกรัฐมนตรีกระทำการไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีเหตุมาจากอะไรก็ตาม
ไล่เรียงมาตั้งแต่…

1. ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/181/T1.PDF

2. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2561 เรื่องมาตรการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
https://library2.parliament.go.th/…/ncpo-head-order20…

ทั้ง 2 ประการนี้ทำให้รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสามที่เป็นเสมือน ‘บทเร่งรัดกึ่งลงโทษ’ ไร้ความหมาย เสมือนถูกแก้ไขไปแล้วในทางปฏิบัติ

อันจะทำให้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานตำรวจและการแต่งตั้งโยกย้ายจะเสร็จก็ได้ไม่เสร็จก็ได้ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็สามารถทำตามระบบแบ่งกองร้อยละ 33 แบบเดิมได้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
รายละเอียดเรื่องนี้เคยอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาและเขียนเล่าใน fb นี้แล้ว
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3257209870989611&id=100001018909881
และล่าสุด….

3. มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับแปลงสารที่เสนอแก้ไขมาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563

ประการสุดท้ายนี้สุ่มเสี่ยงต่อการจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคแรก และโดยเฉพาะมาตรา 258 ง. (4) อย่างมาก

ที่ว่าไม่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคแรก ก็เพราะผู้ยกร่างกฎหมายไม่ใช่คณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ หรือคณะกรรมที่รับช่วงงานต่อมา หากแต่เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งไม่ได้รับการกำหนดไว้เลยให้เป็นผู้ปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ และที่ว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) คือไม่ได้พิจารณาอาวุโสกับความรู้ความสามารถประกอบกันในทุกตำแหน่ง ยังคงใช้ระบบแบ่งกองตามเดิมแม้จะมีการปรับปรุงบ้าง โดยให้ใช้อาวุโสอย่างเดียวจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือแม้จะบอกว่าใช้อาวุโสประกอบความรู้ความสามารถแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนบังคับไว้ โดยตัดระบบคะแนนประจำตัวตามร่างฯเดิมที่มาจากคณะกรรมการที่รับช่วงพิจารณายกร่างตามรัฐธรรมนูญออก

อันที่จริง รัฐบาลหรือท่านนายกรัฐมนตรีมีโอกาสที่จะแก้ไขการกระทำข้อ 1 และ 2 ด้วยการส่งร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ที่รับช่วงต่อมาจากคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญเข้ามาสู่รัฐสภา ให้เวทีรัฐสภาเป็นที่ตัดสิน

แต่รัฐบาลหรือท่านนายกรัฐมนตรีไม่เลือกที่จะทำเช่นนั้น
กลับเลือกทำซ้ำรอยเดิมตามข้อ 3

ทำให้ความหวังในการปฏิรูปตำรวจเหลือริบหรี่มาก นี่พูดอย่างมองโลกในแง่ดีสุดแล้วนะครับ
ทำให้เห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น สำหรับผู้อยู่บนบัลลังก์อำนาจแล้วเป็นแค่ตัวหนังสือบนเศษกระดาษ อะไรที่อยากทำก็ทำ อ้างอิง อะไรที่ไม่อยากทำก็ไม่ทำ ไม่พูดถึง และหลบเลี่ยงเจตนารมณ์นั้นไปด้วยกุศโลบายแบบศรีธนญชัยแปลงสาร

นี่คือประเด็นหลัก ๆ ที่ผมใช้เวลาประมาณ 40 นาทีแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯชัดท่านอาจารย์วิชา มหาคุณเมื่อเวลา 15.15 น.วานนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาคาร 3 เทเวศร์

คณะกรรมการจะมีข้อสังเกตรายงานท่านนายกรัฐมนตรีหรือไม่ประการใดสุดแท้แต่วิจารณญาณของท่าน ส่วนผมก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา