ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ‘ฉบับปฏิลวง’ ถ่วงเวลาปฏิรูปที่แท้จริง

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ‘ฉบับปฏิลวง’ ถ่วงเวลาปฏิรูปที่แท้จริง

ยุติธรรมวิวัฒน์
         

      ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับปฏิลวงถ่วงเวลาปฏิรูปที่แท้จริง

 

                                      พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ไม่มีใครเข้าใจว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกรงใจอะไร พวกนายพลตำรวจ หนักหนา? หรือว่า เข้าใจผิดต่อสาเหตุของปัญหาตำรวจในเรื่องอะไร?

อาจเป็นได้ว่า น่าจะหลงตามคำเท็จ เรื่องเงินเดือนน้อย ค่าตอบแทนต่ำ งบประมาณจำกัด ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ไม่พอใช้ ทำให้ขวัญและกำลังใจของตำรวจผู้น้อยถดถอย?

จึงได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป กว่า 7 ปี หลังจากที่ได้ยึดอำนาจ โดยที่ยังไม่ได้จัดการปัญหา หรือว่าดำเนินการปฏิรูปตำรวจและระบบงานสอบสวนอะไรตามเสียงเรียกร้องของ ประชาชนและตำรวจผู้น้อย อย่างแท้จริงเลย

นอกจากเน้นการเพิ่มตำแหน่ง หน่วยงาน รวมทั้งงบประมาณเพื่อการจัดซื้อจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์โน่นนี่ให้ ตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ร้องขออย่างไม่หยุดหย่อน!

แต่ปัญหาประชาชนเดือดร้อนจากการที่พนักงานสอบสวน ถูกสั่งไม่ให้รับแจ้งความออกเลขคดี เพื่อที่จะได้ไม่ปรากฏสถิติอาชญากรรมและต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการตรวจสอบควบคุมตามกฎหมาย

ก็ยังคงเกิดขึ้นมากมายในแทบทุกสถานีที่มีการพัฒนาให้สวยงามและทันสมัยในทางกายภาพทั่วประเทศ!

การ ทุจริตฉ้อฉลรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่ จากแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิงเริงรมย์ บ่อนการพนัน ตู้ม้า และผู้ประกอบธุรกิจรถบรรทุก สารพัด ก็ยังกระทำกันเป็นปกติ!

โดยที่ตำรวจสารพัดหน่วยซึ่งรัฐและประชาชนได้ใช้งบประมาณจำนวนมากจัดตั้งขึ้นมากมาย และออกกฎหมายให้มีอำนาจจับกุมและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานหาผู้กระทำผิด รวมทั้ง ขบวนการผู้อยู่เบื้องหลังที่ถือเป็นองค์กรอาชญากรรม ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนแต่อย่างใด

ประชาชนต้องร้องเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ หรือชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองนำกำลัง อส. ไปตรวจตราจับกุมแทนตลอดมากว่า 7 ปี

เหตุการณ์ ผู้กองปูเค็ม หรือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล   นายทหารนอกจากราชการได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและอาสาไปแก้ปัญหาตู้ม้าและตู้สลอต ซึ่ง ตั้งอยู่ที่สถานีขนส่งรถโดยสาร อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

หลังจากที่ได้ไลฟ์สดและแจ้งให้ตำรวจมาจับยกตู้สลอตไปแล้ว ตนเองกลับถูกกลุ่ม ทรชนนับสิบคนดักรุมกระทืบทำร้ายจนปางตาย!

นอกจากการส่งกระเช้าผลไม้ไปเยี่ยมผู้กองปูเค็มที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว

ก็ยังไม่ได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดว่า ผบก.ตำรวจจังหวัด ผบช.ตร.ภาค ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ซึ่งมีอยู่มากมาย แม้กระทั่ง ผบ.ตร.หายไปไหน?

ทำไมจึงไม่ได้ตรวจสอบหรือควบคุมให้แต่ละหน่วยจับกุมปราบปรามตามหน้าที่ของตน?

ปัญหา เครื่องจักรการพนัน ตู้ม้าและตู้สลอต ดูดเงินเด็กเยาวชนและคนยากจน หาเช้ากินค่ำมาอย่างยาวนานทั่วประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา กว่าสิบปีนี้!

ประชาชนและตำรวจส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่ามีใครเป็นเจ้าของ รวมทั้ง นายพลตำรวจ กลุ่มใดอยู่เบื้องหลัง!

การจัดการกับปัญหาเช่นนี้ อันที่จริงถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง

และในการแก้ปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายหรือรอให้มีการปฏิรูปตำรวจอะไร

ท่านสามารถ พูดออกสื่อ หรือเขียน “หนังสือสั่งการ” สองสามบรรทัดได้ง่ายๆ เพื่อจะทำให้สิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้หายไปในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น!

สำหรับความคืบหน้าในการปฏิรูปตำรวจ ตามสัญญา!

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแทนฉบับคณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างขึ้น ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ซึ่งในร่างฉบับมีชัย แม้จะไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจอะไรที่แท้จริง เนื่องจากยังไม่ปรากฏโครงสร้างสำคัญเรื่อง ตำรวจจังหวัด

ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผ่าน “คณะกรรมการตำรวจจังหวัด” ตามหลักสากล และ สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชนและตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้สายการบังคับบัญชาตำรวจสั้นลงโดยจบที่จังหวัดเท่านั้น

แต่การปฏิรูปเพียงแค่ตามร่างของนายมีชัย สุดท้ายก็ยังไม่สามารถผ่านไปถึงสภาได้

ร่างที่ตำรวจผู้ใหญ่เสนอดังกล่าว จึงถือว่าไม่มีที่มาที่ไปตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 260  ที่ให้การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยจำกัดสัดส่วนผู้เป็นตำรวจไว้ เพื่อไม่ให้มีบทบาทในการครอบงำทิศทางปฏิรูปเช่นที่ผ่านมา

และสาระสำคัญตามร่างฉบับมีชัยได้ถูกตำรวจผู้ใหญ่แก้ไขและตัดออกไปหลายประเด็น เช่น

องค์ประกอบของ คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ  ตามร่างฉบับมีชัย ในมาตรา 15 ให้ยุบ ก.ตช. และ ก.ตร. รวมเข้าด้วยกัน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร.ฝ่ายป้องกัน สอบสวน บริหาร และจเรตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย  ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  อดีตตำรวจระดับ ผบช.ขึ้นไปห้าคน

และบุคคลภายนอกสามคนที่ ผ่านการเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนร่วมเป็นกรรมการ

กลับถูกแก้ไขในมาตรา 14 ให้ ผบ.ตร. เป็นรองประธานและ รอง ผบ.ตร.ทุกคน จเรตำรวจแห่งชาติ  เป็นกรรมการ ซ้ำยัง ลดสัดส่วนของอดีตตำรวจระดับ  ผบช.ขึ้นไปที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจเหลือเพียง 3 คน

การกำหนดให้ ผบ.ตร.เป็นรองประธาน ก.ตร. แทนที่จะเป็นอัยการสูงสุดหรือปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีฐานะเป็นเพียงกรรมการนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมราชการที่ถือว่าทั้งสองตำแหน่งมีสถานะสูงกว่า ผบ.ตร. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงฐานะความเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา รวมทั้งอำนาจในการสั่งคดีที่ ผบ.ตร.ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

นอกจากนั้นสิทธิในการเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน  ที่กำหนดให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนมีสิทธิเลือก  ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการให้มีส่วนร่วมของตำรวจส่วนใหญ่

ก็กลับถูกแก้ไขให้เป็นตำรวจระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป เป็นการตัดสิทธิของตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรถึงสารวัตรทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวน รวมกว่าห้าหมื่นคนอย่างไม่มีเหตุผล และไม่สามารถสะท้อนความต้องการของตำรวจที่ส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริงเท่าร่างเดิม

ที่สำคัญ องค์ประกอบของ ก.ตร.ที่มีสัดส่วนของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการถึง 9 คนจาก 18 คนดังกล่าว โดยเฉพาะ รอง ผบ.ตร.ทุกคนซึ่งมีฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. โดยตรง

จะส่งผลทำให้การออกกฎและระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจหลายเรื่องที่ถูกร่างฉบับ แปลงสาร ดังกล่าวกำหนดให้กระทำโดยมติ ก.ตร. เช่น ให้ตำรวจบางหน่วยไม่มียศ การโอนตำรวจเฉพาะทางกว่าสิบหน่วย เช่น งานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เป็นไปได้ยาก

และเรื่องสำคัญคือ การแยก งานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหากงานตำรวจ  ป้องกันการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่ายเช่นที่เป็นปัญหาอยู่ปัจจุบัน

ก็ถูกตัดออกไปพร้อมกับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจแต่ละคนโดยภาคประชาชน ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีจึงควรใช้ความกล้าหาญและเด็ดขาดในการปฏิรูปตำรวจ

โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่คณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้วมากมายแม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง เสนอต่อสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

แทน  “ฉบับปฏิลวงถ่วงเวลา” ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปตามกฎหมาย

 และไม่ได้เป็นการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แท้จริงแต่อย่างใด

ร่างพรบ.ตำรวจ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 21 ก.ย. 2563