ถูกแปลงสาร!’คำนูณ’แฉร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ

ถูกแปลงสาร!’คำนูณ’แฉร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา  โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง ร่างกฎหมายตำรวจใหม่ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ ? มีเนื้อหาดังนี้

วันนี้ (15 กันยายน) มีความคืบหน้าสำคัญเรื่องการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ

แต่อย่าเพิ่งดีใจ !

เพราะแม้คณะรัฐมนตรีกำลังจะมีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ โดยจะส่งมายังรัฐสภาในไม่ช้า คาดว่าจะพิจารณาได้ในสมัยประชุมหน้า แต่เราควรต้องดูเนื้อหากันให้ดี ๆ ว่าได้ถูกแปลงสารไปจากร่างเดิมจากคณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์มากน้อยแค่ไหน และตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง (4) หรือไม่

เพราะล่าสุดเมื่อ 15 มิถุนายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนังสือคัดค้านมา 8 หน้า 14 ประเด็น จนกระทั่งมีการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 30 มิถุนายน มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเสนอขอแก้ไขมาภายใน 10 วัน ได้อ่านบันทึกการประชุมครั้งนั้นแล้วจึงเกิดความไม่สบายใจและสังหรณ์ใจ เพราะมีระบุว่าให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปรับเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่มีอยู่แล้วลงไปในร่างฯ

สุดท้ายเท่าที่ผมแอบทราบมา ปรากฏว่าร่างฯที่เข้าคณะรัฐมนตรีถูกแปลงสารไปจนได้

แม้ไม่มากนักแต่กระทบสาระสำคัญ

และมีแนวโน้มที่จะไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ยังไม่เห็นร่างฯทั้งหมด วันนี้ขอชี้ให้เห็นเพียงประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย

สรุปสารัตถะรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง (4) สั้น ๆ ง่าย ๆ ก็ตามภาพประกอบข้อเขียนนี้ โดยเฉพาะย่อหน้าสุดท้ายข้างล่าง

“ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน…”

คำว่า ‘ประกอบกัน’ หมายถึงว่าทุกคนที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องมีทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถ แต่จะออกแบบให้มีการชั่งน้ำหนักอย่างไรเป็นหน้าที่ของกฎหมายที่จะร่างขึ้นมา ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ชุดที่ 1 เมื่อปี 2561 ได้ออกแบบ ‘ระบบคะแนนประจำตัว’ ขึ้นมาในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ก่อนถูกแปลงสาร ให้ข้าราชการตำรวจทุกคนมีคะแนนประจำตัว 3 ส่วน ดังนี้

– อาวุโส 50 %

– ความรู้ความสามารถ 20 %

– ความพึงพอใจของประชาชน 30 %

จำนวนเปอร์เซ็นต์ขององค์ประกอบทั้งสามมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ชุดที่ 2 ปี 2562 แต่หลักการคงเดิม

อาวุโสก็หมายถึงอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ นานกว่าคนอื่น ถ้าอยู่นานสุดก็ได้คะแนนเต็ม นานรองลงไปแต่ละปีก็ได้คะแนนลดหลั่นกันลงไป ความรู้ความสามารถก็ขึ้นอยู่กับผลงานและอื่น ๆ ตามที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง ส่วนความพึงพอใจของประชาชนนั้นได้กำหนดให้หน่วยงานภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สำรวจการทำงานของตำรวจแต่ละหน่วยงาน ได้คะแนนเท่าไรก็ถือเป็นคะแนนที่ตำรวจในหน่วยนั้นได้เท่ากัน

คะแนนประจำตัวนี้ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องรับรู้ และสามารถคัดค้านได้ โดยมีระบบการพิจารณาตัดสินกำหนดไว้ชัดเจน

และให้จัดทำบัญชีเรียงลำดับไว้

ทั้งหมดนี้ผู้ร่างกฎหมายเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายน้อยลง การวิ่งเต้นน้อยลง เพราะกฎเกณฑ์เหล่านี้เขียนไว้ในกฎหมายหลัก และตำรวจทุกคนรับรู้คะแนนประตัวและลำดับของตนเอง การวิ่งเต้นหรือเสนออามิสเพื่อไม่ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์นี้จะทำได้ยาก

แต่ก็ไม่ได้เป็นการตัดอำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาเสียทีเดียว

คะแนนความรู้ความสามารถนั่นแหละที่ยังเปิดช่องไว้พอสมควรให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจได้

นี่เป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์อย่างยิ่ง

น่าเสียดายที่นวัตกรรมนี้จะไม่มีโอกาสมาถึงรัฐสภาหากคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามร่างแปลงสาร

เพราะร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ถูกแปลงสารไปเรียบร้อย ไม่ใช่ร่างเดิมที่มาจากคณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ทั้ง 2 ชุด ไม่ใช่ร่างที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

การแต่งตั้งโยกย้ายตามร่างแปลงสารออกมาเป็นประมาณนี้….

(1) ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส

(2) ระดับผู้บัญชาการและจเรตำรวจลงมาถึงผู้บังคับการ ให้พิจารณาจากผู้เหมาะสมเรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับ

(3) ระดับรองผู้บังคับการลงมาถึงสารวัตร ให้พิจารณาเรียงตามอาวุโสจำนวนร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับตำแหน่งของส่วนราชการ

(4) จำนวนตำแหน่งที่ว่างที่เหลือจากการพิจารณาตามข้อ (2) และ (3) ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน

ผมว่าไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญนะครับ

คำในรัฐธรรมนูญว่า ‘…โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน’ นั้นผมอ่านและเข้าใจว่าหมายถึงการแต่งตั้งโยกย้ายเข้าไปในทุกตำแหน่งที่ว่าง

ไม่ใช่แบ่งแยกเป็นกอง ๆ กัน เป็นกองอาวุโสล้วน ๆ ร้อยละ 50 หรือ 33 ที่เหลือจึงเป็นกองอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน

ไอ้ตรง ‘ความรู้ความสามารถ’ หรือ ‘ความเหมาะสม’ นี่แหละที่เป็นปัญหามาโดยตลอด

เปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณามาโดยตลอด

เปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นมาโดยตลอด

แล้วจะเห็นได้ว่ากอง ‘อาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน’ เป็นกองโตที่สุด เพราะใช้กับตำแหน่งที่ว่างลงในระดับผู้บังคับการลงมาถึงสารวัตร

ถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามร่างฯแปลงสารนี้ปัญหาจึงจะยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยพื้นฐาน

ที่สำคัญ ไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจสูงสุด ถึงขนาดแยกบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญเลย และกำหนดให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด โดยมีบทเร่งรัดกึ่งลงโทษกำกับไว้ด้วย

แต่รัฐบาลก็ยังอุตส่าห์ทำไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ !

แล้วจะตั้งกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายตั้ง 2 ชุด 3 ชุดทำไม ใช้เวลารวมกว่า 3 ปีไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายต้องกลับมาถามตำรวจ แล้วก็ทำตามข้อเสนอของตำรวจในสาระสำคัญ ?