นักวิชาการกฎหมายรุมสับกระบวนการยุติธรรมไทยสุดเน่าเกินเยียวยายัดข้อหาแบบมักง่ายจี้รัฐเร่งปฏิรูปงานสอบสวน

นักวิชาการกฎหมายรุมสับกระบวนการยุติธรรมไทยสุดเน่าเกินเยียวยายัดข้อหาแบบมักง่ายจี้รัฐเร่งปฏิรูปงานสอบสวน

 

นักวิชาการกฎหมายรุมสับ  “กระบวนการยุติธรรมไทยสุดเน่าเกินเยียวยา” กลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินกลั่นแกล้งประชาชนของตำรวจ  “ความเร็วยังถูกเปลี่ยนได้”  ยัดข้อหาแบบมักง่ายๆ ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นแพะกันมากมาย  แต่คนร้ายกลับลอยนวล”  จี้รัฐต้องเร่งปฏิรูปสร้างระบบตรวจสอบการสอบสวน อัยการต้องเห็นที่เกิดเหตุคดีสำคัญ บันทึกภาพและเสียงคำให้การเป็นหลักฐาน“ฤทธิชัย”หนุ่มใหญ่จากจ.สมุทรสงคราม ยืนยันตนเองเป็นแพะถูกออกหมายจับในคดีฆ่าคนตาย  ทั้งๆ ที่อยู่ในค่ายบำบัดยาเสพติด มีคนรู้เห็นเป็นพยานมากมาย แต่ตำรวจกลับไม่เชื่อ แม้แต่ใครเป็นคนร้ายที่ตนไปร่วมฆ่าก็ระบุไม่ได้ แล้วตนไปร่วมฆ่ากับใคร ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน? “อภิชาติ  ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย  กล่าวด้วยความคับแค้นใจว่า  ปัจจุบันผู้ประกอบการทุกคนแม้แต่ตนก็ต้องจ่ายส่วยให้ตำรวจอยู่ตลอดเหมือนถูกปล้นกลางแดด  ไม่งั้นถูกกลั่นแกล้งตั้งด่านตรวจค้นจับกุมสารพัดข้อหา ทำมาหากินไม่ได้  แม้แต่ลูกชายจบปริญญาด้านโลจิสติกส์จากต่างประเทศ ก็ยังปฏิเสธที่จะดำเนินกิจการต่อ

 

เมื่อวันที่ 5ก.ย.2563 Innocence International Thailand ร่วมกับสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิธรรมาภิบาลแห่งเอเชีย (AGF) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (CPG)  จัดงานเสวนา “สังคายนากระบวนการยุติธรรม” – “คืนความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ “ณ True Icon Hall.(7 Floor) Icon Siam Bangkok

โดยช่วงเช้า Mr.Lo Shin-Hsiang Representative from Innocence Taiwan เล่าประสบการณ์จากประเทศไต้หวัน  การช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาต้องโทษประหารชีวิต มีการจัดงานรณรงค์หลายรูปแบบ เช่น จัดงานวันเกิด การเขียนโปสเตอร์ทุกวัน one day on Postcard since 2018 จัดสัมมนา นำรูปของเคสมาวางไว้ในเวทีเสวนา จนเคสของคุณหงฯ เริ่มเป็นที่รับรู้มากขึ้น แล้วก็เข้าสู่กระบวนการรื้อฟื้นคดีจากการทำเรื่องร้องเรียนประมาณเดือนกันยายน ปี 2018  อัยการเริ่มเห็นหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า คุณหง เป็นผู้บริสุทธิ์ จึงเริ่มสืบสวนสอบสวนใหม่ คดีนี้จึงเป็นคดีที่สองของประเทศไต้หวันที่มีการรื้อฟื้นคดี

คุณหงใช้เวลาในห้องกักสำหรับนักโทษประหารชีวิต 18 ปี กว่าจะมีการรื้อฟื้นคดีในปี2016 มีเหตุผลสำคัญในการรื้อฟื้นคดีว่า ไม่มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบสวน แต่แปลกมากที่ศาลจะเชื่อคำสารภาพของเขา ในกฎหมายไต้หวัน มีระบบการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวนแล้ว เหตุผลที่สอง คือจำเลยร่วมในคดีนี้ สารภาพว่าเขาได้ทำความผิดร่วมกัน แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ขัดแย้งกับคำสารภาพของจำเลยร่วมคนนี้ และก็ไม่มีหลักฐานอื่น เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เชื่อมโยงกับคุณหง

การรื้อฟื้นคดีใหม่ไม่ง่ายในระบบกฎหมายใดใด คดีนี้เป็นคดีที่สองเท่านั้นในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน คดีแรกCheng, 2016คดีของ Hsieh , 2019 เป็นคดีที่สอง  การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและสื่อทำให้เคสของทั้ง Cheng และHsieh หวังว่าจะมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นอีกโดยอัยการ กลายเป็นบรรทัดฐานของระบบกฎหมายของไต้หวัน และน่าจะนำไปทำกับคดีที่คืนความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ได้อีกหลายคดี

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จ.สุพรรณบุรี ผู้ก่อตั้ง innocence project ประเทศไทย   กล่าวว่า  เราทำงานกับประเทศอื่นๆด้วยเช่น ไต้หวัน กับญี่ปุ่น ในวันนี้ ในนาม innocence project เราทำงานในฐานะอัยการ ด้วยประสบการณ์การอ่านสำนวนทำให้เราคิดว่า จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์จากการกระทำในกระบวนการยุติธรรมด้วยอำนาจหน้าที่ของอัยการ แต่การทำงานแบบทำได้ไม่มากนัก  จึงมีการจัดตั้งกลุ่ม  innocence project ประเทศไทยประสานงานกลุ่มของไต้หวันและญี่ปุ่น

 

จากนั้น มีการนำเสนอคดีของทีมงาน innocence project กรณียายรอด  ยิ้มแก้ว อายุ 74 ปี ชาวจ.สุโขทัย ถูกจับกุมคดียาเสพติดโดยที่ยายรอดไม่ได้ทำผิดและไม่รู้เรื่องอะไรเลย  ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี  แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

อัยการน้ำแท้  ให้ความเห็นว่า “ การสอบสวนต้องถูกตรวจสอบ เพราะมีหลายคดีพนักงานสอบสวนไม่ต้องการทำความจริงปรากฏ และไม่ต้องการสอบพยานจะเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”   ตามหลักกระบวนการยุติธรรมสากล  อัยการจะฟ้องคดีก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า จะสามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาให้ศาลพิพากษาลงโทษได้ ถ้าพยานหลักฐานไม่ชัดเจน 100%จะต้องสั่งไม่ฟ้อง เพราะจะทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อศาลยกฟ้องคนผิดก็ลอยนวล ไม่สามารถฟ้องคดีใหม่ได้”

 

นพ.กฤติน  มีวุฒิสม หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.ระนอง เล่าประสบการณ์ เรื่อง คดีสามร้อยยอด  มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพราะต้องการคำรับสารภาพ  จำเลยที่หนึ่ง ถูกคลุมถุงพลาสติกจนไม่สามารถหายใจได้  การทรมานไม่มีบาดแผลใดๆเลย เมื่อสารภาพแล้วถูกส่งเข้าเรือนจำ  การตรวจก็ไม่พบบาดแผลร่องรอย  ทำให้ศาลนำข้อเท็จจริงนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาว่า ไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน

ส่วนคดี ฆ่าซินแสคี้ ที่นครปฐม  ทาง IIT ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยได้รับข้อมูลจากญาติและสื่อมวลชนเชื่อว่า หลักฐานที่เป็นไปได้มากกว่าคือการกระโดดลงรถแล้วตกลงน้ำไปเอง ทำให้ต้องมีการสืบสวนเพิ่มเติมจากหลักฐานกล้องวงจรปิด และการวัดระยะความลึกของบ่อน้ำที่เกิดเหตุ Google earth ระบุว่าการขับรถของกลุ่มผู้ต้องหาฯ  หากพาผู้ตายไปตี ขับรถไปก็ใช้เวลา 5 นาทีจะไม่มีเวลานำผู้ตายไปตีแล้วโยนลงน้ำ   คดีนี้ได้ดำเนินขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการ ฯ แต่ไม่ได้รับการสอบสวนเพิ่มเติม ตามมาตรา 121 ที่ต้องดำเนินการเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ขอปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถออกมาค้นหาพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาได้เลย

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

นพ.กฤติน กล่าวด้วยว่า ในการสอบสวนมีการนำหลักฐานบางส่วนมาใช้ ไม่ได้นำมาทั้งหมด แพทย์บอกว่า การถูกของแข็งมากระทบ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นการถูกตีตามรายงานสอบสวนของตำรวจ การจมน้ำเสียชีวิตเกิดขึ้นหลังจากที่กระโดดลงจากรถ ตำรวจมักไม่สนใจคำให้การของแพทย์นิติเวช ตำรวจมักเลือกที่จะทำสำนวนไปตามความคิดของเขาเอง  นางฟ้าอยู่ในหลักการ ซาตานอยู่ในสำนวน” 

 

การเสวนาช่วงบ่าย  โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้ถาม พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน  เรื่องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส เรื่อง  “ห้องเปลี่ยนความเร็ว” ทำงานอย่างไร?  ระบบงานพิสูจน์หลักฐานมีปัญหาอะไร และต้องปฏิรูปอย่างไร?

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ กล่าวว่า เหตุคดีบอส ตนเป็นคนตรวจบันทึกวัดระยะในที่เกิดเหตุเมื่อปี 2555  แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำรายงาน  มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ฯ ที่เป็นผู้คำนวณความเร็วรถ ได้เปลี่ยนคำให้การเรื่องความเร็วรถของนายวรยุทธ ทั้งที่ได้ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ไปแล้ว แต่กลับมาเปลี่ยนแปลงในภายหลังนั้น ซึ่งตนไม่เคยเห็นกรณีเช่นนี้มาก่อน ชี้ให้เห็นว่าคดีนี้มีความผิดปกติ  ควรมีการแก้ไขในกฎหมายในเรื่องการสอบสวนและการพิสูจน์หลักฐานที่รวบอำนาจไว้ที่ตำรวจ ต้องกระจายไปสู่หลายภาคส่วน ไม่ใช่จบในหน่วยงานเดียว

การทำงานในฐานะนักการเมืองมีการตรวจสอบ งานสอบสวนและพิสูจน์หลักฐานก็เช่นเดียวกัน  ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ต้องถูกกำหนดให้จดบันทึก ถ่ายภาพและทำตามขั้นตอน จะทำให้บิดเบือนได้ยาก  เช่นกรณีของบอส ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้วทำให้บิดพลิ้วได้ยาก  เมื่อกระทำก็เกิดปัญหา การตรวจสอบต้องกระทำโดยหน่วยงานที่มีอำนาจและเป็นของประชาชน   ข้อเท็จจริงต้องเปิดเผยให้มากที่สุด

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

เห็นด้วยว่าการสอบสวนต้องมีการบันทึกภาพและเสียง และการเก็บบันทึกควรเก็บไว้ใน   Server   กลางด้วย  ไม่ใช่เก็บไว้กับพนักงานสอบสวนคนนั้นคนเดียว   ต้องนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบกระบวนการต่างๆได้ ต้องจัดทำ KPI   กรณีมีสมุดบันทึกประจำวันมีสองเล่ม เล่มที่ใช้จริงและเล่มที่ไม่ใช้จริง   หรือไม่ใส่เลขคดี ต้องไม่มี คดีเยอะ ก็ต้องมีสถิติปรากฏ เพราะจะทำให้เราจะได้เห็นปัญหา สายการบังคับบัญชาของตำรวจซับซ้อนมาก เมื่อไม่ชัดเจนทำให้หลายส่วนมากดดันการทำงานได้ง่าย เช่นผู้ปฏิบัติงานกลัวถูกสั่งย้ายไปสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น  เราแต่ละคนไม่ได้มีต้นทุนเท่ากัน แรงกดดันที่มีอยู่ก็ทนทานได้ไม่เท่ากัน   ข้อเสนอคือต้องกระจายอำนาจทั้งในส่วนของตำรวจและการสอบสวน

 

ดร.ธนัทเทพ เธียรประสิทธิ์ คณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า  มีคำพูดชุดหนึ่งสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้ดีว่า  “กฎหมายเหมือนกับใยแมงมุม จับได้กับแมลงตัวเล็กเท่านั้น มันจะอ่อนแอเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้มีฐานะหรือมีกำลัง” จากนักปราชญ์ กล่าวไว้ 2600 ปีที่แล้ว

การบันทึกการสอบสวนปากคำบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีมาหลายสิบปีแล้ว แรกๆ ก็มีการต่อต้านกัน ต่อมากลายเป็นอยากให้มี เพราะเป็นการป้องกันตนเองของผู้ปฏิบัติที่ทำงานด้วยความสุจริตด้วย แต่ก็ต้องเก็บไว้อย่างดีใน   server กลาง จริงๆ แล้วมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี   2540  สำหรับในของศาล แต่อาจยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง

 

ดร.รัฐวิช จิตรสุจริตวงศ์ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง กล่าวว่า ฝ่ายปกครองทำหน้าที่ตรวจสอบการสอบสวนในส่วนภูมิภาคที่มีปัญหามานานแล้ว แต่ในปี  2556  มีคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอตามได้รับแจ้งตามอำนาจของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ออกตาม ป.วิ อาญา  ทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชนอย่างมาก  หลังยึดอำนาจในปี ๒๕๕๗ ก็มีปัญหาเรื่องการทำความเห็นแย้งที่เดิมเป็นอำนาจของ ผวจ. ก็กลายเป็นของผู้บัญชาการตำรวจภาค  ก็ก่อให้เกิดความสับสนว่า สรุปแล้วฝ่ายปกครองมีหน้าที่อย่างไรบ้างในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ปัจจุบันนี้ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีการสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการให้ความเป็นธรรมทั้งระบบ  ในระดับจังหวัด ฝ่ายปกครองเป็นส่วนสำคัญ เช่น  บทบาทของศูนย์ดำรงธรรมในการให้ความช่วยเหลือตามหนังสือร้องเรียน ตามช่องทางในป.วิอาญาฝ่ายปกครองก็มีหน้าที่สำคัญในการสอบสวนด้วย เช่น ร่วมชันสูตรพลิกศพสี่ฝ่าย  ส่วนตัวทำงานด้านนี้มาตลอดและให้ความสำคัญกับเรื่อง Check & Balance  มีผู้ว่าราชการจังหวัด  77 จังหวัดมีนายอำเภอ 887 มีกำนัน 7,000 ตำบลมีผู้ใหญ่ บ้าน 80,000 หมู่บ้าน  น่าจะต้องมาแสวงหาแนวทางการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองได้อย่างไรในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

 

นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์  สื่อมวลชน กล่าวว่า ในฐานะสื่อคิดว่าเรามีความหวัง รัฐบาลได้อำนาจมาแบบพิเศษ อยู่อำนาจมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีการปฏิรูปใดๆ เลย รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจ  ที่มักจะมีข้อสรุปเป็นหนังสือหรือรายงานสรุป   แต่เราก็ไม่ท้อ ต้องทำต่อ ที่เรียกร้องการปฏิรูปก็เพราะกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา  เราเห็นภาพชัดในเชิงกรณีซึ่งทุกคนยอมรับว่ามีปัญหา แต่กลับแก้ไม่ได้  ที่แก้ไม่ได้เพราะไม่เก่ง ทำไม่เป็น หรือว่าไม่อยากแก้    เหมือนกับว่า ไม่อยากจะแก้ ข้อเสนอ มีหลายประการที่ดี แต่ก็ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ  หรือว่าเราต้องอยู่เป็น  เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรมในยุคนี้ได้หรือไม่อย่างไร   ถ้าแก้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องอยู่กันแบบนี้

ปัญหาเรื่องความยุติธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผิน มักจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทางลึกหรือฐานล่าง การลากปืนไปไล่ยิงคน ก็เกิดขึ้นแล้ว แล้วเราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร เราจะมีหนทางนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร ผมรับข้อมูล มีคนมาร้องเรียนมากมาย ทำงานมาสิบปี ยี่สิบปี ก็ยังเป็นเรื่องร้องเรียนเดิมๆ

 

นายนิกร วีสเพ็ญ ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า ทนายความทั่วประเทศมี 50,000 คน ตนไม่ได้เป็นตัวแทนของทนายความ แต่เป็นประธาน สสส. ในฐานะนักกฎหมาย ทำงานรณรงค์แก้ไขกฎหมายมา 40 ปี  เราจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ มีข้อค้นพบเหมือนกันว่า บทบาทของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม แบ่งแยกอำนาจกัน แต่ไม่ถ่วงดุลกัน   ทำอย่างไรจึงจะดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมได้จริง  เช่น บทบาทของสื่อ บทบาทของอัยการ เป็นต้น

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

กรณีบ่อนพระราม   3 ก็มีการแสดงให้สังคมเห็นว่า มีอะไรเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย  การทำลายพยานหลักฐานเกิดขึ้นมาตลอด แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ การทำสำนวนของตำรวจโดยพนักงานอัยการไม่มีส่วนร่วมเลยเช่นปัจจุบันนี้ถูกต้องแล้วหรือ  ตำรวจส่งสำนวนให้พนักงานอัยการใกล้กำหนดเวลาฝากขัง 84 วัน อัยการก็ต้องสั่งฟ้อง ศาลก็ต้องรับไว้   ศาลมักจะกล่าวว่า รับฟังไปตามคำให้การตามสำนวนฯ ไม่มีอำนาจไปการค้นหาความจริงอะไรได้มากนัก อาจต้องปฏิรูปเป็นระบบไต่สวนหรือไม่    ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่เร่งด่วนคือการทำอย่างไรให้มีการถ่วงดุลระหว่างกันได้อย่างแท้จริง

 

 ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องและกำลังรอการแก้ไข สิ่งที่อยากจะพูดเรื่องการสังคายนากระบวนการยุติธรรม   ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษานิติศาสตร์น่าจะมีความผิดพลาดที่สอนแต่เฉพาะอาญาและวิ อาญา แยกกัน หลักกฎหมายวิอาญา หมายถึงการทำงานเพื่อให้เกิดความจริงแท้ นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ จนถึงวันพิจารณาคดีของศาลได้อย่างไร ไม่ใช่  หัวกับหางอยู่ในหน่วยงานเดียว  เป็นไปได้อย่างไรในกระบวนการยุติธรรม

อย่างกรมราชทัณฑ์ ไม่ค่อยมีคนสนใจเลย ต้องดูกันทั้งระบบ ควรจะลดอำนาจของตำรวจลง และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกันกับฝ่ายปกครอง สำหรับหน้าที่สอบสวนควรเป็นของพนักงานอัยการเพื่อลดอิทธิพลของภายนอก คนวิ่งคดี สังคมอุปถัมภ์ จะสังคายนาอย่างไร ที่จะไม่ให้วัฒนธรรมแบบนี้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม

ตำรวจต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของพนักงานอัยการฯ ในการสอบสวน  ต้องทำสำนวนเอาข้อเท็จจริงเข้าสำนวนให้หมดทั้งที่เป็นบวกและลบต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไปพร้อมกัน  อัยการต้องตรวจสอบเรื่องการออกหมาย การเสนอศาลออกหมายจับต้องให้อัยการพิจารณาพยานหลักฐานก่อน          สำนักงานพิสูจน์หลักฐานต้องเป็นอิสระ ไม่ต้องส่งรายงานให้ตำรวจเร็ว ชัด และไม่ปนเปื้อน ในต่างประเทศ ตำรวจตั้งข้อหาไปตามข้อเท็จจริง แต่อัยการจะมีหน้าที่ในการปรับบทกฎหมายให้เอง แล้วค่อยสั่งฟ้อง ไม่ใช่สั่งตามที่ตำรวจเสนอมาเท่านั้น

หลักสำคัญก็คือคือ เราไม่ส่งประชาชนเข้าคุกง่ายๆ คดียาเสพติด จับ ล่อซื้อ (ล่อให้กระทำความผิด)  70%-80% ของผู้ต้องหาคดียาเสพติดเกิดจากการล่อให้กระทำความผิด ถ้ามีสถาบันด้านกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งตรวจสอบได้จริง ก็จะไม่เกิดสิ่งแบบนี้           Social sanction เป็นสิ่งที่ดี และเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ถ้าให้อัยการสอบสวนได้เอง สามารถแถลงเปิดคดีได้ ปิดคดีได้ (ให้อัยการแถลงการณ์กำหนดโทษได้ด้วย เขียนไว้ในป.วิอาญาแต่ก็ไม่เคยได้นำมาใช้) Examine Doctrine คือการสืบค้นต้องชัดเจน การตัดสินว่าใครผิดซักคนต้องถ้วนถี่

ที่ต้องสังคายนาอีกเรื่องหนึ่งคือ คำพิพากษาของศาลต้องเปิดเผยตลอดหรือทุกคดีได้ไหม การเผยแพร่คำพิพากษาจะทำให้เกิดการตรวจสอบโดยสาธารณะได้ด้วย สังคมออนไลน์ตรวจสอบได้  งานราชทัณฑ์  ตอนนี้มีพื้นที่เพียง 100,000 คน แต่มีผู้ต้องขัง 400,000   คน มีสภาพที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนมากมาย คนที่ต้องเอาตัวไว้ในอำนาจรัฐระหว่างคดี ทำไมไปอยู่ในห้องขังที่มีอำนาจควบคุมตัวบุคคลที่ถูกตัดสินแล้ว มีการแต่งชุดนักโทษ ใส่โซ่ตรวน นั่งรับฟังการพิจารณาคดีกรณีต่อมาเกิดการยกฟ้อง ขังฟรี และไม่สามารถได้รับเงินเยียวยาจากรัฐได้

กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องไม่ทำร้ายประชาชน การมีสถานที่ให้ผู้ต้องหาระหว่างการพิจารณาคดี ให้มีศักดิ์ศรีมากกว่านี้ ในคดีบอส มีการทำอย่างเป็นขบวนการเป็นระบบ   และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแน่นอน ต้องทำอย่างไรไม่ให้อิทธิพลเข้าไปได้โดยง่ายเช่นที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหรือเงินก็ตาม

ดร.ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุด อ.วิชา มหาคุณ เปิดเผยด้วยว่า ในห้องเปลี่ยนความเร็วมีทั้งภาพและเสียงเป็นหลักฐานด้วย

 

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์  ผู้พิพากษา กล่าวว่า การทำงานด้านกระบวนการยุติธรรมในชั้นต่างๆ อาจมีอคติเกิดขึ้นได้ เช่นจะช่วยใครก่อน ระหว่างผู้เสียหาย กับจำเลยที่นั่งอยู่ต่อหน้า  แม้กระทั้งเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ กลุ่มเปราะบางในแบบต่างๆ มีอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก อาจก่อให้เกิดอคติได้ด้วย

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

การสังคายนาเกิดขึ้นได้ถึงขนาดที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนในการตัดสินคดีกับศาลได้ด้วย ทางสากลไปถึงแบบนี้แล้ว มีความเชื่อใหม่ๆ และความคิดใหม่ ๆ  เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสังคม  หรือเช่น อัยการศาลในต่างประเทศมีการเลือกตั้งเข้ามา  ไม่ใช่การแต่งตั้ง  ประชาชนต้องมีที่ยืนในกระบวนการยุติธรรม  เราทำงานวิชาการน้อยมาก เราต้องเริ่มที่จะทำงานวิจัยให้ชัดว่าต้องการดำเนินการอย่างไร   อย่าง ก.ตร., กต.ตร. บางประเทศมีประธานสมาคมอดีตนักโทษมานั่งเป็นสมาชิกของ ก.ตร.  ในญี่ปุ่นนักข่าวมาเป็น ก.ตร. ได้ด้วย  จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องวิชาการ ไม่ใช่เรื่องการเมือง  การสังคายนาเป็นคำใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ ทำโดยคนกลุ่มเล็ก ในวันหยุด จะสำเร็จได้ไหม?

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวว่า การพิพากษายกฟ้องเป็นเรื่องหนักใจของศาล เพราะมีผู้เสียหายอยู่ตรงหน้า แล้วปัญหาคือผู้กระทำผิดที่แท้จริงคือใคร   ส่วนการพิพากษาลงโทษก็เช่นกัน  หลายคดีที่สืบพยานไปจนหมดแล้วศาลก็ไม่แน่ใจว่ากระทำผิดจริงหรือไม่  ฉะนั้นคำรับสารภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคนนั้นด้วยความมั่นใจ  และการลดโทษสำหรับจำเลยที่รับสารภาพก็เป็นเรื่องที่ดีมีเหตุผล

 

ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง กล่าวว่า  ไม่ว่าจะเป็นระบบไต่สวนหรือระบบกล่าวหา ทั้งสองระบบก็คือระบบการค้นหาความจริงทั้งสิ้น โดย อัยการ ตำรวจ ศาล ร่วมมือกันแบบcivil law แบบทางยุโรป  หรือ common law แบบทางอังกฤษ  คืออัยการลงไปดูกับตำรวจ ได้ความจริงขึ้นมาอัยการฟ้อง แล้วไปสู้กันในศาล  ในต่างประเทศสามารถถามค้าน-ถามติงได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำเป็นต้องถามในสิ่งที่คนแรกถามไว้ด้วย

ประเทศไทยเราถ้าคนแรกไม่ได้ถามไว้คุณไปถามเรื่องนั้นไม่ได้ ก็ผมยังสงสัยอยู่  จะถามเรื่องเห็นว่าเป็นประโยชน์ไม่ได้หรืออย่างไร  นี่คือเรื่องหนึ่งที่กฎหมายไทยไม่เป็นสากล   เรื่องการค้นหาความจริง เมื่อศาลอัยการค้นหาความจริง แปลว่าผู้เสียหายคุณจะได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่เกิดเหตุ  ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย มีวาทกรรมมากมาย เรื่องการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เช่น คุกมีไว้ขังคนจน  แท้ที่จริงคือระบบที่เฮงซวยนั่นเอง เพราะมันไม่ค้นหาความจริง  การค้นหาความจริงต้องกระทำ ณ ที่เกิดเหตุ ถ้าทำความจริงให้ปรากฏ ความยุติธรรม จะไม่ยากและไม่แพงเช่นปัจจุบัน

 

ช่วงเปิดให้แสดงความเห็น นายฤทธิชัย เสือเดช อายุ 39 ปี ชาวสมุทรสงคราม ผู้ต้องหาที่ยืนยันว่าตกเป็นแพะในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น  ได้เล่าเหตุการณ์ที่ตนโดนจับว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดแต่อย่างใด เหตุเกิดในปี 2558 วันที่ตนเข้าค่ายบำบัดฟื้นฟูได้3 วัน  อยู่ๆ มีตำรวจเข้ามาหาที่ค่ายบอกว่าผมเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่า ทั้งที่ผมเป็นหัวหน้าค่าย อยู่ในค่ายกับครูฝึกตลอด

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

ผมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา บอกกับตำรวจว่าถ้าผมทำต้องมีหลักฐาน เรื่องเขม่าปืน ตำรวจบอกทำไม่ทันแล้ว แต่ส่งผมเข้าคุกโดยที่ไม่มีหลักฐานการกระทำผิดใดๆ  เพื่อนในค่ายมีทั้งหมด 60 คน มีคนนอนข้างผม ครูฝึกยืนยัน ในค่ายมีทางเข้า ทางออกทางเดียว มีการเช็คชื่อ นับจำนวนคนตลอด ผมอยู่ค่ายกับเจ้าหน้าที่ตลอด  และระยะทางที่เกิดเหตุกับที่ค่ายไม่สามารถไปได้ เพราะบริเวณที่ผมอยู่มีแม่น้ำล้อมรอบ แต่ตำรวจมาจับผม ผมก็บอกว่าผมจะข้ามแม่น้ำไปยิงคนแล้วว่ายข้ามกลับมาได้อย่างไร

 

นายฤทธิชัย กล่าวทั้งน้ำตาว่า “ผมอยากจะปกป้องสิทธิ์ของของจากการกระทำที่มักง่าย ชีวิตก็มีค่า ผมเสียอิสรภาพ เสียงาน เสียทั้งเงินผมติดคุกอยู่ 3 เดือน  แม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา  ทีแรกผมคิดว่าเรื่องจบไปแล้ว ผ่านไป 4 ปีกว่า มีตำรวจหมายมาบอกว่ายังไม่จบ ผมโดนมัดมือชก ผมพยามจะพิสูจน์ตัวเอง ผมถามตำรวจว่าใครที่บอกว่าเป็นคนร่วมฆ่ากับเขาด้วย  ตำรวจก็บอกว่ายังจับตัวไม่ได้ แม้กระทั่งชื่อที่อยู่ก็ไม่รู้  แล้วสรุปว่าผมร่วมฆ่าได้อย่างไร จึงอยากมาขอความช่วยเหลือ”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวเสริมว่า คดีนายฤทธิชัย อัยการได้สั่งฟ้องแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล  ถ้ามีพยานหลักฐานแน่ชัดว่าเขาไม่ได้กระทำผิดจริง  อัยการก็น่าจะถอนฟ้องได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย และอัยการก็มักไม่ค่อยทำกัน แต่ก็มีคำถามว่าเป็นความยุติธรรมหรือไม่ในการที่ผู้บริสุทธิ์หลายคนต้องไปรอพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล  นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหากระบวนการยุติธรรมอาญาไทย

 

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สะท้อนปัญหาว่า  การตั้งด่านตรวจควันดำทำให้รถติดเป็น 10 กม.ไม่มีใครออกมาพูดถึงปัญหาหรือแสดงความรับผิดชอบ  เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งที่พวกเราได้ไปต่อทะเบียนทุกปีผ่านมาตรวจสภาพจากกรมการขนส่งมาตลอด และส่วนใหญ่เป็นรถยูโรโฟร์ ยูโรทรี อยู่แล้ว  พวกเราถูกเจ้าหน้าที่กระทำทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาตลอด  ต้องจ่ายส่วยกันทั้งนั้น เอาเงินที่ไหนมาจ่ายและทำไมต้องจ่าย  ที่จ่ายก็เพราะการขนส่งของเรามันจำเป็น แต่เขาจะตรวจทั้งคัน เช่น ป้ายสกปรกติดโคลน ก็โดนใบสั่งแล้ว แหนบหย่อน ดอกยางไม่ได้เปอร์เซ็นต์ ก็โดน  ช่วงตี 2 ตี 3 กักรถเราไว้แล้วให้ไปหา 6 โมงเช้า  เราเป็นประชาชนทำมาหากินโดยสุจริต แต่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม  โดยเฉพาะเรื่องการตั้งด่าน ผมขอตั้งคำถามว่าถูกต้องหรือไม่ ทำให้รถติดมหาศาล กฎหมายบางเรื่องก็เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ทำมาหากิน

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

“ผมมีคลิปวิดีโอ มีภาพ ที่เจ้าหน้าที่มาเรียกร้องผม บอกว่าลื้ออยากจะผ่านท้องที่นี้ต้องมาเคลียร์คันละ 500” เช่น ผมมีรถ 200 คันต้องเสียเดือนละเท่าไหร่ ผมไม่ได้ลงทุนล้านสองล้าน แต่ลงทุนเป็นพันล้าน แต่ถูกเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนี้มาตลอด  เป็นเรื่องที่ผมเบื่อหน่าย อยากจะเลิกจริงๆ ผมเป็นประธานสมาพันธ์ที่ดูแล 10 สมาคมฯทั่วประเทศ รถน้ำมัน รถทัวร์ ขนส่ง อุปโภค บริโภค  สู้มา20 ปี ก็ไม่เคยชนะเสียที อยากให้แก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ  เดี๋ยวนี้ผู้ประกอบการต่างชาติ อย่าง เคอร์รี่ หิ้วกระเป๋ามาอย่างเดียว แล้วจ้างเอาท์ซ็อสหมด ต่อไปคนไทยต้องเป็นลูกจ้าง  อย่างเรื่องควันดำ เขาเรียกว่าปล้นกันกลางแดด เขาออกใบสั่งให้ 1 ใบ 1,000บาท ให้เราถือไว้ พอเดือนใหม่ก็โดนจับอีกก็1000บาท อย่างผมมีรถ200 คันโดนจับทั้งที่ได้calibrate(การปรับเทียบมาตรฐาน)จากรมการขนส่งทางบกที่เก็บภาษีผมแต่สุดท้ายถูกตำรวจที่อยู่ริมถนนมาปล้นผม  ”นายอภิชาติ กล่าวแทนผู้ประกอบการขนส่งทั้งประเทศด้วยความคับแค้นใจ

นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า ลูกผมอุตส่าห์ส่งไปเรียนโลวจิสติกส์ถึงอังกฤษกลับมาแล้วพอมาเจอเจ้าหน้าที่กระทำกับเราเขาบอกว่าไม่ทำแล้วอาชีพอย่างนี้เลิกเหอะเขาขอถอนหุ้นส่วนออกไปเลย ผมก็เลยอึดอัดใจ ต่อไปผู้ประกอบการคนไทยจะเหลือหรือเหลือแต่ต่างประเทศ

สังคายนากระบวนการยุติธรรม

สังคายนากระบวนการยุติธรรม