‘เนตร’แจงกมธ.สั่งไม่ฟ้อง’บอส’ทำตามสำนวน’ดร.สธน’ย้ำความเร็วรถ177กม./ชม.’เพิ่มพูน’แปลกใจผู้ใต้บังคับบัญชากลับคำให้การ

‘เนตร’แจงกมธ.สั่งไม่ฟ้อง’บอส’ทำตามสำนวน’ดร.สธน’ย้ำความเร็วรถ177กม./ชม.’เพิ่มพูน’แปลกใจผู้ใต้บังคับบัญชากลับคำให้การ

เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 13 ส.ค.2563 ที่รัฐสภา  ห้องประชุม414  มีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานฯ ร่วมกับ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนและกองทุน ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ฯร่วมกันเป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส มาชี้แจงต่อกมธ.เป็นครั้งที่ 3 หลังจาก 2ครั้งแรก ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้โดยตรงไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทำให้มีการเรียกเป็นครั้งที่ 3 หากไม่มา ทางกมธ.จะใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก

 

ในการประชุมครั้งนี้นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด คนที่สั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ มาชี้แจงเป็นครั้งแรก ถือเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของนายเนตร ต่อสาธารณะชน นอกจากนี้ยังมี ฝ่ายตำรวจที่ไม่เห็นแย้งคำสั่งอัยการ คือ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. มาชี้แจงคดีนี้ด้วยตัวเอง รวมทั้ง พนักงานสอบสวนในคดีนี้ และนายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความของนายวรยุทธ และ .ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สบ. 4 กลุ่มงานตรวจเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ก็มาชี้แจงด้วย

 

โดยนายเนตร ชี้แจงว่า การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ สั่งตามที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาทั้งหมด ไม่มีข้อเท็จจริงนอกสำนวน ดุลยพินิจที่ไม่สั่งฟ้อง ไม่ได้สั่งนอกสำนวนอะไรเลย มีเอกสารหลักฐานระบุความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีไว้ชัดเจน เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ เพราะได้พิจารณาทั้งสำนวนเดิมที่มีการสั่งคดีไว้อย่างไร ครั้งแรกอัยการมีการสั่งฟ้อง ตามความเห็นของ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศในขณะนั้น)ที่บันทึกความเร็วไว้ที่ 177 กม./ชม. แต่เมื่อมีการสอบพยานใหม่หลังมีการร้องขอความเป็นธรรม พบว่าผู้ให้ความเห็นความเร็วรถคนเดิม คือ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ  มาเปลี่ยนคำให้การ ว่าไม่ใช่ 177 กม./ชม.เพราะวิธีคิดไม่ตรงกัน เมื่อคำนวณจากวิธีใหม่ ทำให้ความเร็วเหลือแค่ 79 กม./ ชม. ถือว่าไม่เกินกฎหมายกำหนด

 

ประกอบกับพยานอื่นมาสนับสนุน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ เช่น นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ยืนยันว่าความเร็วที่คำนวณจากภาพวิดีโอ  เร็วแค่เพียง 76 กม./ชม. ไม่ถึง 80 กม./ ชม.รวมทั้งมีพยาน 2 ปากที่ได้จากการสอบสวน ได้แก่ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และ นายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่าความเร็วของนายวรยุทธ ไม่ถึง 80 กม./ชม. และพบว่าผู้ตาย เปลี่ยนเลนกะทันหัน จากเลนซ้ายสุด มาขวาสุด

 

“เมื่อพยานให้การอย่างนี้ ความเร็วของรถนายวรยุทธ ไม่เกิน 80กม./ชม. ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะฉะนั้นถือว่าหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไม่พอฟ้อง นายวรยุทธ ในข้อหาความผิดฐานขับรถชนโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงสั่งไม่ฟ้อง และเสนอไปยัง ผบ.ตร เพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนประเด็นที่นายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรมมาหลายครั้ง  ทำให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมใหม่จนต้องสั่งไม่ฟ้องนั้น ยืนยันว่าตามระเบียบอัยการไม่มีกำหนดว่าจะร้องได้กี่ครั้ง เพราะเป็นสิทธิของผู้ร้องทั้งฝ่ายผู้ต้องหา และผู้เสียหาย และการพิจารณาให้ความเป็นธรรมนายวรยุทธนั้น ก็มีการพิจารณามาเป็นลำดับชั้น กรณีนี้ ทางสำนักงานกฤษฎีกาของสำนักงานอัยการ เสนอมาว่าเห็นควรพิจารณาให้ความเป็นธรรม “

 

นายเนตร กล่าวอีกว่า ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งรองอัยการสูงสุดจริงเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ในฐานะเป็นคนสั่งคดีนี้ และสังคมก็กดดันสถาบันอัยการ ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกคน จึงขอลาออกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร ที่ทำหน้าที่รับราชการเป็นอัยการอยู่ในองค์กรนี้มาแล้ว 40 ปี

 

หลังจากนายเนตรชี้แจง กรรมาธิการ ได้รุมซักถามอย่างมากว่า คดีนี้มีการปั้นพยานขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งนายเนตร ชี้แจง ว่าพยานที่ปรากฏเป็นไปตามสำนวนการสอบสวน ของพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น ไม่มีส่วนอื่นเกี่ยวข้อง

 

กมธ.ยังได้พยายามซักถาม เหตุผลที่รายงานของกมธ.กฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เข้าไปอยู่ในสำนวนการสอบสวน นายเนตร ชี้แจงว่า กระบวนการร้องขอความเป็นธรรม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนนานแล้ว ตนมาในช่วงท้าย ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้มีการดำเนินการสอบสวนพยาน ไม่ทราบรายละเอียด ไม่สามารถไปให้ความเห็นหรือก้าวล่วงได้ ความเห็นของตน สนช.ก็เป็นผู้แทนประชาชนชน เมื่อผู้แทนประชาชนส่งเรื่องมาก็ต้องมีการพิจารณาและมีการสอบสวน ไม่ใช่เอาข้อมูลจากสนช.ยุคนั้นมาพิจารณาได้เลย กรณีนี้ก็มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามปกติ และตามกระบวนการสามารถร้องใหม่ได้

 

ด้านนายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความของนายวรยุทธ ชี้แจงเสริมว่า การขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ ที่มีต่อ สนช. ยืนยันว่า รายงานของกมธ.กฎหมายฯสนช. สอบสวน ที่ส่งให้อัยการ ปกติแล้วไม่ต้องนำเข้าสำนวนก็ได้ แต่ที่มีการนำรายงานของกมธ.กฎหมายฯสนช. เข้าไปในสำนวนนั้น เป็นเพราะหลังจากนั้น เห็นว่า ในการฟ้องคดีอาญาต้องนำสำนวนที่อยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวนเท่านั้นมาพิจารณา จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมให้นำรายงานการสอบสวนของกมธ.กฎหมายฯสนช. เข้ามาเพื่อเป็นหลักฐานในสำนวน

 

จากนั้นนายสิระ ซักถามว่า สำหรับคดีนี้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าพยานใหม่ เป็นพยานที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือไม่ รวมทั้งคดีนี้มีการวิ่งเต้นหรือมีผลประโยชน์อยู่ที่ใครหรือไม่ นายเนตร ชี้แจงว่า นายจารุชาติ เป็นพยานตั้งแต่ต้น พล.อ.ท. จักรกฤช มาช่วงกลาง ซึ่งเป็นพยานที่เกิดจากการสอบสวนโดยชอบ ส่วนการพิจารณายืนยันว่าพิจารณาตามกระบวนการ  พิจารณาจากการสอบสวนทั้งสิ้น ไม่มีส่วนอื่นเกี่ยวข้อง

 

กมธ.ได้ซักถามว่า นายเนตรยินดีให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินหรือไม่ ซึ่งนายเนตร ยืนยันว่า ยินดีให้ตรวจสอบ เนื่องจากการพิจารณาคดี เป็นการสั่งคดีตามสำนวน ไม่มีเรื่องอื่นทั้งสิ้นเป็นคดีที่มาตามระบบ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายเนตรชี้แจงเสร็จสิ้น ทางกรรมาธิการได้มีมติทำหนังสือเชิญ นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. ประธานกมธ.กฎหมาย สนช. และนายวรยุทธ โดยเฉพาะนายวรยุทธ ส่งเป็นหนังสือลงทะเบียน หากไม่มาชี้แจงอีกก็จะให้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก ทั้งนี้นายสมัคร ทนายความนายวรยุทธ ได้แจงว่า ผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทาง ได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของนายวรยุทธ ทำให้นายวรยุทธ เดินทางมาชี้แจงไม่ได้ เนื่องจากหนังสือเดินทางหมดอายุ และอยู่ต่างประเทศ ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่ทางกมธ.ยืนยันให้ส่งหนังสือเชิญไปตามภูมิลำเนา ถือว่าได้รับทราบแล้ว

 

ภายหลังชี้แจงเสร็จสิ้น นายเนตร ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในทุกประเด็น กล่าวเพียงว่าภาพรวมได้ชี้แจงต่อ กมธ.ไปหมดแล้ว  เมื่อถามว่า จะไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกฎหมายที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน หรือไม่ นายเนตร กล่าวว่า ไปชี้แจงวนที่ 14 ส.ค. แต่ยังไม่ทราบเวลา และไม่ทราบรายละเอียดว่าเชิญไปชี้แจงอะไร

 

ต่อมาพ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สบ. 4 กลุ่มงานตรวจเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ชี้แจงและยอมรับว่า การคำนวณความเร็วรถครั้งแรกได้ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ที่ในสำนวนเป็น 79.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเชื่อการคำนวณของ อาจารย์สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพราะเห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง ประกอบกับมีเวลาในการพิจารณาสำนวนน้อย จึงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ

 

“แต่หลังจากนั้น ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจสอบ และพบว่าคลาดเคลื่อน ร้อยละ 46 ต่อมาได้รายงานผู้บังคับบัญชาใหม่ว่าความเร็วอยู่ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2559 จึงไม่ได้กลับคำให้การ แต่มาพบว่า ไม่ปรากฏในสำนวน ประกอบกับเข้าใจผิดว่าข้อหานี้ขาดอายุความแล้วจึงไม่ได้ตามเรื่อง และไม่เคยชี้แจงต่อกรรมาธิการของสนช. ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยได้รับคำสั่งจากใครให้วิ่งเต้นคดีนี้ ยินดีพร้อมให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน การทำคดีให้ประชาชนทำด้วยความยุติธรรมด้วยความทุ่มเทตลอดมา” พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ กล่าว

 

ส่วนดร.สธน  วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่าที่มาของความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาจากการที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีข้อตกลงร่วมกันในการตรวจพิสูจน์คดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2555 ตนได้ร่วมตรวจสอบสถานที่เพื่อวัดความเร็วของรถเฟอร์รารี่ เพื่อต้องการวัดความเร็วให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเลือกกำหนดจุดจากกล้องวงจรปิดตัวเดียวกันกับที่บันทึกภาพได้ โดยให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน 2 คน ไปอยู่คนละจุดกัน คนหนึ่งอยู่ในตำแหน่งที่รถยนต์เฟอร์รารี่เต็มคันเข้ามาในเฟรมของภาพ คนที่ 2 ยืนอยู่จุดที่รถยนต์เฟอร์รารี่ออกจากเฟรมของกล้องจนถึงขอบซ้ายสุด

 

จากนั้นทำการวัดระยะทางที่รถเคลื่อนที่จริงบนถนนที่เกิดเหตุจริง ในวันนั้นเราได้ระยะทาง 3 กม. ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกล้องวงจรปิดพบว่ารถคันนี้วิ่งเร็วกว่าคันอื่นที่อยู่บนถนนในวันเดียวกันโดยวิ่งเร็วกว่า 2 เท่า ซึ่งเป็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่ผ่านหน้ากล้องวงจรปิดจะมีเวลาผ่านหน้ากล้องไม่ถึง 1 วินาที ดังนั้น ในวันที่ 6 ก.ย. 2555 เราได้ความเร็วรถโดยประมาณแล้วว่ารถยนต์คันนี้เคลื่อนที่ด้วยระยะทาง 30 เมตร ในเวลาไม่ถึง 1 วินาที ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นอัตราความเร็วกิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วพบว่ามีความเร็ว 108 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเราแน่ใจแล้วว่ารถยนต์เฟอร์รารี่คันนี้วิ่งเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแน่นอน

 

ขณะเดียวกัน หลังจากนั้นในวันที่ 7 ก.ย. 2555 ได้รับคลิปบันทึกภาพกล้องวงจรปิดจากพนักงานสอบสวน จึงได้นำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยใช้โปรแกรม ฮีโร่ เวกเตอร์  โดยนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาแสดงทีละภาพ เพื่อพิจารณาว่าภาพรถเฟอร์รารี่ที่อยู่ด้านขวามือสุดเต็มคันจนถึงด้านซ้ายมือสุดเต็มคันทีระยะห่างเท่าใด ซึ่งวัดได้เป็นช่วงเวลาคือ 0.63 วินาที หรือน้อยกว่า 1 วินาที ซึ่งสมการที่คำนวณความเร็วคือสมการคงที่เป็นสมการเดียวโดยมีอัตราเฉลี่ยคือ ระยะทางในการเคลื่อนที่ หารด้วย เวลา เราจึงนำ 31 เมตร หารด้วยเวลา คือ 0.63 วินาที ได้ผลลัพท์มาคือ 49 เมตรต่อวินาที เมื่อเปลี่ยนเป็นความเร็วจะได้เท่ากับ 177  กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อคำนวณได้ก็ทำบันทึกส่งไปที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน

 

“โดยสาเหตุที่ไม่สามารถส่งความเห็นตรงถึงพนักงานสอบสวนได้เพราะตนเองอยู่ในฐานะที่ปรึกษาของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จึงต้องส่งเรื่องตามขั้นตอน ซึ่งได้ระบุในบันทึกว่ารถเฟอร์รารี่คันนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วระหว่าง 160-184กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ทั้งนี้ ขอยืนยันความมั่นใจในตัวเลขความเร็วที่ได้ทำการพิสูจน์และไม่ทราบถึงสาเหตุที่ตำรวจได้ทำการพิสูจน์ความเร็วของรถใหม่โดยไม่ได้มีการนำผลการพิสูจน์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ จุฬาฯ เข้าบรรจุในสำนวนการสอบสวน “ดร.สธน กล่าว

 

นายณรงค์ โพธิเกตุ ทันตแพทย์ ผู้ทำการรักษาฟันให้นายวรยุทธ ชี้แจงว่า นายวรยุทธ เข้ามาเป็นคนไข้ของตนเองเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2554 มาปรึกษาเรื่องการทำฟันเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป ครั้งสุดท้ายที่มาพบตนเองคือวันที่ 29 ส.ค. 2555 ซึ่งบริเวณที่นายวรยุทธได้ทำการครอบฟันไว้มีการขยับ ทำให้มีอาการอักเสบและบวมแดง จึงได้ทำการรักษาและจ่ายยา คือยาอะม็อกซีซิลลินในปริมาณ 500 มิลลิกรัม เพื่อให้รับประทานทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน

 

ทางด้านพล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจตั้งใจจะคลี่คลายคดี ไม่ให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัย นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา คุณพ่อสอนมาตลอดว่า ให้เป็นคนดี ยึดมั่นการทำหน้าที่อย่างสุจริตไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง ตำรวจทุกคนต้องยึดถือ ปฏิบัติเพื่ออำนวยความยุติธรรม ยึดมั่นในคำปฏิญาณมาโดยตลอดว่า จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ บังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา เพราะในทุกวันนี้ ความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อองค์กรตำรวจค่อนข้างต่ำ สิ่งเหล่านี้ หากตำรวจยึดถือปฏิบัติจะไม่มีเหตุการณ์ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น

 

พล.ต.ท.เพิ่มพูน  กล่าวว่า เหตุที่ไม่เห็นแย้งต่ออัยการ เพราะได้ดูตามสำนวนตามลำดับชั้นที่ส่งขึ้นมา และมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เห็นแย้งกับอัยการ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริต เที่ยงธรรม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่มีใครมาสั่งผม คนที่สั่งได้มีคนเดียวคือ นายชัย ชิดชอบ ซึ่งวันนี้ไม่อยู่แล้ว เมื่อมีความเห็นแล้วจึงได้ส่งสำนวนคืนเจ้าหน้าที่ และส่งไปยังอัยการต่อไป ส่วนที่ถามว่า หากย้อนไปใหม่ได้ ในวันนี้จะยังเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่ ก็ขอยืนยันเหมือนเดิม เพราะดูตามหลักฐานในสำนวนที่ปรากฏ หลักฐานในวันนี้ต่างเป็น หลักฐานนอกสำนวน เราจะเอาความรู้สึกนึกคิด ชอบไม่ชอบใครมาใส่ไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงนักวิชาการในวันนี้แล้ว ถือว่าเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะการคำนวณความเร็วรถยนต์นั้น ควรจะมีหลักคำนวณ ควรจะพิสูจน์อย่างไร ซึ่งจะนำเสนอความเห็นต่อ ผู้บังคับบัญชาต่อไป

 

“เมื่อได้ฟังตำรวจชี้แจง ผมก็ตกใจเหมือนกัน ทำไมกลับคำง่าย ทั้งที่ควรยืน ยึดมั่นตามหลัก ก็ขอตำหนิ ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ทั้งนี้จะปรับปรุงการทำงานของเรา ให้สมกับวิสัยทัศน์ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุดท้ายขอฝากเอาไว้ว่า กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำสิ่งใดย่อมเป็นไปตามนั้น”พล.ต.ท.เพิ่มพูน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ชี้แจงแล้วเสร็จ ได้ถูกนักข่าวรุมซักถามต่อในปมประเด็นความสงสัยเรื่องการให้การเรื่องความเร็วที่กลับไปมา แต่พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เลี่ยงที่จะให้ในรายละเอียดเพิ่มเติม