‘เนตร นาคสุข’ลาออกจากรองอสส.อ้างแสดงสปิริตต้องการให้ทุกคนในสังคมเกิดความสบายใจ ยันสั่งคดีจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน

‘เนตร นาคสุข’ลาออกจากรองอสส.อ้างแสดงสปิริตต้องการให้ทุกคนในสังคมเกิดความสบายใจ ยันสั่งคดีจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน

 

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2563 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)  เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์  เรื่อง สำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา และตั้งคณะทำงานตรวจสอบการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด

 

เนื้อหาเอกสารข่าว ระบุถึง  กรณีสำนักงาน อสส.แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสั่งคดีอาญาสำนวน ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ประกอบด้วย 1.นายอิทธิพรี แก้วทิพย์ หัวหน้าคณะทำงาน 2.นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองหัวหน้าคณะทำงาน 3.นายอุทัย สังขจร คณะทำงาน 4.นายประยุทธ เพชรคุณ คณะทำงานและเลขานุการ 5.นายนรา เขมอุดลวิทย์ คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 คณะทำงานฯดังกล่าวได้ประชุมพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว และมีคำสั่งแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายวรยุทธ ในข้อหายาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) และเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานใหม่และพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษนายวรยุทธได้ จึงสั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติมในการดำเนินคดีนายวรยุทธ ข้อหาขับรถประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พร้อมแจ้งคำสั่งไปยังพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อแล้ว เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยให้ดำเนินการภายในวันที่ 20 ส.ค. 2563 และประสานให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดดำเนินการแล้ว

 

สำหรับประเด็นการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ ของนายเนตร นาคสุข รอง อสส. ที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวอย่างแพร่หลายว่า เป็นการสั่งคดีที่ขาดความระมัดระวังหรือไม่ ในการตรวจสอบการสั่งคดีของนายเนตร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ขณะนี้สำนักงาน อสส. ยังไม่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจสอบรอง อสส. ในเรื่องดังกล่าว โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธาน ก.อ. ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า จะนำประเด็นนี้เข้าพิจารณาเพื่อวางหลักเกณฑ์ในการประชุม ก.อ. วันที่ 18 ส.ค. 2563 นั้น

 

สำนักงาน อสส. เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน แต่เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 17 ประกอบมาตรา 82 จะต้องนำเข้าที่ประชุม ก.อ.เพื่อพิจารณา อีกทั้งจะต้องนำหลักเกณฑ์ที่ ก.อ. เห็นชอบ ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานาน

 

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปรวดเร็ว อสส. จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มีคำสั่งสำนักงาน อสส. ที่ 1446/2563 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2563 แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นคณะทำงานตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ผู้ต้องหา โดยคณะทำงานประกอบด้วย

 

1.นายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรอง อสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 2.พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นคณะทำงาน 3.พล.ท.กิตติยุทธ กิตติยุทธโยธิน หัวหน้าสำนักงานตุลาการศาลทหาร และตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด คณะทำงาน 4.นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล อดีตรอง อสส. คณะทำงาน 5.นายถาวร พานิชพันธ์ อดีตรอง อสส. คณะทำงาน 6.ม.ล.ศุภกิตติ์ จรูญโรจน์ เลขานุการ และ 7.ร.ต.อ.สกลกริช ฤทธิ์เดช ผู้ช่วยเลขานุการ

 

โดยให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ของนายเนตร นาคสุข รอง อสส. ว่า การรับฟังพยานหลักฐานเป็นไปตามหลักกฎหมาย ชอบด้วยเหตุผล และใช้ความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบหรือไม่เพียงใด แล้วเสนอรายงานผลการตรวจสอบ พร้อมความเห็นต่อ อสส. เพื่อประกอบการพิจารณา

 

วันนี้ (11 ส.ค.2563) นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่ออัยการสูงสุด เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจในการสั่งสำนวนคดีนี้ และเป็นการแสดงสปิริต (spirit) แก่องค์กรอัยการ และต้องการให้ทุกคนในสังคมเกิดความสบายใจ โดยยืนยันว่าการสั่งคดีนี้ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนและตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

 

สำหรับนายเนตร จะครบกำหนดวาระการบริหาร เนื่องจากอายุครบ 65 ปี ในวันที่ 30 ก.ย.2563 เมื่อครบวาระตำแหน่งบริหารแล้ว ยังสามารถขอต่อเป็นอัยการอาวุโสได้จนครบอายุ 70 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา 58 บัญญัติว่า “ข้าราชการอัยการผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการ ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง เพื่อให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา เมื่ออัยการสูงสุดสั่งอนุญาตแล้วให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่ข้าราชการอัยการขอลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง หรือรับการเสนอชื่อเพื่อสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเพื่อไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ผู้นั้นขอลาออก นอกจากกรณีตามวรรคสอง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการจะยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้เป็นเวลาไม่เกินสามเดือนนับแต่วันขอลาออกก็ได้ในกรณีที่อัยการสูงสุดประสงค์จะลาออกจากราชการ ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อ ก.อ. เพื่อให้ ก.อ.เป็นผู้พิจารณา”