อัยการไทย ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่แท้จริง?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

อัยการไทย ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่แท้จริง?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                           

     อัยการไทย ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่แท้จริง?

 

                                                                               พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                ปัญหาการสอบสวนคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่รองอัยการสูงสุด กลับคำสั่ง จากที่อัยการผู้รับผิดชอบเคยสั่งฟ้อง กลายเป็น สั่งไม่ฟ้อง

และ ผบ.ตร.ก็เห็นชอบ ไม่ได้ทำความเห็นแย้งแสดงเหตุผลที่ควรสั่งฟ้อง อะไรเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดแต่อย่างใด?

ซึ่งหมายความว่า การสั่งคดีของรองอัยการสูงสุดผู้รับผิดชอบงานร้องขอความเป็นธรรมจากการสอบสวนดำเนินคดีดังกล่าว สอดคล้องกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในการสอบสวนตั้งแต่แรก รวมทั้งที่สั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ กมธ.การยุติธรรม สนช. ส่งหลักฐานมาให้ดำเนินการบันทึกปากคำ

ผบ.ตร.ไม่สามารถทำความเห็นแย้งอะไรเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกได้

ทำให้การดำเนินคดีอาญาที่ แสนง่ายไม่ซับซ้อนอะไร แต่ ถูกดอง อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนมาอย่างยาวนาน กว่า 7 ปี นี้ จบลงไปตามกฎหมายด้วยความงุนงงของผู้คนทั้งประเทศ

หลังจากที่งุนงงกับการที่ตำรวจผู้รับผิดชอบปล่อยให้ หลายข้อหาขาดอายุความไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขับรถเร็วเกินกำหนดซึ่งมีอายุความ 1 ปี หรือ ชนแล้วหนี ที่มีโทษจำคุกถึงหกเดือนและมีอายุความ 5 ปี

ป.ป.ช.ชี้มูลว่าตำรวจ 7 คน ทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง” ส่งให้สั่งลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทุกคนได้เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีกันตามปกติเหมือนตำรวจส่วนใหญ่ที่ไม่ได้กระทำความผิดอะไร?

เมื่อมีการกลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุดออกมาเช่นนั้น ประชาชนต่างก็ พากันรุมด่าอัยการ กันใหญ่ หาว่าเป็นตัวการสำคัญในการตัดตอนคดี ทำให้ดำเนินไปไม่ถึงศาล?

แต่ในวงการตำรวจ โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกประหลาดใจอะไรมากมายในการสอบสวนและสั่งคดีของอัยการเช่นนี้?

เพราะ พฤติกรรมการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานของตำรวจ ได้มีการกระทำมาอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบตั้งแต่วันเกิดเหตุ

เช่น การไม่ดำเนินการ สั่ง ให้นายบอสเป่าทดสอบความเมาในช่วงเช้าซึ่งเป็นโอกาสแรกที่ควบคุมตัวได้?

ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นกรณีที่ มีเหตุอันสมควรของเจ้าพนักงานในการสั่งให้เป่าทดสอบ หากไม่ยอมเป่าโดยไม่มีเหตุผล

ก็จะถูกสันนิษฐานว่า เมา สามารถควบคุมตัวดำเนินคดีในข้อหานี้และใช้เป็นหลักฐานหนึ่งซึ่งประกอบการยืนยันเรื่องการขับรถประมาทได้ทันที

เป็นวิธีปฏิบัติที่ตำรวจตามด่านตรวจต่างๆ รวมทั้งพนักงานสอบสวนใช้ดำเนินการกับประชาชนผู้ไร้เส้นสายทั้งหญิงชายทั่วไปมากมาย

แต่ไม่ทราบเหตุใด ผู้รับผิดชอบซึ่งไม่ทราบว่าเป็นตำรวจชั้นยศและตำแหน่งอะไร จึง รอเวลา สั่งให้บอสเป่าทดสอบ ในช่วงเย็นหลังเกิดเหตุถึงสิบชั่วโมง แทน และพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกำหนด?

ทำให้เกิดวลีที่ วงการนักดื่มและขี้เมาเมาธ์ กัน ขำกลิ้ง ว่า เมาหลังขับ!

เพราะหลังจากแจ้งข้อหา ก็มีการสอบพยานประกอบว่าบอสดื่มเหล้าหลังชนและกลับเข้าบ้านแล้ว!

เสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหมดไปข้อหาหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหลักฐานยืนยันความประมาทในการขับรถของบอสเหลืออุปสรรคที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ ความเร็ว

ทำอย่างไรถึงจะสอบสวนให้บอสขับรถ ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับเขตชุมชนได้?

เนื่องจากหลักฐานรายงานที่เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญของกองพิสูจน์หลักฐานคำนวณจากกล้องวงจรปิดจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร   ยืนยันว่าน่าจะถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขาดเกินจากนี้ก็ไม่เกิน 17 กม. หรือ 10 เปอร์เซ็นต์

เป็นรายงานที่ส่งไปให้พนักงานสอบสวนนำไปประกอบสำนวนหลังเกิดเหตุประมาณหนึ่งเดือน

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ให้ทีมงานสอบสวนต้องขบคิด!

หลังจากสอบพยานคนหนึ่งซึ่งขณะนี้ ได้ตายไปแล้วด้วยอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกันเมื่อสองวันก่อนอย่างเป็นปริศนา โดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ขณะบอสขับรถชนจริงหรือไม่ โดยให้การว่า  ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจผู้ตาย ได้ขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางจากซ้ายสุดไปขวาสุดตัดหน้ารถของบอสอย่างกระชั้นชิด

เป็นหลักฐานความประมาท ด.ต.วิเชียรส่วนหนึ่ง  หรือที่เรียกกันว่า ประมาทร่วม 

ส่งผลทั้งเรื่องการลดโทษ หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล  รวมทั้งการชดใช้ค่าเสียหายลงครึ่งหนึ่ง ญาติ ด.ต.วิเชียร ได้เพียง 3 ล้าน ไม่ถึง 8 ล้านบาทตามที่เสนอไป

ความจำเป็นในการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานผู้เกี่ยวข้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของงานพิสูจน์หลักฐานว่า เป็นการคำนวณผิดพลาด จึงเกิดขึ้น

กลายเป็นความเร็ว 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่เกินกฎหมายกำหนด

ถือเป็น สารตั้งต้น ในการทำให้เกิดข้อสงสัยในการคำนวณและออกรายงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจไทย!

ต่อมาก็ได้มีการสอบสวนปากคำบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจพิสูจน์หลักฐานอะไรในเรื่องการคำนวณความเร็วประกอบการดำเนินคดีอีกสามปาก

คือตำรวจจราจรสองคนผู้มีหน้าที่ตรวจสภาพรถชนกันรวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบว่ามีครบถ้วนหรือไม่

ให้ความเห็นว่า น่าจะประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

ตามด้วยอาจารย์ระดับ ดร.มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกมาสอบให้ความเห็นว่า น่าจะประมาณ 76 กม.ต่อชั่วโมง เท่านั้น

ยืนยันตามหลักวิชาที่ ดร.คนนี้ร่ำเรียนมา ซึ่งไม่รู้ว่าจากประเทศและสำนักใด?

แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้อัยการกลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้องตามที่นายบอสซึ่งหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศร้องขอความเป็นธรรมได้

การสอบปากคำพยานบุคคลสองปากตามที่ กมธ.การยุติธรรมฯ สนช. ส่งไปให้อัยการและสั่งต่อไปยังพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการจึงเกิดขึ้น

พยานทั้งสองปากซึ่งคนหนึ่งเป็นอดีต ทหารอากาศยศพลอากาศโท ยืนยันมั่นเหมาะว่า เห็นเหตุการณ์ตอนเกิดเหตุประมาณ 05.30 น. บอสขับรถด้วยความเร็วเพียง 50-60 กม.ต่อชั่วโมง และ ด.ต.วิเชียรขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด

ซึ่งการให้การของเจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐานว่าคำนวณผิดพลาด รวมพยานทั้งสองปากจะเห็นเช่นนั้นจริงหรือไม่? รองอัยการสูงสุดผู้รับผิดชอบงานร้องขอความเป็นธรรมไม่อาจทราบได้

เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำเอง หรือมีกลไกในการไปสืบค้นหาความจริงเอง หรือแม้กระทั่งมีภาพและเสียงอะไรในการสอบปากคำและให้การเป็นหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด

คดีอาญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมากมาย  “อัยการไทย” จึงไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการ “สั่งฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” อย่างแท้จริงตามที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจแต่อย่างใด!.

อัยการไทย
 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:   ฉบับวันที่ 3 ส.ค. 2563