คดีน้องชมพู่ เรื่องง่ายๆ กลายเป็นยาก  เพราะงานสอบสวนไทยวุ่นวาย ไร้มาตรฐาน

คดีน้องชมพู่ เรื่องง่ายๆ กลายเป็นยาก  เพราะงานสอบสวนไทยวุ่นวาย ไร้มาตรฐาน

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                          คดีน้องชมพู่ เรื่องง่ายๆ กลายเป็นยาก     เพราะงานสอบสวนไทยวุ่นวาย ไร้มาตรฐาน

 

                                                                                                       พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

กรณีน้องชมพู่หายไปจาก หมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ในช่วงเช้าของวันที่ 11 พ.ค.63 แล้วมีผู้คนรวมทั้งเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้ช่วยกันตามหาจนพบกลายเป็นศพอยู่บนภูหินเหล็กไฟในวันที่ 14 พ.ค. ห่างจากบ้าน 1.2 กม. แต่ถ้าเดินตามภูมิประเทศจะเป็นระยะทางประมาณ 2 กม.นั้น

ขณะนี้ได้มีผู้คนตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุแห่งการตายกันไปต่างๆ นานา สารพัด

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในทำนองว่า น่าจะมีผู้พาขึ้นไปและเป็นคนทำให้ตายด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดอย่างแน่นอน?

ทั้งผู้คนและตำรวจต่างสงสัยเพื่อนบ้านคนนั้นคนนี้ไปจนถึงพี่ป้าน้าอาและแม้กระทั่ง แม่พ่อ ว่าอาจร่วมกัน ฆาตกรรมอำพราง เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด  ซึ่งไม่มีใครรู้ชัด?

เหตุผลสำคัญที่ผู้คนคิดเช่นนั้นก็คือ เด็กหญิงวัยสามขวบตัวเล็กขนาดนี้ไม่น่าที่จะเดินขึ้นเขาไปตามลำพังได้

ถ้าไม่ถูกฆ่าแล้วนำศพขึ้นไปทิ้งไว้เพื่ออำพราง ก็น่าจะถูกอุ้มตัวขึ้นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง

ซึ่งตาม ป.วิ อาญา มาตรา 149 กรณีนี้ถือเป็นการตายของบุคคลที่ผิดธรรมชาติที่ ไม่ปรากฏเหตุ ต้องให้หลายฝ่ายร่วมกันชันสูตรพลิกศพ ตั้งแต่พนักงานสอบสวน  แพทย์นิติเวช รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน

ถ้าแพทย์นิติเวชในพื้นที่นั้นไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติได้  ก็ให้ใช้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐคนหนึ่งคนใดทำหน้าที่แทน

กรณีนี้เหตุเกิดที่อำเภอดงหลวง โรงพยาบาลประจำอำเภอไม่น่าจะมีแพทย์นิติเวช จึงใช้แพทย์ทั่วไปผู้มีหน้าที่ เข้าเวร ตรวจรักษาคนไข้ในแต่ละวันเดินทางไปร่วมตรวจชันสูตรพลิกศพตามข้อยกเว้นของกฎหมาย

การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นจะเป็นไปในรูปของการทำ สำนวนชันสูตรพลิกศพ 

หากพนักงานสอบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายแล้วเห็นว่า ความตายไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดอาญาใดๆ

ก็มีหน้าที่ต้องส่งสำนวนการสอบสวนนั้นไปให้พนักงานอัยการตามมาตรา 150 เพื่อดำเนินการตามวรรคห้า คือยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทำการไต่สวนและทำคำสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบภายสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนต่อไป

รวมทั้งต้องส่งให้ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันทราบตามมาตรา 156 ด้วย

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การตรวจชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานทั้งสามฝ่ายไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า น้องชมพู่ถูกฆ่า ถูกทำร้าย หรือถึงแก่ความตายด้วยเหตุใด? 

จึงได้มีการนำศพไปให้แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ผ่าชันสูตรเพื่อหาร่องรอยต่างๆ และสาเหตุการตายที่แน่ชัด

นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ บุญญลักษณ์ แพทย์หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวชของโรงพยาบาล ได้เป็นผู้ผ่าตรวจพิสูจน์ศพน้องชมพู่ด้วยตนเองและบันทึกรายงานไว้ว่า

ไม่สามารถระบุเหตุตายได้เนื่องจากศพเน่า รวมทั้ง ไม่พบบาดแผลหรือการบาดเจ็บลักษณะจากการถูกทำร้ายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

และตายมาแล้วประมาณสองวัน คือวันที่ 13 พ.ค.63 แต่ไม่เกินวันที่ 12 พ.ค.63  

ปัญหาและข้อสงสัยทั้งหลายทั้งปวงก็น่าจะจบลงแค่นั้นว่า น้องชมพู่น่าจะเดินหลงป่าขึ้นไปเองและอาจถึงแก่ความตายด้วยอาการขาดน้ำ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ตายดังกล่าวแพทย์ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากสภาพศพเน่าแล้ว จึงพิสูจน์ยืนยันอะไรให้ชัดเจนไม่ได้

เรื่องนี้ถ้าไม่มีตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลหลายระดับเข้าไปเกี่ยวข้องและสั่งการ ปล่อยให้งานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปตามข้อเท็จจริงและกฎหมายในอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบพื้นที่แค่ระดับสถานีตำรวจ

ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยในผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ภูมิภาคแห่งหนึ่งของประเทศ ว่าจะมีความละเอียดรอบคอบและถูกต้องตรงความเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือไม่?

สำนวนชันสูตรพลิกศพ ก็คงถูกสรุปไปเรียบร้อยแล้วโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจกกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ว่า 

เป็นการตายที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากศพอยู่ในสภาพเน่า ทำให้แพทย์นิติเวชไม่สามารถตรวจยืนยันได้

และไม่พบหลักฐานใดบ่งชี้ว่าเกิดจากการกระทำผิดทางอาญา ถูกฆาตกรรม หรือ ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เนื่องจากตรวจไม่พบบาดแผลร่องรอยทำร้ายอะไรปรากฏตามร่างกาย

แต่การที่มีตำรวจชั้นนายพลหลายคนหลายระดับตั้งข้อสันนิษฐานและบางคนก็เข้าไปสั่งการให้มีการสอบสวนอย่างนั้นอย่างนี้จนวุ่นวาย

จนกระทั่งได้มีการนำศพมาให้ สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ผ่าตรวจชันสูตรอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งการออกรายงานครั้งที่สองกลายเป็นว่า พบบาดแผลตามร่างกายและบริเวณอวัยวะเพศ?

ทำให้ผู้คนตั้งแต่พ่อแม่ของน้องชมพู่รวมทั้งคนทั้งหมู่บ้าน และ แม้กระทั่งประชาชนทั้งประเทศ เข้าใจว่า น่าจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างหนึ่งอย่างใดก่อนแน่นอน

เกิดความเดือดร้อนกันไปทั้งหมู่บ้าน! 

เริ่มจากผู้ชายวัยหนุ่มทุกคนกลายเป็นผู้ต้องสงสัยกันไปหมด!

ต้องแสดงพยานหลักฐาน พิสูจน์ตัวเองจนสิ้นสงสัย ไม่ต่างจากสมัยโบราณเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมาว่าตนไม่ใช่คนร้าย

วันนั้นวันนี้ ทำอะไรอยู่ที่นั่นที่นี่ ถ้าไม่มีพยานรู้เห็นยืนยันอย่างชัดเจน ก็ถูกซักถามเซ้าซี้ไม่เลิกรา

ใครที่หาพยานมายืนยันสถานที่อยู่ในช่วงเช้าของวันที่ 11 พ.ค. ซึ่งน้องชมพู่หายไปไม่ได้

หรือไม่แน่ใจว่าได้เคยขึ้นไปหาของป่าทำอะไรตกไว้ในบริเวณที่พบศพบ้างหรือไม่ ก็หวั่นไหวว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเอาง่ายๆ กินไม่ได้นอนไม่หลับไปตามๆ กัน

บางคนไม่กล้าออกจากหมู่บ้านไปธุระที่ไหนหลายวัน!

กลัวจะถูกผู้คนและตำรวจมองกันว่า การหายตัวไป ถือเป็นพิรุธอย่างหนึ่ง!

ระบบงานสอบสวนคดีอาญาและนิติวิทยาศาสตร์ของไทยต้องได้รับการปฏิรูป

ไม่อยู่ในระบบการปกครองบังคับบัญชาแบบข้าราชการผู้มียศ วินัยและวัฒนธรรมการฟังคำสั่งแบบเดียวกับทหาร!

พนักงานสอบสวน แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทุกคน ต้องมี อิสระที่แท้จริง” ในการปฏิบัติหน้าที่รวบรวมและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานตามมาตรฐานความรับผิดชอบในวิชาชีพของตน

ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีบางประเภทรวมทั้งกรณีที่ประชาชนร้องเรียนได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตาม ป.วิ อาญา ออกข้อบังคับไว้

อัยการต้องมีอำนาจตรวจสอบ คดีสำคัญ หรือเมื่อพบว่าการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปไม่ครบถ้วน หรือมีผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

การสั่งงานสอบสวน ให้สอบปากคำ ให้ รวบรวมรวมหรือไม่รวบรวม พยานหลักฐานอะไร หรือให้ออกหมายเรียกใครเป็นผู้ต้องหา หรือไปเสนอศาลออกหมายจับ 

ต้องบัญญัติให้ทำ เป็นลายลักษณ์อักษร” โดย พนักงานสอบสวนหรือหัวหน้าพนักงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ผู้มีหน้าที่ลงชื่อในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น.

คดีน้องชมพู่
 ขอบคุณภาพ คลิปข่าวช่อง 3

 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 13 ก.ค. 2563