รำวงที่ปลายทาง!ศาลอาญาลง MOU ร่วม5หน่วยงานหนุนใช้โทษทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับในศาลอาญา ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น

รำวงที่ปลายทาง!ศาลอาญาลง MOU ร่วม5หน่วยงานหนุนใช้โทษทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับในศาลอาญา ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 มิ.ย.  2563 ที่ห้องประชุมชั้น 10 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร, กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา ในการนี้ นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม, พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว โดยมีนางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกาและประธานที่ปรึกษาโครงการศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน

 

นายชูชัย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด โครงการที่ 3 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระแก่คู่ความและประชาชนผู้ใช้บริการศาลในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทำให้ขาดรายได้ โดยปกติแล้วการตัดสินคดีอาญาศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งโจทก์และจำเลย หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่หากศาลพิจารณาได้ความว่ามีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยกำหนดวิธีการลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด

 

การลงโทษจำคุก จะใช้เฉพาะกรณีที่จำเลยทำความผิดร้ายแรง และน่าจะเป็นอันตรายต่อสังคม แต่หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรง จำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อน ศาลอาจกำหนดโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้ หรือเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยไม่มีมลทินติดตัว ศาลอาจใช้วิธีการรอการกำหนดโทษแทนก็ได้ สำหรับโทษปรับซึ่งอาจมองว่าเป็นโทษเบา แต่ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ผู้ต้องโทษปรับอาจต้องถูกจำกัดอิสรภาพ ด้วยการกักขังแทนค่าปรับ

 

ศาลอาญาจึงนำนโยบายของประธานศาลฎีกาที่ให้ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยนำการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมาใช้ในศาลอาญา เพื่อเป็นทางเลือกให้จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับสถานเดียว หรือพิพากษารอการลงโทษและปรับ แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีจำเลยผู้ต้องโทษปรับจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว ทำให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเพียงเพราะความยากจน ศาลอาญาจึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี เพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้ผู้ต้องโทษปรับทราบถึงสิทธิที่จะขอทำงานแทนค่าปรับ และดูแลเพื่อให้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับของผู้ต้องโทษปรับครบถ้วนตามเงื่อนไข และบรรลุความมุ่งหมายของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว

 

โดยโครงการนี้จะช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่กักขัง นอกจากนี้ การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษปรับได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และยังทำให้ผู้ต้องโทษปรับรู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถบำเพ็ญความดี ชดเชยให้แก่สังคมผ่านงานที่ทำด้วย ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาคีเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งแก่ผู้ต้องโทษปรับเองและสังคมโดยรวม

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกฎหมายเรื่องทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับมานานแล้ว แต่ลงนามร่วมภาคีนี้ มีวัตถุประสงค์อย่างไร นายชูชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ครั้งนี้ เพราะการบังคับใช้น้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประชาชนไม่ทราบ หรือเป็นความผิดทางศาลที่ไม่ประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร และต้องการช่วยบุคคลที่ยากจนไม่มีเงินชำระค่าปรับ ทำให้ต้องถูกกักขังแทนโดยไม่จำเป็น การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ 1 วัน แทนเป็นเงิน 500 บาท ทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณการเลี้ยงดูผู้ถูกคุมขังในเรือนจำด้วย

 

เมื่อถามว่าหากทางศาลใช้การรอการลงโทษมากขึ้นกับความผิดที่ไม่รุนแรง อาจจะสร้างค่านิยมให้คนกล้าทำผิดมากขึ้นหรือไม่ นายชูชัย กล่าวว่า สำหรับการรอการลงโทษทางศาลไม่ค่อยใช้ แต่ละศาลจะมีบัญชีกำหนดอัตราโทษ (ยี่ต๊อก) ที่ไม่ได้ระบุเรื่องการรอการลงโทษไว้ แต่เมื่อประธานศาลฎีกาอยากให้ใช้ ตอนนี้ทางศาลก็เริ่มใช้ไปแล้วหลายคดี สำหรับเรื่องที่จะมีคนกล้าทำผิดมากขึ้นเพราะการรอการลงโทษ ต้องเรียนว่าทางศาลมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นการกระทำผิดครั้งแรก และภายในเวลาที่ศาลรอลงโทษ หากบุคคลนั้นทำผิดซ้ำ อัตราโทษที่รอไว้อาจจะรุนแรงขึ้นก็เป็นได้ ตนเข้าใจถึงความห่วงใยในสังคม แต่ตนคิดว่ากับคนที่ทำผิดครั้งแรก ที่มีโทษเล็กๆ น้อยๆ อาจจะเพราะความจำเป็นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ส่วนตัวตนมองว่าควรให้โอกาสเขาได้กลับตัว เพราะถึงจะลงโทษขั้นรุนแรงไป ตนก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้คดีหมดไปได้