กมธ.กฎหมายและยุติธรรม ชง แก้ไขเพิ่มเติมป.วิอาญาให้เป็นมาตรฐานสากล การจับ ตรวจค้นและสอบสวนต้องบันทึกภาพเสียงอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ

กมธ.กฎหมายและยุติธรรม ชง แก้ไขเพิ่มเติมป.วิอาญาให้เป็นมาตรฐานสากล การจับ ตรวจค้นและสอบสวนต้องบันทึกภาพเสียงอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ

กมธ.กฎหมายและยุติธรรม สภาผู้แทนฯ ชง แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญาให้เป็นมาตรฐานสากล สร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน การจับ ตรวจค้น และสอบสวนต้องบันทึกภาพเสียง อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563  นายรังสิมันต์ โรม  โฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  พร้อมด้วยนายสิระ เจนจาคะ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้ร่วมเเถลงข่าวภายหลังการประชุมของคณะกรรมาธิการ ว่า วันนี้คณะกรรมาธิการได้มีการประชุมในช่วงเช้า โดยมีประเด็นหลัก 3 เรื่อง เรื่องแรก จากการร้องเรียนของ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ หมู่อาร์ม ที่ถูกผู้บังคับบัญชาระดับสูงข่มขู่คุกคามเอาชีวิต จากการร้องเรียนการทุจริตในกองทัพบกนั้น ประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการได้เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกมาชี้เเจงในประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน เบี้ยงเลี้ยงทหาร นั้น ทำให้เกิดการข่มขู่เกิดขึ้น

 

“โดยพล.อ.อภิรัชต์ ได้มอบหมายให้ พล.ท.ศรชัย กาญจนสูตร เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกมาชี้เเจงแทนกรณีการทุจริตค่าเบี้ยเลี้ยงและมีการข่มขู่ จริง ส.อ.ณรงค์ชัยฯ จริงหรือไม่? โดย พล.ท.ศรชัย ไม่สามารถตอบคำถามเเละชี้เเจงให้เกิดความชัดเจนได้  คณะกรรมาธิการ จึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว”นายรังสิมันต์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางคณะกรรมาธิการยังได้มีการพิจารณาและเห็นชอบรายงานการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน ที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการโดยได้มีการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ให้การจับ การค้นและระบบการสอบสวนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ต้องบันทึกภาพเสียงการจับและการค้น  รวมทั้งการสอบปากคำบุคคล  อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน หากตำรวจไม่รับคำร้องทุกข์  สามารถแจ้งให้อัยการสอบสวนแทนได้โดยคณะกรรมาธิการจะส่งรายงานนี้ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี รวมทั้ง สส. และพรรคการเมืองร่วมกันยื่นให้สภาพิจารณาตราเป็นกฎหมายต่อไป

 

ขณะที่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขานุการคณะกรรมาธิการ  กล่าวถึง หลักเกณฑ์และการเเก้ไขของพี่น้องคนไทยในต่างเเดนจากการร้องเรียนของพี่น้องคนไทยในมาเลเซียนั้น ที่หากจะเดินทางกลับประเทศไทยต้องมีใบรับรองเเพทย์ ซึ่งไม่ตรงกับที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค.ได้ให้ข้อมูลต่อประชาชน ทั้งนี้ กมธ.จะเชิญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือศบค. เเละผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศเข้าชี้เเจงในวันที่ 4 มิถุนายน พร้อมเชิญ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญจศรีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ปลัดกระทรวงต่างประเทศ เเละผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มาร่วมชี้แจงเพื่อหาเเนวทางต่อไป