อ้างเข้าใจผิด!เด้ง3ตำรวจสืบภาค8 เข้ากรุ-ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงเหตุจับชาวประมงทำหอยแครงจ.สุราษฎร์ รีด 5ล้าน แลกไม่ถูกดำเนินคดี

อ้างเข้าใจผิด!เด้ง3ตำรวจสืบภาค8 เข้ากรุ-ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงเหตุจับชาวประมงทำหอยแครงจ.สุราษฎร์ รีด 5ล้าน แลกไม่ถูกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)  กล่าวถึงกรณีชาวบ้าน อำเภอ กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ล้อมรถยนต์ ผู้อ้างตัวเป็นตำรวจเข้าไปจับกุมชาวประมงจับลูกหอยแครงและเรียกเงิน 5 ล้านบาท เป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ไม่ถูกดําเนินคดี ว่า ได้รับรายงานจาก กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 17.30 น. สภ.กาญจนดิษฐ์ จว.สุราษฎร์ธานี ได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สส.ภ.8 จำนวน 3 นาย ได้เข้ามาทำการตรวจสอบทำประมงผิดกฎหมาย(หอยแครง) ในพื้นที่และขณะทำการตรวจสอบได้เกิดการเข้าใจผิดกับชาวบ้านในชุมชุน จึงได้ถูกชาวบ้านซึ่งเป็นชาวมุสลิม กว่า 300 คน ปิดล้อม รถโตโยต้า ฟอจูนเนอร์ สีขาว ทะเบียน กจ 792 สุราษฎร์ธานี ของตำรวจ จนไม่สามารถออกมาได้ จึงขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กาญจนดิษฐ์ สนับสนุนมาที่เกิดเหตุ โดยได้เจรจาเบื้องต้นกับผู้ชุมนุมปิดล้อม แต่ไม่สามารถเจรจาได้

 

“โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว อดีตกำนันตำบลทุ่งกง อ.กาญจนดิษฐ์ จว.สุราษฎร์ธานี เป็นคนกลางเข้ามาเจรจา และเมื่อได้ประสานติดต่อให้มา ทำการเจรจากับชาวบ้าน ผลการเจรจาจบลงด้วยดีโดยชาวบ้านยอมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ ตร.ที่ถูกปิดล้อมได้ แต่เจ้าหน้าที่ชุดกังกล่าวต้องไม่เข้ามาในพื้นที่อีกต่อไป”พ.ต.อ.กฤษณะ  กล่าว

 

รองโฆษก ตร. กล่าวต่อว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 นาย ดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สส.ภ.8 จริง ซึ่ง พล.ต.ท.จิรวัฒน์ ทิพยจันทร์ ผบช.ภ.8 จะมีคำสั่งให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 นาย มาปฏิบัติหน้าที่ยัง ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (ศปก.ภ.8) พร้อมมีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยหากพบว่ามีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ มีการเรียกรับเงินเพื่อให้ไม่ถูกดําเนินคดีตามที่ปรากฏเป็นข่าวจริง ให้ดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด

กฤษณะ พัฒนเจริญ

พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงไปมา ด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว เป็นธรรม พร้อมเน้นย้ำ คณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริง เร่งคลี่คลายข้อสงสัยและให้ความกระจ่างแก่สังคม และหากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ก่อเหตุดังกล่าวขึ้นจริง ซึ่งถือว่า มีความพฤตินอกรีต ไปเรียกรับเงินทอง เรียกรับผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่งใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ขูดรีดประชาชน ให้เร่งดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด ไม่เอาไว้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กระทำผิดกฎหมายเสียเอง ประกอบกับ ให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นฐานปล่อยปละละเลย ไม่สอดส่องดูแลความประพฤติผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น

 

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านชุมชนบ้านสำโรง หมู่ 4 ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี  กว่า 300 คน ฮือล้อมรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีขาว ทะเบียน กจ 792 สุราษฎร์ธานี ของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนภาค8 ที่จับกุมนายอรุชา บินมูซา อายุ 46 ปี ชาว ต.ท่าทองใหม่ พ่อค้ารับซื้อลูกหอยแครงจากชาวประมงพื้นบ้าน มีการเรียกเงิน 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี ขณะที่นายอรุชาจะแจ้งความดำเนินคดีข้อหาข่มขู่กรรโชกทรัพย์ และเรียกร้องให้ตำรวจภูธรภาค 8 ย้ายบุคคลทั้ง 3 ออกจากพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มชาวบ้านให้ข้อมูลกับนายอำเภอกาญจนดิษฐ์ ว่า ตำรวจทั้ง 3 นายมีพฤติกรรมกรรโชกทรัพย์และรีดไถเงินชาวประมงพื้นบ้านมานานแล้ว ซึ่งมีการเจรจายอมให้นำตัวชายทั้ง 3 คนไปที่ สภ.กาญจนดิษฐ์

เด้ง 3 ตำรวจสืบภาค8

ด้านพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  (รอง ผบ.ตร.)  กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อทราบข่าวรู้สึกไม่สบายใจและหลังเกิดได้สอบถามไปยัง พล.ต.ต.ภิญโญ หวลกสินธุ์ ผบก.สส.ภ.8  โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ว่าจะเหตุอะไรก็แล้วแต่ ทางผู้บังคับบัญชาก็จะดำเนินการตรวจสอบตามที่มีการร้องเรียน ซึ่งเบื้องต้น พล.ต.ท.จิรวัฒน์ ทิพยจันทร์ ผบช.ภ.8 ได้สั่งการให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 นายมาช่วยราชการที่ ศปก.ภ.8 จังหวัดภูเก็ต พร้อมกำชับห้ามไม่ให้กลับเข้าไปในพื้นที่ ส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้เป็นอำนาจของ ผบช.ภ.8 ดำเนินการ โดยกำชับให้ทำอย่างตรงไปตรงมา หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะดำเนินการโดยเด็ดขาด ซึ่งต้องดูที่เจตนา ถ้ามีการเรียกรับผลประโยชน ก็ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ แต่ยืนยันตำรวจจะตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเราไม่ต้องการลงโทษใครถ้าไม่ได้กระทำความผิดจริง แต่หากทำไม่ดีก็ต้องตัดนิ้วทิ้งไม่มีละเว้น

 

พ.ต.อ.ทักษิณ ศิริโภคพัฒน์ ผกก.สภ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หลังจากนำชายทั้ง 3 คนเดินทางมาที่ สภ.กาญจนดิษฐ์ ตรวจสอบพบว่าเป็นตำรวจจริง สังกัดกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 อ้างว่า เข้าไปจับกุมการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการประมง แต่ถูกชาวบ้านล้อมรถ ซึ่งยังไม่มีชาวบ้านผู้เสียหายมาแจ้งความจึงต้องปล่อยตัวตำรวจทั้ง 3 นายไปก่อน พร้อมจะทำหนังสือรายงานไปยังผู้บังคับการการตำรวจภูธร จ.สุราษฎร์ธานี และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ตามลำดับชั้นต่อไป

 

พล.ต.ต.ภิญโญ หวลกสินธุ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 8 กล่าวว่า ได้รับทราบเหตุการณ์จากตำรวจท้องที่โดยจะเรียกตัวตำรวจทั้ง 3 นายมาสอบถามข้อเท็จจริง เบื้องต้นทราบว่ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 จะมีคำสั่งให้ตำรวจทั้ง 3 นายให้ไปประจำที่ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจภูธรภาค 8 (ศปก.ภาค 8)ที่ จ.ภูเก็ตและให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจิรง ส่วนความผิดทางอาญาใช้อาวุธปืนจ่อกรรโชกทรัพย์ทราบว่ายังไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความ ดำเนินคดี

เด้ง 3 ตำรวจสืบภาค8

ขณะที่นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า พื้นที่เขตอนุรักษ์ 1,000 เมตรจากแนวชายฝั่งเป็นพื้นที่ที่ทางจังหวัดสงวนไว้สำหรับทำการประมงพื้นบ้านให้ทำการประมงแบบธรรมชาติพื้นบ้าน คือ งมด้วยมือหรือตะแกรงได้ โดยห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยแครง ตามประกาศของคณะกรรมการประมงจังหวัดเมื่อปี 2560 ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่อนุญาตให้เลี้ยงหอยได้ในพื้นที่บางอำเภอได้แก่ อ.ไชยา , ท่าฉาง , กาญจนดิษฐ์ ,ดอนสัก และอ.เกาะสมุย ส่วนพื้นที่ไม่มีการอนุญาตให้เลี้ยงหอย ได้แก่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และ อ.พุนพิน โดยการซื้อขายลูกหอยแครงที่ของประมงพื้นบ้านจับมาได้ย่อมกระทำได้ไม่เป็นการทำผิดกฎหมาย

 

มีรายงานข่าวชาวประมงพื้นบ้านแจ้งว่า เหตุการณ์ลุกฮือล้อมดังกล่าวเพราะทนไม่ได้ที่ถูกกดขี่เข้าไปงมจับหอยในเขตที่ทางจังหวัดอนุญาต แต่ต้องจ่ายค่าเงินเหมือนเป็นค่าคุ้มครองให้กลุ่มบุคคลในเขต อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ก่อนและเมื่อจับหอยมาได้แล้วนำมาขายให้พ่อค้ากลับมีคนของกลุ่มนี้มาจับกุมอ้างว่าทำประมงผิดกฎหมายอีกซึ่งเท่ากับเสียทั้งเงินเสียทั้งของและที่ผ่านมาไม่มีการจับกุมกลุ่มเรือคราดหอยของกลุ่มนายทุนที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายได้ เพราะมีการส่งข่าวให้รู้ตัวแม้แต่การให้รื้อหลักไม้ไผ่ในเขตอนุรักษ์มีความพยายามยืดเยื้อถ่วงเวลาจนนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องสั่งส่งกำลังลงพื้นที่ให้รื้อถอนด้วยตัวเอง.