สุวรรณภูมิรั่ว เพราะคำสั่งไม่ชัดเจน      –    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

สุวรรณภูมิรั่ว เพราะคำสั่งไม่ชัดเจน      –  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                          สุวรรณภูมิรั่ว เพราะคำสั่งไม่ชัดเจน       

                                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                โรคระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ร้ายแรงในประวัติศาสตร์รอบร้อยปีของมนุษยชาติครั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญก็คือ  ไม่มีใครยืนยันหรือแม้กระทั่ง คาดหมาย ได้ว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อใด? และจะส่งผลให้ผู้คนทุกชาติภาษาเจ็บป่วยล้มตายลงมากน้อยเพียงใด?

เรื่องคนเสียชีวิต จำนวนแสน นั้น คงได้เห็นกันในเวลา เพียงไม่กี่วันข้างหน้า อย่างแน่นอน!

ซึ่งถ้าแต่ละประเทศยังไม่สามารถหยุดยั้งด้วยมาตรการที่ เข้มงวดถูกต้อง ได้ ไม่มีผู้ใดคิดค้นยารักษาหรือวัคซีนป้องกันในเร็ววัน อาจได้เห็นผู้คน นับล้านหรือหลายล้าน ต้องตายกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นตามธรรมชาติสำหรับคนที่เหลือ!

ความหายนะต่อชีวิต สุขภาพกายและจิต รวมทั้งเศรษฐกิจ การผลิตและการค้าทั่วโลกจะพินาศลงอย่างย่อยยับเหลือคณา ความเจริญก้าวหน้าของโลกจะหยุดหรืออาจถอยหลังไปนับสิบปี!

เป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกชาติต้องวางแผนรับมือด้วยความรู้และสติปัญญา รวมทั้งใช้ เงิน จำนวนมหาศาลในการ รักษาชีวิตประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ระบบบริหารราชการ” รวมทั้ง “การจัดสรรและใช้งบประมาณ ของชาติต้องถูกทบทวนและปฏิรูปใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์และภัยร้ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันและมีท่าทีว่าจะสงบลงในเร็ววันได้

ทั้งในส่วนที่เป็นงบฯ ประจำปี 2563 ที่กำลังใช้อยู่ และสำหรับปี 2564 ที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ

งบฯ ปี 63 ต้องเร่งออกกฎหมาย ให้ทุกหน่วยคืนในส่วนที่รัฐเห็นว่าไม่จำเป็น

และปรับลดลงไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับปีต่อไป

นำไปตั้งไว้ใน งบกลาง จ่ายจำนวนหนึ่ง ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทุกคนที่ขาดรายได้ “ให้ใช้เพื่อประทังชีวิต ในสถานการณ์ธุรกิจการค้าและการจ้างงานต่างๆ ต้องปิดตัวลงตามคำสั่งหลายฉบับของรัฐ โดยไม่มีใครรู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานกี่เดือนหรือกี่ปี?

หน่วยงานหรือตำแหน่งราชการใดที่ไม่มีความจำเป็น ต้อง ถูกยุบ ลง!

อย่างเช่นกองบัญชาการตำรวจภาคซึ่งมีนายพลตำรวจนั่งกันอยู่มากมาย ใช้งบประมาณแห่งละ 700-800 ล้านบาทต่อปีนั้น จะเห็นกันว่าในสถานการณ์ที่ชาติมีปัญหาร้ายแรงเช่นนี้ ไม่ได้มีประโยชน์หรือบทบาทอะไรในการแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริงเลย?

เนื่องจากในการบริหารราชการตามระบบสากล  แม้กระทั่งในยามปกติ ตำรวจต้องทำงานเป็นมือไม้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแทนการฟังคำสั่งจากส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ผ่านผู้บัญชาการตำรวจภาคโดยไม่จำเป็นเช่นทุกวันนี้!         

กรณีผู้มีสัญชาติไทยหลายร้อยคนทยอยกันหนีตายจากภัยโควิดในต่างประเทศ ได้รับการตรวจสอบจากสถานทูตให้เดินทางกลับบ้านได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ท้ายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 1 ข้อ 11

ที่สำคัญคือ ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ติดเชื้อโควิดที่ออกให้ในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

รวมทั้ง อาจต้องถูกกักตัว ในสถานที่ซึ่งทางราชการกำหนดไว้ในเวลา 14 วัน

ซึ่งการดำเนินการกับคนไทยที่หนีตายมาจาก อู่ฮั่น และ ผีน้อย แรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่ถูกไล่ออกจากประเทศจำนวนหลายร้อยคนเมื่อต้นเดือนมีนา. ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ทุกคนถูกนำไปกักตัวที่อาคารรับรองของกองทัพเรือซึ่งจัดเตรียมไว้ในอำเภอสัตหีบ จนแพทย์ผู้รับผิดชอบเห็นว่าปลอดภัย จึงปล่อยให้แต่ละคนเดินทางกลับภูมิลำเนาไป

แต่พอถึงกลุ่มผู้เดินทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาเดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยงเช่นสหรัฐอเมริกา                 จำนวน 158 คน กลับถูกปล่อยตัวจากสนามบินสุวรรณภูมิให้กลับบ้านได้

มีรายงานข่าวว่า มี นายพลทหารบกยศพลตรี คนหนึ่ง เป็นผู้อนุญาตให้บุคคลกลุ่มนี้เดินทางออกไป โดยมีทหารอากาศยศนาวาอากาศเอกเป็นผู้ประกาศข่าว เพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้น และไม่สามารถควบคุมได้

แต่ขอให้ทุกคนรับปากว่าจะ กลับไปกักตัว ที่บ้านพักอาศัยตามภูมิลำเนาแทน!

ปัญหาก็คือ ในสถานการณ์ที่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ไวรัสโควิดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงตามกฎหมาย ซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

มีอำนาจตามในการออกคำสั่งและมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมโรค มาตรา 34 (1) คือกักตัวผู้มีเหตุอันควรสงสัยไว้เพื่อการสังเกตอาการจนกว่าจะถึงระยะปลอดภัย รวมทั้งดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็นหลายเรื่อง เช่นการปิดร้านอาหารและสถานบริการและพื้นที่เสี่ยงต่างๆ 26 ประเภท

ซ้ำนายกรัฐมนตรียังได้ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกำหนดข้อห้ามรวมทั้งข้อแนะนำในการปฏิบัติทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในกรณีต่างๆ ไว้อีกมากมาย ทั้งการตั้ง ด่านคัดกรองบุคคล ในการเข้าพื้นที่ทุกจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง

โดยในข้อ 7 (1) ให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและจังหวัดเป็นผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกมิติ

แล้วเหตุการณ์ความวุ่นวายในสนามบินสุวรรณภูมิที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่ต้องการถูกกักตัว 14 วัน   

ทหารยศพลตรีคนนั้นรวมทั้งนาวาอากาศเอกอีกคนหนึ่งใช้อำนาจอะไรในการที่ไปบอกพวกเขาว่า อนุญาตให้ทุกคนกลับบ้านได้ โดย ผู้ใหญ่ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ได้อนุญาตแล้ว?

ซ้ำยังบอกย้ำให้เดินทางกันอย่างเป็นระเบียบ  และกักตัวอยู่ที่บ้านของแต่ละคนด้วย!

คำพูดดังกล่าว เท่ากับทั้ง 158 คน ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือประกาศของรัฐในเรื่องการกักตัวที่ใครจะต้องประณามหยามเหยียดพวกเขาแต่อย่างใด

แต่นายกรัฐมนตรีกลับต้องแก้ไขด้วยการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งให้ทุกคนกลับมารายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการกักโรคภายในเวลา 18.00 น. ของวันเสาร์ที่ 4 เม.ย.

ถ้าไม่มาตามเวลา จะมีความผิดอาญา โทษจำคุกถึงสองปี

แม้ขณะนี้จะมีรายงานว่าได้กลับมาครบแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่าระหว่างเดินทางของ 158 คนนั้น ได้สัมผัสกับสถานที่ ยานพาหนะ หรือบุคคลใดบ้าง?

คนเหล่านี้ต้องถูกติดตามตัวนำมากักไว้เพื่อความปลอดภัยด้วยทั้งสิ้น!

จะทำได้ครบถ้วนหรือไม่ ไม่มีใครแน่ใจ และเป็นการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นแต่อย่างใด?

ซึ่งปัญหาในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าข้อกำหนดท้ายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเขียนไว้ให้ชัดเจนว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งข้าราชการทุกหน่วยในจังหวัดให้ปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ได้

ไม่ใช่ให้เป็น “ผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ”

ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า มีอำนาจสั่งหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดด้วยหรือไม่? และผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดทางวินัยเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือไม่?

เมื่อกฎหมายและคำสั่งไม่ชัด เจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งผู้คนเกิดความสับสน จึงไม่ใช่ความผิดของคนปฏิบัติและประชาชนแต่อย่างใด.

สุวรรณภูมิรั่ว

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 6 เม.ย. 2563