ศึกโควิด กับ  เจ้าเมืองไร้ดาบ –  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ศึกโควิด กับ  เจ้าเมืองไร้ดาบ –  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                                               

                 ศึกโควิด กับ  เจ้าเมืองไร้ดาบ        

                                                                                                                                               

                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

สถานการณ์โรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ร้ายแรงที่ทำให้มนุษย์ถึงตายได้บุกโจมตีไปกว่า 140 ประเทศ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีผู้ติดเชื้อเฉพาะที่มีรายงาน เกือบสามแสนคน เสียชีวิตไป กว่าหนึ่งหมื่น ขณะนี้

ตราบใดที่ยังไม่มียารักษา โดยตรง ซึ่งได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการผลิตวัคซีนนำมาฉีดป้องกันอย่างทั่วถึง

มนุษย์ทั้งโลกก็คงต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา ไม่กล้าเดินทางไปในที่ต่างๆ แม้กระทั่งเข้าใกล้หรือทักทายกันเช่นเดิม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และแม้กระทั่งระบบการเมืองการปกครองในอนาคตต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์สงครามเชื้อโรคที่ ร้ายแรงในรอบร้อยปี หลังจากที่ไข้หวัดสเปนได้แพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ ร้อยล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

เริ่มต้นของการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ระยะแรกคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ตระหนักว่าปัญหาจะลุกลามมาใกล้ตัวในเวลาอันรวดเร็วและร้ายแรงขนาดนี้ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบรายงานแล้ว กว่า 600 คน! 

และคาดว่าเพิ่มใน “อัตราทวีคูณ” ถึงกว่าหนึ่งพันภายในเวลาอีกเพียงสองสามวันเท่านั้น!

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากที่ผ่านมาผู้รับผิดชอบหลายคนได้พูดปลอบใจประชาชนว่า ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีคุณภาพที่ติดอันดับต้นของโลก   ขณะที่ประเทศเจริญตายกันเป็นเบือ แต่ไทยมีผู้ติดเชื้อแค่หลักสิบ และตายไปแค่ 1 คน

คาดว่า เอาอยู่ แน่นอน?

รวมทั้งบอกว่า รัฐได้จัดให้มีระบบและมาตรการคัดกรอง วัดไข้ คนเข้าประเทศตามด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ โดยเฉพาะทางอากาศเป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะไม่มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจากนอกประเทศหลุดรอดเข้ามาเป็นแน่

แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า การวัดไข้แล้วไม่พบ ไม่ว่าจะกระทำตามท่าอากาศยานหรือก่อนการเข้าไปในสถานที่ควบคุมเข้มงวดต่างๆ ทำให้ทั้งเจ้าพนักงาน ผู้คน เข้าใจผิดอย่างมหันต์ คิดว่าเป็นบุคคลปลอดภัย ไม่มีเชื้ออยู่ในตัวบุคคลนั้น ชะล่าใจไปตามๆ กัน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นประเทศเสี่ยง ต้องสงสัย ได้ถูกปล่อยไปให้ใช้ชีวิตประจำวันกับครอบครัวตามปกติกันมากมาย!

โดยทำเพียง ขอความร่วมมือ ให้กักตัวเองไว้ตามลำพังเป็นเวลา 14 วัน ทำกันจริงจังแค่ไหน ไม่มีใครกล้ารับรอง?

แต่เมื่อผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวจากประเทศเสี่ยงคนหนึ่งเล็ดลอดเข้ามาได้ ไม่ได้ถูกกักตัวไว้ดูอาการจนกว่าจะปลอดภัยตามมาตรการที่ผู้มีรับผิดชอบคุยไว้

ซ้ำยังได้ไปนั่งดูการชกมวยที่สนามลุมพินี ซึ่งในวันนั้นมีเซียนมวยเซียนพนัน หลายพัน หรืออาจร่วมหมื่นคน ร่วมตะโกนส่งเสียงเชียร์ด้วย

ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวไป ไม่น้อยกว่าครึ่งพัน และเดินกลับบ้านไปแพร่ไวรัสให้ญาติพี่น้องและคนที่ต้องสัมผัสระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสาร หรือเครื่องบินแทบทุกจังหวัด!

เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วร่วม 300 ราย 

ประชาชนและรัฐบาลจึงเริ่ม ตกใจ และมีความพยายามในการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่เชื้อ      นายกรัฐมนตรีบอกว่าได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการทุกจังหวัดอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามกฎหมายตามสถานการณ์ของการระบาดของโรคนี้ในแต่ละพื้นที่

จะประกาศปิดพรมแดน หรือธุรกิจการค้า ร้านอาหาร สถานบริการอะไรในจังหวัด ก็ว่าไป สามารถตัดสินใจได้ทั้งสิ้น

พร้อมตอบนักข่าวว่า ถ้าผู้ว่าฯ จังหวัดใดควบคุมไม่ได้ ก็แก้ง่ายๆ ด้วยการสั่งย้ายให้พ้นจากจังหวัดนั้นไป!

อันที่จริงแม้นายกรัฐมนตรีไม่พูดหรือสั่งการอะไรในเรื่องนี้ การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคระบาดก็เป็นอำนาจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอยู่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 และ 35 หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้เป็น “โรคติดต่ออันตราย อยู่แล้ว

มาตรา 34 “ให้ผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดโรค หรือเป็นพาหะ มารับการตรวจรักษา หรือกักตัวไว้ในสถานที่กำหนดเพื่อสังเกตจนกว่าจะพ้นระยะสงสัยว่าติดโรค”

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

และ มาตรา 35 “ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่โรคติดต่ออันตราย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานครมีอำนาจ

(1) ปิดตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด (2) สั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหยุด

ประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว และ (3) สั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยเข้าไปในสถานที่ต่างๆ

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 52 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

เมื่อวันก่อนมีผู้ว่าฯ ห้าหกจังหวัดทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ใช้อำนาจตามมาตรา 35 ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ออกประกาศปิดสถานศึกษา ร้านอาหารและสถานบริการรูปแบบต่างๆ กว่า 20 ประเภท ตามระยะเวลาที่แตกต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยคือ 14-21 วัน

ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองหลวงและจังหวัดปริมณฑลเงียบงันลงทันที อย่างที่ ผู้คนไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต!

ปัญหาสำคัญก็คือ เมื่อปิดบริการธุรกิจกว่ายี่สิบประเภทเหล่านี้แล้ว จะสามารถหยุดยั้งหรือลดอัตราการแพร่เชื้อลงได้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด?                              

เนื่องจากอำนาจตามกฎหมายของผู้ว่าราชการจังหวัดในการหยุดยั้งแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงสองมาตรานี้ เมื่อพบว่ามีผู้ฝ่าฝืน สามาถทำได้เพียงมอบหมาย “เป็นหนังสือ” ให้เจ้าพนักงานไปแจ้งความต่อ ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวน

ให้ออกหมายเรียกบุคคลผู้เป็นพาหะหรือผู้ประกอบการนั้นมาแจ้งข้อหาดำเนินคดีส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลลงโทษเท่านั้น

ซึ่งคงไม่ใช่วัตถุประสงค์สำคัญในการป้องกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสถานการณ์ที่ร้ายแรงขณะนี้แต่อย่างใด

ปัญหาการบริหารราชการประเทศไทยที่คาราคาซังยังไม่มีใครคิดแก้ไขก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งและให้คุณให้โทษหน่วยงานใด โดยเฉพาะผู้บังคับการตำรวจหรือแม้กระทั่งหัวหน้าสถานี เพื่อเป็นเครื่องมือให้จัดการปัญหาต่างๆ ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นยามปกติหรือแม้กระทั่งเกิดปัญหาภัยสารพัดขึ้นในจังหวัดหรืออำเภอที่ปกครอง

กฎหมายที่ควรต้องใช้ในสถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรงอย่างยิ่งครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.โรคติดต่อเท่านั้น

และก็ไม่ใช่ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรี และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้ในภาวะที่ประเทศเกิดการจลาจลหรือความไม่สงบด้วย

แต่ควรใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  พ.ศ.2550 ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าเข้าข่ายเป็น  “สาธารณภัยร้ายแรง ของประเทศประเภทหนึ่ง ตามมาตรา 4

นายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามมาตรา 31 ในการสั่งให้ผู้อำนวยการ (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ดำเนินการตามมาตรา 25 (ดัดแปลงและเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง) 28 (อพยพผู้คนออกจากพื้นที่) และ 29 (ห้ามบุคคลเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่) เท่าที่จำเป็น

โดย มาตรา 21 บัญญัติว่า “เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้นในเขตขององค์กรปกครองท้องถิ่นใด ให้ผู้อำนวยการองค์กรปกครองนั้นมีหน้าที่ดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว และแจ้งให้ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ (นายอำเภอ) และจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ทราบทันที

มาตรา 22 วรรคสาม “ในกรณีจำเป็น…. ผู้อำนวยการจังหวัดจะสั่งการให้หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลใดกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ได้

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 49 จำคุกไม่เกินสามเดือน

เป็น ดาบ ที่นายกรัฐมนตรีสามารถมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ในการบริหารจัดการกับทุกหน่วยงานและบุคคลเมื่อเกิด สาธารณภัยร้ายแรง ขึ้นในทุกจังหวัดได้

ไม่ใช่ปล่อยให้เป็น “เจ้าเมืองไร้ดาบ” เช่นทุกวันนี้!

ผู้ว่าฯ สั่งอะไร ผู้บังคับการตำรวจก็ไม่สนใจฟัง  และปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ไม่เคยแม้แต่การเข้าประชุมกับจังหวัดเหมือนส่วนราชการอื่นๆ 

ทำให้แก้ปัญหาอาชญากรรมหรือความไม่สงบเรียบร้อยอะไรในจังหวัดให้ประชาชนไม่ได้อย่างแท้จริงเลย!.

ศึกโควิดกับเจ้าเมืองไร้ดาบ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 23 มี.ค. 2563