การสอบสวนแบบไม่ให้รู้ตัวคนร้าย ทำลายประชาธิปไตย – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

การสอบสวนแบบไม่ให้รู้ตัวคนร้าย ทำลายประชาธิปไตย – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                                                        การสอบสวนแบบไม่ให้รู้ตัวคนร้ายทำลายประชาธิปไตย

 

                                                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ อาจเรียกว่าเข้าขั้น วิกฤติ

ประชาชนโดยเฉพาะ คนยากจน หรือแม้กระทั่งคนชั้นกลางจำนวนมากอยู่ในสภาพ จนตรอก

บางครอบครัวไม่มีแม้กระทั่งข้าวสารจะกรอกหม้อให้ผ่านไปในแต่ละมื้อแต่ละวัน!

หลายคน สิ้นหวัง จนทนทุกข์ทรมานต่อไปไม่ไหว   ต้องตัดสินใจรมควันฆ่าตัวตายยกครัวแม้กระทั่งสุนัขที่เลี้ยงไว้ ได้ยินกันมากมาย!

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากเรื่องความเป็น รัฐบาลเผด็จการ ซึ่งมาจากการทำรัฐประหาร  ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวโลกในช่วงเวลากว่า ห้าปีที่ผ่านมา

ส่งผลทำให้เศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ฝืดเคืองลงทันทีสี่ถึงห้าเท่า!

แม้กระทั่งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย จัดให้มีการเลือกตั้ง

แต่การที่ยังกำหนดให้ วุฒิสมาชิกที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนร่วมกับผู้แทนราษฎรในการเลือกตัวบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี

อ้างว่า ขอใช้วิธีนี้เพียงห้าปี! รวมกับที่ คุมเชิงการปฏิรูปประเทศ ด้านต่างๆ ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี! 

ทำให้ได้รัฐบาลซึ่งไม่เป็นที่เชื่อถือยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งจากต่างชาติ อย่างแท้จริง

บวกกับปัญหาภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งโรคระบาด

ผสมกับปัญหาการเมืองเรื่องการยุบ พรรคอนาคตใหม่ ด้วยเหตุผลที่ คาใจ ประชาชนโดยเฉพาะผู้สนับสนุนจำนวนมาก

ก่อให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจต่อผู้แทนราษฎรของพรรคและสมาชิกกว่าห้าหมื่นคน รวมไปถึงผู้ออกเสียงลงคะแนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น เด็กเยาวชนและนักศึกษาคนรุ่นใหม่จำนวนมากกว่าหกล้านคน 

จึงทำให้ไม่มีใครรู้ว่า ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้า จะส่งผลให้มีคนตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกมากน้อยเท่าใด?

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจการค้าจะดีมีความเป็นธรรมหรือไม่ นั่นก็ปัญหาหนึ่ง

แต่ที่รัฐบาลต้องคำนึงให้มากที่สุด หากต้องการทำให้สังคมเกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง นั่นก็คือ ความยุติธรรม  

ถ้าทุกคนตระหนักกันว่าประชาธิปไตยคือ การปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า กฎหมายมีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด

กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก็คือ หัวใจของประชาธิปไตย

เริ่มตั้งแต่ชั้นการตรวจตราของตำรวจทุกกระทรวงทบวงกรมในการจับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่าง เคร่งครัด ตั้งแต่  ความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิงเถื่อนหรือเปิดเกินเวลาและการกระทำผิดอาญาสารพัดซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบัน

รวมทั้งคดีที่ประชาชนถูกละเมิดได้รับความเสียหายไปแจ้งความ

ตำรวจก็มีหน้าที่ รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ   ทันที และต้องจัดให้มีการ สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด ก่อนจะถูกทำลายหรือสูญหายไป

เพื่อพิสูจน์การกระทำผิดนั้น แล้วออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำมารับทราบข้อหา

สำหรับคดีที่มีโทษจำคุกสามปีขึ้นไป ก็อาจเสนอศาลออกหมายจับตัวมาส่งให้อัยการฟ้องศาลได้                                 ปัญหาที่สำคัญและร้ายแรงยิ่งในปัจจุบันก็คือ ตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนประเทศไทย ได้ ถูกสั่ง ให้รับแจ้งความแบบ ไม่มีเลขคดี คือไม่ได้มีการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษกันเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ ไม่ได้มีการสอบสวนตามกฎหมาย!

ถือเป็นการทำลายประชาธิปไตยตั้งแต่ชั้นรับแจ้งความ ปัจจุบันคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ยกเว้นบางคดีที่เกิดกับคนรวยหรือคนมีอำนาจ  พนักงานสอบสวนก็มักจะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้รีบรับแจ้งความรับคำร้องทุกข์แบบมีเลขคดีทันที

และส่วนใหญ่ก็มักจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การจับผู้กระทำผิดได้ในที่สุด

แต่สำหรับคนจน ไร้อำนาจ หรือ ผู้ที่มีความคิดเห็นเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล 

แม้เป็นคดีที่ผู้คนสนใจหรือเป็นข่าวอื้อฉาว พนักงานสอบสวนก็อาจรับคดีเข้าสารบบราชการไว้

แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชั้นนายพล ที่สื่อเรียกกันว่าเป็น นักสืบ  หรือ มือปราบ นายใด ให้ความสนใจในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสนอให้ศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดแต่อย่างใด?

ในกรณีคนร้ายรุมตีหัว จ่านิว หรือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2562 เวลาประมาณ 11.00 น. บนถนนรามอินทรา เขตพื้นที่ สน.มีนบุรี หรือ เจ็ดเดือนที่ผ่านมา

สุดท้ายเมื่อวันที่ 14 ก.พ.63 แม่จ่านิวได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนถึงความคืบหน้าของคดีว่ากล้องวงจรปิดจับภาพใบหน้าคนร้ายไม่ได้ สืบสอบกันจนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าคนร้ายทั้งสี่เป็นใคร?

จึงสรุปสำนวนเสนอให้อัยการ สั่งงดสอบสวน ไป

เป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 140 ที่บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการดังนี้

(1)ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดและความผิดนั้น มีอัตราโทษ อย่างสูงเกินกว่าสามปี ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่ให้งดการสอบสวน

ถ้าพนักงานอัยการสั่งให้งด หรือให้ทำการสอบสวนต่อไป ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น

คดีทำร้ายจ่านิวได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 มีโทษจำคุกอย่างสูงถึงสิบปี

จึงเสนอให้อัยการผู้รับผิดชอบสั่ง งดสอบสวน

ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ เลิกสอบสวน นั่นเอง

ไม่มีตำรวจคนใดหรือหน่วยใดสนใจสืบสอบเพื่อให้รู้และได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายอะไรอีกต่อไป!.

 

 การสอบสวน

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 24 ก.พ. 2563