ตั้งบก.สอบสวนภาคให้’ตำรวจว่างงาน’เขียนแย้งอัยการ! – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ตั้งบก.สอบสวนภาคให้’ตำรวจว่างงาน’เขียนแย้งอัยการ! – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                        ตั้ง บก.สอบสวนภาคให้ ตำรวจว่างงาน เขียนแย้งอัยการ!

                                                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ใช้อำนาจในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบก  “ประกาศยึดอำนาจ” ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยลง ชั่วคราว

นอกจากความวุ่นวายทางการเมืองที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และบริหารบ้านเมืองต่อไปได้แล้ว

การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ ในประกาศ คสช.ฉบับแรก หลังยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

ได้มีการจัดตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้บุคคลที่ คสช.เลือกสรร  ร่วมกันพิจารณาเสนอการปฏิรูปแต่ละด้านตามที่กำหนดไว้  และอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการ

แต่ในวันที่ 21 ก.ค.57 พลเอกประยุทธ์ก็ได้ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 115/2557 ปฏิรูปกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องที่ว่าด้วยการสอบสวนสำคัญมาตราหนึ่ง คือ 145/1

จากเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง สามารถทำความเห็นแย้งเสนอให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องได้

แก้ให้เป็นอำนาจของ ผบช.ตำรวจทุกภาคแทน!

การแก้ไข ประมวลกฎหมาย” ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมของประเทศดังกล่าว ไม่มีใครทราบเหตุผลและที่มาว่า การปฏิบัติในการพิจารณาคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบอยู่ มีปัญหาที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือเป็นจุดอ่อนของความยุติธรรมอย่างไร?

นอกจากความต้องการของตำรวจผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่ง?

และเหตุใดต้องถึงขนาดที่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ต้องออกประกาศเปลี่ยนแปลงอย่าง ฉับพลัน โดยไม่ได้มีการประชุมหรือหารือกันกับหลายฝ่ายแม้แต่กระทรวงมหาดไทยว่า เปลี่ยนแปลงเป็นเช่นนั้นแล้วจะมีปัญหาอะไรทั้งในเรื่องของงานรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดบ้างหรือไม่?

ตอนออกประกาศดังกล่าวใหม่ๆ ตำรวจชั้นนายพลจำนวนมากซึ่งนั่งนอนอยู่ที่ตำรวจภาคต่างพากันดีใจกันใหญ่!

เนื่องจากจะทำให้กองบัญชาการตำรวจภาคที่ในอดีตเมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมามีฐานะเป็นเพียง กองบังคับการเขต 1-9

หัวหน้าหน่วยยศพลตำรวจตรีเรียกว่าผู้บังคับการ มีตำรวจฝ่ายต่างๆ ทำงานอยู่ไม่ถึง 50 คน แต่ต่อมาได้มีการยกระดับเป็นกองบัญชาการ หัวหน้าหน่วยมียศถึง พลตำรวจโท และรองฯ ยศพลตำรวจตรีอีก 6-7 คน มีตำรวจระดับ ผบก. ผกก. และตำแหน่งต่างๆ รองลงมาอีกรวมถึง 300-400 คน

จะได้มี งานสอบสวนที่มีความผูกพันทางกฎหมายทำ เป็นชิ้นเป็นอัน กันเสียที!

สภาพที่เป็นเสมือน ส่วนเกินในระบบตำรวจ โดยเฉพาะในงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจภาคเช่นนี้  ทำให้นายพลตำรวจหลายคนได้พยายามเขียนโครงการต่างๆ ที่ไม่ได้มีประโยชน์หรือคุ้มค่าอะไร ซึ่งทำให้หัวหน้าสถานีต้องเป็นภาระในการเรี่ยไรหาเงินจากนายบ่อนและสถานบันเทิงผิดกฎหมายเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการของตำรวจภาคสารพัดเหล่านี้กันตลอดเวลา

เป็นที่เอือมระอาของตำรวจชั้นผู้น้อยรวมทั้งนายบ่อนผู้ประกอบการสถานบันเทิง แม้กระทั่งพ่อค้าและประชาชนผู้จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง!

เมื่อได้มีประกาศ คสช.ที่ 115/57 ดังกล่าวออกมา   สำนวนคดีที่อัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง กองบังคับการตำรวจทุกจังหวัดก็ต้องรวบรวมจากทุกสถานีในพื้นที่ ใส่รถตู้ขนไปส่งให้ ผบช.ตำรวจภาคพิจารณาแทนผู้ว่าราชการจังหวัดที่นั่งอยู่ศาลากลางไม่ไกล ซึ่งแต่ก่อนสามารถถือสำนวนเดินไปส่งได้และรับกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว

บางจังหวัด ตร.ภาคอยู่ห่างไกลไปหลายร้อยกิโลเมตร ก็ต้องมอบหมายให้ตำรวจหลายคนขับรถ ขึ้นเขาลงห้วย หลายชั่วโมง ขนสำนวนไปส่งให้พร้อมรอรับกลับไปในทุกสัปดาห์!             

บางภาคมีจำนวนหลายพันสำนวนในแต่ละเดือน

เนื่องจากคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องได้รวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ คดีที่อัยการไม่อุทธรณ์หรือฎีกา รวมทั้งขอถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์หรือถอนฎีกา ผบช.ตำรวจภาคก็ต้องนำมาพิจารณาด้วยทั้งหมด

ทำไปทำมาชัก ไม่สนุก

เนื่องจาก ผบช.ตำรวจภาค และรองฯ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้มีความรู้ทางกฎหมายและการสอบสวนอย่างถ่องแท้แต่อย่างใด?

การที่จะให้ไปเขียนความเห็นแย้งคำสั่งอัยการจังหวัดที่ถือว่าเป็นผู้มีความรู้และความชำนาญทางกฎหมาย รวมทั้งการนำคดีไปฟ้องศาล โดยเมื่อได้ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า คดีไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการฟ้องให้ศาลพิพากษาลงโทษได้ จึงสั่งไม่ฟ้อง

ผบช.ตำรวจภาคจะเขียนอย่างไร เพื่อ ให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องตามที่เสนอได้!

รวมทั้ง ผบช.และ รอง ผบช.แต่ละคนไม่อยากเสียเวลาสายตามานั่งอ่านเอกสารซึ่งมีอยู่มากมาย จึงได้มอบหมายให้ตำรวจผู้มีปริญญาทางกฎหมายมานั่งเขียนและเสนอให้ลงชื่อแทน

โดยอาจกล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเขียนความเห็นแย้งอัยการจังหวัดได้แต่อย่างใด 

หรือแม้กระทั่งหลายคนพยายาม ตะแบงแย้ง ไป

อัยการสูงสุดก็ไม่ได้สั่งตามความเห็นของ ผบช.ตำรวจภาคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน 

หลายแห่ง แม้เขียนแย้งไม่ได้ ก็ยังใช้วิธีเสนอให้อัยการสูงสุด สั่งสอบเพิ่มเติม แทน เพื่อให้ปรากฏสถิติคดีรายงานต่อผู้บังคับบัญชาอ้างว่าเป็นผลงานการแย้งอยู่จำนวนหนึ่ง

ซึ่ง ตามกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้กระทำเช่นนั้นได้ 

เนื่องจาก ป.วิ อาญา มาตรา 145/1 บัญญัติไว้ว่า  “…………ในกรณีที่ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการฯ แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นนั้นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด”

ถ้าไม่แย้ง ก็ไม่ต้องส่ง คดีจะได้สิ้นสุดไปอย่างรวดเร็ว  ลดความเดือดร้อนของผู้ต้องหาที่ไม่รู้ว่าจะต้องรอคำสั่งชี้ขาดของอัยการสูงสุดอีกนานเท่าใด?

เป็นช่องทางให้เกิดการจ่าย ค่าไม่แย้ง กันอีกด้วย!

และเมื่อในเวลาต่อมา หัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 7/2559 ให้ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนลงทั้งประเทศ  และตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ยศ พ.ต.อ. ที่อยู่ประจำสถานีต่างๆ รวมประมาณ 800 คน เป็นตำแหน่งประจำตำรวจภาคทั้งหมด

ทำให้ พงส.ยศ พ.ต.อ. 800 คน เหล่านี้ กลายเป็น ตำรวจว่างงาน ขึ้นมาทันที

ห้องทำงานและโต๊ะ เก้าอี้ ที่ตำรวจภาค ก็ไม่มีให้นั่ง

กลายเป็นตำรวจที่ ไร้อนาคต หนักกว่าเดิมขึ้นไปอีก

ซึ่งในเวลาต่อมา ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการส่งตัวกลับไปให้แต่ละ บก.รับผิดชอบดูแลมอบหมายงานให้ทำงานเบ็ดเตล็ดต่างๆ แทน!

บางส่วนก็เหลือไว้ที่ ตร.ภาค ก็ให้มีหน้าที่เขียนสำนวนแย้งอัยการตั้งแท่นให้รองผู้บัญชาการแต่ละคนลงชื่อเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง

การตั้ง บก.สอบสวน ก็อ้างว่าเพื่อให้ตำรวจที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ผกก.สอบสวนเหล่านี้ ได้มีความเจริญก้าวหน้า  ได้เลื่อนเป็น รอง ผบก. หรือแม้กระทั่ง ผบก.ติดยศนายพลตำรวจตรี?

แต่แท้จริงคนที่รออยู่แล้วก็คือ ตำรวจที่เรียกกันว่า ผู้ไม่มีความรู้ความสามารถ แต่ได้เลื่อนตำแหน่งเนื่องจากอยู่ในกลุ่ม อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเป็นตำรวจที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณและว่างงานมานานไม่แพ้กัน!

คือ ผบก.ประจำตำรวจภาค

 แต่ละคนจะมีคุณวุฒิทางกฎหมายและความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับงานสอบสวนหรือไม่ ไม่สำคัญ 

จะถูกตัดโอนอัตรามาเป็น ผบก.สอบสวนตำรวจภาค ควบคุมงานเขียนความเห็นแย้งส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง สั่งให้อุทธรณ์ หรือฎีกา!.

ตั้งบก.สอบสวน

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 3 ก.พ. 2563