ฟ้าผ่าสตช.เด้ง’วิระชัย’ไปตบยุงสำนักนายกฯ’ชัยวัฒน์’เข้ากรุศปก.ตร.นายกฯออกคำสั่งกำชับ’โจ๊ก’รักษาวินัยขรก.ห้ามประพฤติชั่วร้ายแรง

ฟ้าผ่าสตช.เด้ง’วิระชัย’ไปตบยุงสำนักนายกฯ’ชัยวัฒน์’เข้ากรุศปก.ตร.นายกฯออกคำสั่งกำชับ’โจ๊ก’รักษาวินัยขรก.ห้ามประพฤติชั่วร้ายแรง

จักรทิพย์ ชัยจินดา
จักรทิพย์ ชัยจินดา

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2563 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เนื้อหาระบุว่า ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มีพฤติการณ์และการกระทำซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยการยุติธรรม กระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการปฏิบัติราชการของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 24/2563 ลงวันที่ 21 มกราคม 2563 แล้ว

เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและเรื่องอื่นๆ ในมูลกรณีที่ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างตรวจสอบให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ และเพื่อให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและผู้ร้องเรียน สมควรพิจารณาสั่งการให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิม ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประการอื่น

ขณะที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 28/2563 เรื่อง ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการ ระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และข้อ 8(1) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552

จึงให้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ต่อมาพล.ต.อ.จักรทิพย์ มีคำสั่งที่ 29/2563 เรื่องกำหนดลักษณะงานและมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รองจเรตำรวจ และผู้บัญชาการประจำ ระบุว่า ตามที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2563 ลงวันที่ 23 ม.ค.2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 28/2563 ลงวันที่ 23 ม.ค. ให้พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม

ทั้งนี้ มีคำสั่งยกเลิกการมอบหมายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบกำกับดูแลรวมทั้งสั่งและปฏิบัติราชการ ในส่วนงานที่อยู่ในงานด้านกฎหมายและคดี งานด้านปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนรับผิดชอบของ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. และยกเลิกงานด้านสืบสวนสอบสวน ในส่วนของ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร.

ท้ายคำสั่งยังระบุว่า มีคำสั่งมอบหมายให้ พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและคดี และงานปราบปรามด้านละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบส่วนงานด้านสืบสวนสอบสวน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนเแปลง

ด้านพล.ต.อ.จักรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งโยกย้าย พล.ต.อ.วิระชัยและ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ว่าไม่ได้หนักใจในการเซ็นคำสั่งโยกย้ายดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกรณีของ พล.ต.อ.วิระชัยนั้น ตนได้เสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการพิจารณากรณีดังกล่าว จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการมีเอกภาพในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรอง ผบ.ตร.ดังกล่าว หากดำรงตำแหน่งเกรงว่าจะมีอุปสรรคปัญหา

เมื่อถามว่าสาเหตุในการเด้ง พล.ต.อ.วิระชัยคือคลิปเสียงที่มีการสนทนาระหว่างผู้ใหญ่ 2 ท่านคุยกันใช่หรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวสั้นๆ ว่า ใช่ ส่วนการโยกย้าย พล.ต.อ.ชัยวัฒน์นั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวเพียงว่า เพื่อความเหมาะสม

มีรายงานว่า คลิปเสียงที่ถูกนำมาเผยแพร่ทางโซเชียล ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขณะไปปฏิบัติราชการอยู่ที่ต่างประเทศ กับ พล.ต.อ.วิระชัย ซึ่งรักษาราชการแทน ผบ.ตร. โดยเนื้อหาเกี่ยวกับการทำคดีคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ยี่ห้อเล็กซัส สีขาว หมายเลขทะเบียน 9 กจ 351 กทม. ของบิ๊กโจ๊ก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) และอดีต ผบช.สตม. ฝั่งประตูรถมุมล่างด้านซ้าย บริเวณลานจอดรถหน้าร้านนวดแผนโบราณแห่งหนึ่ง ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กทม. เมื่อเวลา 21.40 น. วันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา

ส่วน พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 36 รุ่นเดียวกับ ผบ.ตร. รวมทั้งเพิ่งร่วมกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์คลี่คลายคดีนายประสิทธิชัย เขาแก้ว ผอ.โรงเรียนวัดโพธิ์ชัย ผู้ต้องหาก่อเหตุชิงทองที่ จ.ลพบุรี โดยมีข่าวระบุว่า การโยกย้าย พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ อาจจะเกี่ยวข้องกับกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่บริเวณบ้านโคกมะยม ต.คานหาม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าพบตู้ม้า 5 ตู้ พร้อมทั้งระบุว่าเจ้าของตู้ม้าได้รับสัมปทานจากคนมีสีชื่อ “นายช้าง” นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ปราบปรามน้ำมันเถื่อนด้วย

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในหนังสือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563 เรื่อง ให้ข้าราชการรักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ เนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย.2562 สั่งให้ พล.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ขาดจากการเป็นข้าราชการตำรวจ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมาตรการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับเฉพาะเงินเดือน โดยไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ประจำตำแหน่งนั้น

เพื่อให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ และเพื่อให้การปฏิบัติงานของข้าราชการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจตามข้อ 1(1) ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค.2562 มาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว 12 ลงวันที่ 21 ส.ค.2556 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง จึงเห็นสมควรกำชับให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุดังต่อไปนี้ 1.ไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่ราชการโดยทุจริต ไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ไม่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ไม่กระทำการอันเป็นการกลั่นแกล้ง กดขี่ ข่มเหงกันในการปฏิบัติราชการ ไม่ดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชน   2.ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ของทางราชการ ด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ รักษาความลับของทางราชการ มีความสุภาพ เรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติราชการ

ทั้งนี้ ให้ข้าราชการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ให้งดการมอบหมายงานพิเศษและสำคัญ และหากมีกรณีไม่รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 24 ม.ค.2563