สป.ยธ.ยื่นประธานอนุกมธ.ยุติธรรมคัดค้านร่างพรบ.สอบสวนชี้รวบอำนาจไว้กับตร.ทั้งหมดจี้แก้ไขป.วิอาญาให้อัยการตรวจสอบการสอบสวน บันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐาน

สป.ยธ.ยื่นประธานอนุกมธ.ยุติธรรมคัดค้านร่างพรบ.สอบสวนชี้รวบอำนาจไว้กับตร.ทั้งหมดจี้แก้ไขป.วิอาญาให้อัยการตรวจสอบการสอบสวน บันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐาน

ที่รัฐสภา เกียกกาย วันที่  ๒๓  มกราคม  ๒๕๖๓ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)โดยนางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการสป.ยธ.เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสิระ  เจนจาคะ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง  ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา และขอให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการสอบสวนให้เป็นมาตรฐานสากล

สำหรับเนื้อหาหนังสือระบุว่า ด้วยปัจจุบัน สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. มีความเห็นว่า ระบบงานสอบสวนคดีอาญาของไทย มีปัญหาสร้างความเดือดร้อน และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนดังที่ปรากฎตามสื่อต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนยากจนหรือไร้อำนาจ  ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ตำรวจไม่รับคำร้องทุกข์ (ไม่ออกเลขคดี) ให้การดำเนินงานสอบสวนเป็นตามกฎหมาย  การไม่สนใจในการสืบสอบหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิด  หรือแม้กระทั่งมี  “การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน”  เพื่อล้มคดี  ช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ได้รับโทษอาญา   หรือสร้างพยานหลักฐานเท็จยัดข้อหาประชาชน ฯลฯ

สป.ยธ. พิจารณาว่าพฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผลมาจากปัญหาอำนาจสอบสวนความผิดทางอาญาทุกเรื่องนั้น ได้ถูกผูกขาดไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงหน่วยเดียว  ซ้ำขาดการตรวจสอบจากภายนอกโดยเฉพาะพนักงานอัยการตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง  สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการสอบสวนแบบล้มคดี หรือ การยัดข้อหาประชาชน เป็นไปได้ง่าย

การที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนายมีชัย  ฤชุพันธ์  เป็นประธาน  ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาขึ้นมาเตรียมเสนอต่อ ฯ พณ ฯ นายกรัฐมนตรี   โดยหวังว่าจะเป็นการแก้ปัญหาและปฏิรูประบบการสอบสวนนั้น  สป.ยธ. ขอแสดงความกังวลว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะกลับกลายเป็นการรวบรวมอำนาจและทำให้งานสอบสวนถูกผูกขาดไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งหมด รวมทั้งสามารถสอบสวนทำลายพยานหลักฐานได้ง่าย  ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมยิ่งกว่าเดิม  เช่น เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองพบพยานหลักฐานการกระทำผิดอะไร  ก็มีหน้าที่ต้องส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ  ทั้งที่ ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนจังหวัดและอำเภอตามกฎหมาย มีอำนาจตรวจสอบและเข้าควบคุมการสอบสวนคดีที่มีผู้ร้องขอความเป็นธรรมตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว

นอกจากนั้น  การที่กำหนดให้ผู้บังคับการสอบสวนประจำจังหวัดมีอำนาจทำความเห็นแย้งพนักงานอัยการจังหวัดกรณีที่สั่งไม่ฟ้อง  ไม่อุทธรณ์ หรือฏีกานั้น  ทำให้กลายเป็นว่า  ตำรวจซึ่งมีทั้งอำนาจกล่าวหาจับกุมและสอบสวน  มีอำนาจเหนืออัยการจังหวัดซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและรู้เห็นพยานหลักฐานรวมทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีมากกว่าผู้บังคับการสอบสวน  ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความยุติธรรมและประชาชนอย่างร้ายแรงยิ่ง

สป.ยธ. ขอเสนอว่า ปัญหาความล้าหลังของระบบงานสอบสวนของไทย  จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปให้มีมาตรฐานสากลโดยเร็ว  ด้วยการเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องที่เกี่ยวกับการตรวจค้น การจับกุมและสอบสวนอย่างเร่งด่วน  โดยไม่จำเป็นต้องร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสอบสวนขึ้นใหม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนและเกิดความสับสนต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติเพิ่มขึ้น  ในประเด็นที่สำคัญดังนี้

๑.            ในการตรวจค้นและจับบุคคลไม่ว่าจะเป็นกระทำผิดซึ่งหน้า หรือจับตามหมายจับ  ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานไว้ทุกครั้ง  เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถกระทำได้  ก็ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ให้ชัดเจน

๒.            กระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมายใด  ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย  โดยไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจหน่วยต่างๆ ที่จะดำเนินการสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ของตน

๓.            การออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหา หรือเสนอศาลออกหมายจับ  ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการในการตรวจพยานหลักฐานและแน่ใจว่า  เมื่อจับตัวมาแล้ว  จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น

๔.            กรณีที่มีคนถูกฆ่าตาย ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รายงานให้พนักงานอัยการ และนายอำเภอทราบเพื่อเข้าร่วมชัณสูตรพลิกศพและตรวจที่เกิดขึ้นทุกคดี

๕.            คดีที่มีโทษจำคุกห้าปีขึ้นไป  ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รายงานให้พนักงานทราบเพื่อตรวจสอบการสอบสวน และหากพนักงานอัยการสั่งการเป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวนไว้อย่างไร  ให้มีหน้าที่ปฏิบัติตามนั้น

๖.            คดีที่มีผู้ร้องเรียนว่า พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์ หรือไม่รับคำกล่าวโทษ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวน  ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนและบันทึกสั่งเป็นหลักฐานให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายให้ครบถ้วน

๗.            การสอบปากคำบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ พยาน หรือผู้ต้องหา  ให้มีการบันทึกภาพและเสียงไว้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และได้โปรดกรุณานำความข้างต้นเข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการกระบวนการยุติธรรมเพื่อมีมติเสนอให้คณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนพิจารณาดำเนินการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้ง ๗ ประเด็นดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตราเป็นกฎหมายอันเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของชาติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่อไปผลการดำเนินการเป็นประการใด  ขอได้โปรดแจ้งให้ สป.ยธ. ทราบตามที่อยู่ข้างท้ายนี้  เพื่อจักได้แจ้งให้นำเสนอสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน ได้ทราบความคืบหน้าของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป